วันอาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2557

พระสมเด็จพิมพ์พิเศษ

พระองค์นี้เป็นพิมพ์พิเศษขนาดใหญ่กว่าพระสมเด็จทั่วไป คือมีขนาด 3.3 x 6 ซ.ม.เป็นงานช่างหลวง กดพิมพ์ในวัง (อาจเป็นฝีพระหัตถ์ เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ก็เป็นได้ซึ่งหาชมยาก) การที่ว่ากดพิมพ์ในวังเพราะพระที่สร้างในวังนั้น จะมีเนื้อที่ละเอียด เพราะมีเครื่องบดมวลสาร บางตำราว่าพระในวังนั้นจะใช้เครื่องบดยาขนาดใหญ่บดมวลสารจึงได้เนื้อที่ละเอียด และขอบข้างจะใช้ของมีคมตัดเสมอ ดูเรียบร้อยสวยงาม พระองค์นี้ด้านบนเป็นรูปพระพุทธมีพระโมคคัลลาน์-สารีบุตรอยู่ซ้าย-ขวา ส่วนด้านล่างเป็นรูปท่านสมเด็จโต มีแจกันดอกไม้บูชา อยู่ซ้าย-ขวา ส่วนเนื้อเป็นเนื้อแก่ปูนสุกผิวเป็นมัน ดูหนึกแกร่งสวยงามมาก พระเหล่านี้สร้างจำนวนไม่มากนัก ต่างจากพระยุคปลายที่สร้างครั้งละจำนวนมาก ใครเจอที่ไหนให้รีบเก็บไว้ไม่ผิดหวังแน่ (มีคุณค่ามากแต่ไม่ได้ราคาเหมือนพิมพ์นิยมนะครับ ต้องเข้าใจตรงนี้ด้วย)




พระกริ่งสวนเต่าที่รัชกาลที่ ๕


พระกริ่งสวนเต่า เป็นพระที่รัชกาลที่ ๕ ท่านสร้างเพื่อพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพารใกล้ชิด โดยจัดพระราชพิธีเทหล่อ ณ บริเวณสวนเต่า ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ประมาณปี พ.ศ.๒๔๕๑ ผู้เขียนไม่สันทัดเรื่องพระกริ่งสวนเต่า แต่มีอยู่เห็นผิวโลหะเป็นสัมฤทธิ์เก่าดี จึงนำมาให้ชมกันอย่ายึดติดนะครับ
เพราะพระองค์นี้ผู้เขียนก็ไม่มั่นใจ คิดว่าลงให้ดูเพลินๆแล้วกัน


วันศุกร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2557

พระกริ่งน้ำท่วมวัดสุทัศน์ฯ เนื้อแดงปี ๒๔๘๕

พระกริ่งน้ำท่วมนี้สร้างเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๕ ซี่งปีนั้นเกิดน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ การทำพิธีหล่อพระในวันนั้นน้ำก็กำลังท่วมอยู่ จึงเรียกพระกริ่งชุดนี้ว่า "พระกริ่งน้ำท่วม" การหล่อพระในวันนั้นได้ทำ ๒ ช่วง คือช่วงเช้าท่านเจ้าคุณศรี (สนธ์)ได้จัดพิธีเททองหล่อ พระช่วงเช้านี้เนื้อจะออกเหลือง หล่อได้ ๘๐๐ องค์ ส่วนช่วงบ่ายเนื้อที่หล่อจะออกสีแดง หล่อได้ ๕๐๐ องค์รวมหล่อได้ทั้งหมด ๑,๓๐๐ องค์ ส่วนโค๊ตนั้นมีทั้งตอกและไม่ตอก ลักษณะโค๊ตจะเป็นวงลีมีใส้ในคล้ายไข่มด อยู่ด้านหลังซอกแขนด้านขวาและตรงฐานด้านหลังใกล้ๆกันเป็น ๒ โค๊ต บางองค์ก็ตอกโค๊ตเดียว สรุปว่าพระรุ่นนี้มี ๒ เนื้อ โค๊ตมีแบบ ๑ โค๊ต ๒ โค๊ต และไม่ได้ตอกโค๊ต




วันพฤหัสบดีที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2557

พระสมเด็จพิมพ์รูปเจดีย์

พระองค์นี้เป็นพระยุคต้น เนื้อข้าวสุกผสมผง คำว่า"พระยุคต้น"นั้นหมายถึงพระที่ท่านสมเด็จโตสร้างไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๕๒-๒๓๖๗ คือนับตั้งแต่รัชกาลที่๒ ขึ้นครองราช ปีพ.ศ.๒๓๕๒ ตอนนั้นท่านอายุ ๒๑ ปี จนสิ้นยุครัชกาลที่๒ คือปี พ.ศ.๒๓๖๗ เป็นเวลา ๑๕ ปี ส่วนยุคกลางนับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๖๗-๒๓๙๔ คือในยุคสมัยรัชกาลที่๓ เป็นเวลา ๒๗ ปี ส่วนยุคปลายนับจากปีพ.ศ. ๒๓๙๔-๒๔๑๕ คือในสมัยรัชกาลที่๔ ถึงต้นรัชกาลที่๕ ท่านมรณะภาพปี พ.ศ.๒๔๑๕ ส่วนพระพิมพ์นิยมในปัจจุบันจะนับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๐๗-๒๔๑๕ เพราะปีพ.ศ.๒๔๐๗เป็นปีที่ท่านได้เป็นสมเด็จ และหลวง"วิจาร เจียรนัย" เริ่มแกะแม่พิมพ์ให้และได้แนะนำให้ผสมน้ำมันตั้งอิ้วลงไปในเนื้อพระ เพื่อให้พระมีความคงทนมากขึ้นในปีนี้ด้วย.




วันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2557

พระสมเด็จ พิมพ์พระเจ้าสิบชาติ

ช่วงนี้อยากให้ดูพระพิมพ์พิเศษกันบ้าง เพราะเป็นพระที่สมเด็จโตท่านได้สร้างไว้เช่นกัน สำหรับผู้ที่ต้องการพระที่ท่านสร้างโดยไม่กำหนดพิมพ์เมื่อเจอจะได้เก็บไว้บูชา พระนอกพิมพ์เหล่านี้มีจำนวนมากแต่คนทั่วไป ส่วนใหญ่แล้วไม่ทราบก็จะตามเก็บสะสมแต่พิมพ์นิยมที่รู้จักกัน มีคนบางกลุ่มจะแขวนบูชาพระเหล่านี้ เพราะโอกาสปลอมน้อยมากก็เลยอยากนำพระเหล่านี้มาให้ชมกัน
พระพิมพ์พระเจ้าสิบชาตินี้ เท่าที่ผู้เขียนได้พบก็มีอยู่หลายแม่พิมพ์ พระองค์นี้เป็นพระยุคกลางเนื้อผงผสมข้าวสุก.




วันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2557

พระสมเด็จพิมพ์พิเศษ

พระสมเด็จเนื้อผงพิมพ์ฐานชั้นเดียว หรือพิมพ์พิเศษนี้ท่านสร้างไว้ประมาณปี พ.ศ.๒๔๐๙ เป็นงานฝีมือช่างหลวงแกะพิมพ์ ช่างที่แกะพิมพ์ท่านนี้ได้แกะแม่พิมพ์ไว้หลายแบบ และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเมื่อเจอก็จะทราบว่าเป็นฝีมือการแกะแม่พิมพ์ของท่านนี้ ส่วนเนื้อเป็นเนื้อผงผสมข้าวสุกและปูนเปลือกหอย สภาพสมบูรณ์



พระสมเด็จวัดระฆัง ยุคต้น

พระสมเด็จวัดระฆัง ยุคต้นพิมพ์เกศฟักดาบ พระองค์นี้เป็นพระเนื้อข้าวสุกผสมผง โดยใช้ข้าวสุกนำมาตำจนเหนียวแล้วนำมวลสารหลักต่างๆผสมลงไปให้เข้ากันใช้น้ำอ้อยเคี่ยวเป็นตัวประสาน พระยุคต้นส่วนใหญ่เท่าที่เจอจะเป็นเนื้อผงผสมข้าวสุก




พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์เส้นด้ายฐานหน้ากระดาน

พระองค์นี้เป็นพระยุคกลาง พิมพ์เส้นด้ายเกศทะลุซุ้ม ปกติพระพิมพ์นี้จะมีเส้นฐานล่างสุดคู่สองเส้น แต่ถ้ามีเส้นเดียวและหนาคนโบราณเรียก "พิมพ์เส้นด้ายฐานหน้ากระดาน" ปัจจุบันเรียก "พิมพ์เส้นด้ายใหญ่" พระองค์นี้เป็นพระเนื้อกรองละเอียด พระเนื้อนี้เท่าที่พบมักมีคราบตะไคร่เขียวผสมอยู่เสมอ






พระยุคต้นและพระยุคกลางจะมีมวลสารหลากหลายกว่าพระยุคปลาย พระองค์นี้ถือเป็นพระเนื้อจัด

วันอาทิตย์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2557

พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์สิบสองนักกษัตร

พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์สิบสองนักกษัตรองค์นี้เป็นพระยุคปลายฝีมือช่างหลวงแกะพิมพ์ เนื้อใช้แป้งข้าวเหนียวแทนผงปูนเปลือกหอย เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการทำพระ เพราะท่านชราภาพมากแล้ว พระชุดนี้พบมากที่กรุบนเพดานวิหารวัดระฆัง ประมาณปี พ.ศ.๒๕๑๕ เป็นปีที่ครบ ๑๐๐ ปีที่ท่านสมเด็จโตมรณะภาพพอดี แต่เป็นที่ทราบกันวงในไม่เป็นที่เปิดเผย ข้อมูลจากหนังสือ "ภาพ-ประวัติ พระสมเด็จโต" เขียนโดย "พ.ต.ต.จำลอง มัลลิกะนาวิน" ปีพ.ศ.๒๕๑๗ ครั้งแรกผู้เขียนก็ไม่เชื่อว่ามีเนื้อแป้งข้าวเหนียวจริง จนพบพระองค์นี้ซึ่งโดนล้างชาดมาก่อน เมื่อผู้เขียนนำมาแช่น้ำอุ่นเพื่อทำความสะอาดพอนำพู่กันปัดผิว ปรากฏว่าผิวละลายออกจึงรู้ว่าเป็นเนื้อแป้งข้าวเหนียวตามที่  "พ.ต.ต.จำลอง มัลลิกะนาวิน" เขียนไว้มีอยู่จริง ที่กรุเพดานวิหารนี้มีพระมากมายหลายพิมพ์และหลายขนาด.




วันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2557