วันศุกร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2560

พระสมเด็จพิมพ์พิเศษ

เดิมทีพระพิมพ์นี้สมัยท่านสมเด็จโตจะเรียกพระพิมพ์นี้ว่า "พิมพ์เจดีย์" ต่อมาในยุคของท่านจอมพลถนอม ได้สร้างล้อพระพิมพ์นี้ขึ้นและเป็นที่นิยมของคนยุคนั้น รวมทั้งท่านจอมพลถนอมได้แขวนพระพิมพ์เจดีย์นี้ด้วย คนยุคหลังเลยเรียกพระพิมพ์นี้ว่า "พิมพ์ยอดขุนพล" มาจนทุกวันนี้



๒๒ มิถุนายน วันมรณภาพท่านสมเด็จโต

๒๒ มิถุนายน วันมรณภาพท่านสมเด็จโต ในวันพรุ่งนี้จะครบรอบ ๑๔๕ ปี ที่ท่านสิ้น หลวงปู่คำเล่าว่า ท่านโตได้เขียนวันตาย (มรณ) ไว้ตรงที่ข้างฝาห้องของท่าน โดยเอากรอบรูปใหญ่ปิดเอาไว้ มีใจความว่า ฉันต้องลาญาติโยมไปตามกฏแห่งกรรม ทุกๆ คนก็ต้องเป็นอย่างนี้ "ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น" และทุกๆคนต้องพบกับมันเข้าในวันใดวันหนึ่ง ฉะนั้นฉันจะขอลาญาติโยมที่ให้ความอุปการะฉันมาตลอดชีวิตนี้ ฉันจะจากไปเวลาเที่ยงคืนของคืนวันศุกร์ ติดกับคืนวันเสาร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีวอก จ.ศ. ๑๒๓๔ นี้แน่นอน สื่งใดที่เป็นความดีฉันขอมอบให้โยมทุกๆ คน และขอให้ผลบุญจงรักษาญาติโยมทุก ๆ คนเทอญ นี่เป็นคำที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ที่ได้เขียนไว้ที่ข้างฝาห้องของท่าน โดยเอากรอบรูปใหญ่ปิดไว้เป็นเวลาหลายปี จนเณรช่วงได้เข้าไปทำความสะอาดห้องของท่านได้กวาดหยักใย่ไปโดนกรอบรูปตกลงมาจึงพบข้อความที่ท่านได้เขียนเอาไว้ ถึงวันมรณภาพของท่าน แต่เณรช่วงไม่กล้าเล่าให้ใครฟัง จนกระทั่งท่านโตได้มรณภาพแล้วจึงได้บอกให้พระปลัดมินศร์ฟัง ทีแรกไม่เชื่อเลยพาไปดูที่ห้องและเอากรอบรูปออกดู จึงรู้ความจริงว่าท่านโตได้เขียนไว้จริงเป็นลายมือของท่านเอง (หลวงปู่คำบันทึกว่าท่านมรณภาพที่วัดระฆัง ซึ่งน่าเชื่อถือเพราะท่านอยู่ในเหตุการณ์ และท่านได้บันทึกเหตุการณ์ของเช้าวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๔๑๕ ไว้ด้วย หลวงปู่คำเล่าว่าท่านสมเด็จฯโตได้บอกกับพระลูกวัดให้เตรียมตัวจัดงานใหญ่ครั้งสุดท้ายของท่าน เมื่อพระลูกวัดถามว่างานอะไร ท่านไม่ตอบ บอกเพียงว่า ถึงเวลาแล้วก็จะรู้เอง) พระราชทานเพลิงพระศพ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๘ ปีระกา จ.ศ. ๑๒๓๕ ตรงกับ วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๖ เวลา ๔ โมงเย็น หรือ ๑๖.๐๐ น. พระอัฐิป่นกลายเป็นผงขี้เถ้าหมด


ราหูอมจันทร์ หลวงพ่อน้อย วัดศีรษะทอง จ.นครปฐม ราหูอมจันทร์ของท่าน ส่วนใหญ่จะแกะจากกะลาตาเดียว เป็นทรงรูปเสมา มีหูในตัวและไม่มีหู ในรูปเสมาแกะสลักเป็นรูปราหูอมจันทร์ บริเวณขอบโดยรอบ แกะป็นรูปพญานาค ส่วนลายที่ใต้ราหูนั้นจะแตกต่างกันไป ช่างแกะฝีมือประณีต ส่วนด้านหลังลงเหล็กจาร เป็นอักขระขอมลาว ที่อ่านได้คือ นะ๑๒ โม๒๑ ด้านล่างมีจารตัวพุทธ ใต้ตัวพุทธมีจาร ฤๅ หัวเข้า แต่ถ้าเป็นตัว ฤๅ หัวออกและมีจารใบพัดจะเป็นของหลวงพ่อปิ่นลูกศิษย์ของท่าน อักขระการจารของหลวงพ่อน้อย จะจารตามฤกษ์ในขณะที่เกิดสุริยคราสและ จันทรคราส แล้วท่านจะนำราหูไปปลุกเสกอีกครั้งก่อนที่จะแจกให้แก่ลูกศิษย์ ราหูอมจันทร์หลวงพ่อน้อยเชื่อกันว่า มีพุทธคุณทางด้านป้องกันคุณไสย เสนียดจัญไร และคงกระพันชาตรี มีเมตตามหานิยมในตัว นอกจากราหูที่สร้างจากกะลาตาเดียวแล้ว ยังพบราหูเนื้อเงินและเนื้องา ที่ลงไว้นี้เป็นเนื้องา สำหรับวัดศีรษะทองเป็นวัดเก่าแก่ของอำเภอนครชัยศรี พื้นที่โดยรอบเป็นชาวลาวเวียงจันทน์ที่อพยพมา ตั้งหลักแหล่งตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ เจ้าอาวาสรูปแรก คือ หลวงพ่อไตร เป็นชาวลาวเวียงจันทน์ ท่านเป็นผู้เริ่มสร้างราหูอมจันทร์ของวัดศีรษะทองเป็นรูปแรก




วันอังคารที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2560

พระสมเด็จวัดระฆังเนื้อชินเงิน

พระองค์นี้เป็นพระวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่อกร่องเกศทะลุซุ้ม เนื้อชินเงิน ซึ่งเคยเล่าไว้แล้วว่าท่านสมด็จโตนั้น ท่านได้สร้างพระไว้หลากพิมพ์ หลายเนื้อมาก แต่ปัจจุบันจะรู้จักเล่นหากันเฉพาะเนื้อผงพิมพ์ของ หลวงวิจาร เจียรนัย เท่านั้น ผู้เขียนก็จะพยายามนำพระและพิมพ์ต่างๆมาให้ชมกัน ตามแต่โอกาส เพราะพระเหล่านี้คนส่วนใหญ่จะไม่รู้จัก และไม่ทราบรวมทั้งหาชมยาก หรือบางท่านอาจมีอยู่ในครอบครองแต่ไม่ทราบว่าใครสร้างก็จะได้ทราบ ส่วนพิมพ์นิยมนั้นสามารถหาดูได้ทั่วไป ส่วนเนื้อหาข้อมูลต่างๆนั้นก็ขอให้ดูและอ่านอย่างมีสติ ไม่จำเป็นต้องเชื่อทั้งหมด ผู้เขียนเพียงพยายามนำเสนอในสิ่งที่เจอ สิ่งที่ทราบมาเล่าสู่กันฟัง ให้เป็นอีกมุมมองหนึ่งตามประสาคนที่นับถือท่านสมเด็จโต และรักสะสมสิ่งที่ท่านสร้างไว้ด้วยศรัทธา (พระสมเด็จเนื้อชินเงินนี้ ที่พบเห็นมีทั้งปิดทองและไม่ปิดทอง)







พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์เส้นด้าย ช่วงที่ผ่านมาทางวงการพระบอกว่าพระพิมพ์เส้นด้ายมีฉะเพราะที่กรุวัดบางขุนพรหมเท่านั้น ของวัดระฆังไม่มี แต่ความเป็นจริงแล้วพระพิมพ์เส้นด้าย ได้สร้างที่วัดระฆังมาก่อนนานแล้ว และมีอยู่หลายแม่พิมพ์แต่ไม่เป็นที่นิยม ซึ่งหลวงปู่คำได้บันทึกไว้ว่า พระพิมพ์เส้นด้ายไม่นิยมทำกันเพราะแม่พิมพ์มีเส้นที่เล็ก เวลากดเนื้อลงไปในแม่พิมพ์เนื้อมักไปอุดในร่องพิมพ์ทำให้แม่พิมพ์ตัน จึงให้ต้องนำแม่พิมพ์ไปล้างบ่ายๆเลยซึ่งไม่สะดวกในการทำจึงไม่เป็นที่นิยม ด้วยสาเหตุนี้จึงทำให้พระพิมพ์เส้นด้ายของวัดระฆังมีจำนวนน้อย พวกพ่อค้ายุคก่อนหาไม่ได้เลยเหมารวมว่า พระพิมพ์เส้นด้ายของวัดระฆังไม่มี