วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2561

พระปิดตาหลวงปู่เอี่ยมวัดสะพานสูง

พระปิดตามหามงคลพิมพ์ตะพาบ ของหลวงปู่เอี่ยมวัดสะพานสูงองค์นี้มี สายสิญจน์พันมัดรอบองค์พระไม่แน่ใจว่าเขามีศัพย์เรียกพระลักษณะนี้หรือไม่ พระองค์นี้มีความสมบูรณ์มากเมื่อเจ้าของเดิมนำมาให้ดูคิดว่ารักใหม่ แต่พอส่องด้วยกล้องขยายถึงรู้ว่าเก่าจริงๆ เพราะรักมีความมันจริงแต่มีความแห้งในตัวและเหี่ยว บางส่วนก็หลุดกะเทาะออกไปบ้างรักก็เป็นรักจีน จึงขอเช่าบูชาเก็บไว้ เป็นพระที่สวยและสมบูรณ์มาก จะพูดถึงการลงรักของพระปิดตาหรือตะกรุดหลวงปู่เอี่ยมวัดสะพานสูง จากที่ศึกษาและสังเกตมาพระของท่านและพระในยุคท่านหรือก่อนท่านจะใช้รักจีน แม้แต่พระบูชาพระรัตนะที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ก็ใช้รักจีน ช่วงหลวงปู่เอี่ยมสร้างพระน่าจะเป็นช่วงปลายของการใช้รักจีนแล้ว ในสมัยร.4ท่านให้หยุดสั่งสินค้าจีนบางอย่างรวมทั้งรักจีนด้วย รักที่ตกค้างอยู่ก็คงใช้หมดไปต้น ร.5 (เป็นความเห็นส่วนตัว ร.5 ขึ้นครองราช พ.ศ.2411 ปีนั้นหลวงปู่เอี่ยมอายุ 53ปี ) เพราะหลังหลวงปู่เอี่ยมก็เห็นมีแต่รักดำหรือรักสมุกที่ใช้กัน รักที่สั่งมาจากประเทศจีนเรียกกันว่ารักไอ้มุ่ยมากจากเมืองเอ้มึ้ง รักจีนเป็นรักผสมผงชาด(ชาดจอแสมาจากเมืองจอแส) จึงออกสีแดง เมื่อทาทับหลายๆครั้งจะออกสีดำ ไม่มีการจุ่มรักเพราะรักจะไม่แห้งหรือแห้งยาก เหมือนน้ำมันตังอิ๊วที่เคยเล่า เขาจะทาทับทีละชั้น ในเนื้อรักจะมีผงชาดที่ไม่ละลายตัวผสมอยู่ ผู้ชำนาญการดูพระปิดตาปู่เอี่ยมแนะว่าให้ดูจุดแดงในพระปู่เอี่ยมเป็นหลัก แต่เขาคงไม่ทราบว่าจุดแดงนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไรแต่เป็นสิ่งที่เขาเจอเลยยึดถือเป็นหลักการดูไป สรุปว่าถ้าเราเข้าใจเรื่องของรักจีนรักไทย เข้าใจความเก่าของรัก เราก็จะดูพระยุคเก่าๆได้ไม่ยาก



วันเสาร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2561

พระกำแพงเม็ดขนุน เนื้อว่านหน้าทอง

พระกำแพงเม็ดขนุนหรือพระปางลีลาเม็ดขนุนองค์นี้เป็นพระเนื้อว่านหน้าทอง เมืองกำแพงเพชรในครั้งแรกของการจัดชุดเบญจภาคี พระเนื้อดินกำแพงเม็ดขนุนเป็น 1 ใน 5 ของชุดแต่ด้วยพระมีรูปทรงยาวแนวตั้ง เวลาเข้าชุดจึงดูไม่ลงตัว เลยมาเปลี่ยนเป็นพระซุ้มกอซึ่งเป็นพระกรุเดียวกัน คือกรุทุ่งเศรษฐี เมืองกำแพงเพชรปรากฏขึ้นในบริบททางประวัติศาสตร์ก่อน พ.ศ.1900 ภายหลังได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของกรุงศรีอยุธาในสมัยของพระบรมราชาธิราช (ขุนหลวงพระงั่ว) พระเครื่องเมืองกำแพงเพชร มีตำนานปรากฏชัดเจนเมื่อพบจารึกบนแผ่นลานเงินในกรุขณะรื้อพระเจดีย์องค์ใหญ่ของวัดพระบรมธาตุ เมืองนครชุม ขอคัดจารึกในแผ่นลานเงินมาให้อ่านบางส่วน "...ณ ตำบลเมืองพิษณุโลก เมืองกำแพงเพชร เมืองพิชัย เมืองพิจิตร เมืองสุพรรณ ว่ามีฤๅษี 11 ตน ฤๅษีเป็นใหญ่ 3 ตน ฤๅษีพิลาลัยตนหนึ่ง ฤๅษีตาไฟตนหนึ่ง ฤๅษีตาวัวตนหนึ่ง เป็นประธานแก่ฤๅษีทั้งหลาย จึงปรึกษากันว่า เราทั้งนี้จะเอาอันใดให้แก่พระศรีธรรมโศกราช ฤๅษีทั้ง 3 จึงปรึกษาแก่ฤๅษีทั้งปวงว่า เราจะทำด้วยฤทธิ์ ทำด้วยเครื่องประดิษฐานเงินทองไว้ฉะนี้ ฉลองพระองค์จึงทำเป็นเมฆพัตร อุทุมพร เป็นมฤตย์พิศม์ อายุวัฒนะ พระฤๅษีประดิษฐานไว้ในถ้ำเหวใหญ่น้อย เป็นอนุภาพแก่มนุษย์ทั้งหลาย สมณชีพราหมณาจารย์ไปถ้วน 5,000 พรรษา พระฤๅษีตนหนึ่งจึงว่าแก่ฤๅษีทั้งปวงว่า ท่านจงเอาว่านทั้งหลายอันมีฤทธิ์เอามาให้ได้ 1,000 เก็บเอาเกษรดอกไม้อันวิเศษที่มีกฤษณาเป็นอาทิให้ได้สัก 1,000 ครั้นเสร็จแล้วฤๅษีทั้งปวงจึงป่าวร้องเทวดาทั้งปวงให้มาช่วยบดยา ทำเป็นพระพิมพ์ไว้สถานหนึ่ง ทำเป็นเมฆพัตรสถานหนึ่ง ฤๅษีทั้ง 3 ตนนั้น จึงบังคับฤๅษีทั้งปวงให้เอาว่านทำเป็นผงปั้นเป็นก้อน ถ้าผู้ใดได้ถวายพระพรแล้ว จึงเอาไว้ใช้ตามอานุภาพเถิด ให้ระลึกถึงพระฤๅษีที่ทำไว้นั้นเถิด..." พระว่านหน้าทองหรือดุนทองที่พบจะมี 3 แบบคือทอง นาค และเงิน ที่พบโดยส่วนใหญ่จะบรรจุไว้ตามวัดหลวงเช่นกรุวัดบรมธาตุ และที่พบมากที่สุดคือกรุวัดพระแก้ว จังหวัดกำแพงเพชร ปัจจุบันจัดเป็นพระที่หาชมยาก



วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2561

พระพิมพ์ปรกโพธิ์เก้าองค์นี้ ท่านสมเด็จโตสร้างหลังพ.ศ.2407 คือหลังได้เป็นสมเด็จแล้ว ทราบได้เพราะ1,แม่พิมพ์เป็นฝีมือหลวงวิจารณ์เจียรนัย 2,ใช้น้ำมันตังอิ๊วเป็นตัวประสานเนื้อ หลวงวิจารณ์ได้รู้จักท่านสมเด็จโต หลังจากที่ท่านได้เป็นสมเด็จแล้วและได้เริ่มแกะแม่พิมพ์ให้ พร้อมกับแนะนำให้ใช้น้ำมันตังอิ๊วเป็นตัวประสานเนื้อพระ เพื่อการยึดเกาะของเนื้อพระดีขึ้นและคงทนขึ้น พระองค์นี้เป็นพระเก่าเก็บมาอย่างดี เป็นพระแก่น้ำมันตังอิ๊ว พระที่แก่น้ำมันตังอิ๊วจะไม่เกิดการหดตัวหรือม้วนตัวตามขอบ เพราะในเนื้อพระยังมีความชื้นอยู่ จึงไม่มีการหดตัว มีตำราบอกว่าหลวงปู่ ได้รับการแนะนำให้ใช้น้ำมันตังอิ๊วเป็นตัวประสาน เลยใช้ให้ลูกศิษย์นำเอาพระที่ทำเสร็จแล้ว ไปจุ่มน้ำมันตังอิ๊วอีกครั้งพระจึงดูฉ่ำแบบนี้ อันนี้คนเขียนมโนไปเอง เพราะน้ำมันตังอิ๊วคนจีนเขาใช้ผสมปูนและใช้ผสมสี แห้งช้ามากถ้าเอาพระไปจุ่มแล้วจะเอาไปผึ่งตากอย่างไร พระคงติดกับวัสดุที่ตาก (เขาบอกว่าใช้ผสมไม่ใช่จุ่ม) เมื่อไหร่จะแห้ง น้ำมันตังอิ๊วหรือฝรั่งเขาเรียกลินสีด (Linseed oil) ใช้ผสมสีน้ำมัน เวลาเขียนยังต้องมีน้ำยาอีกตัวเร่งช่วยให้สีแห้งเร็วขึ้น ไม่เช่นนั้นรอไปเถอะ! ถ้าผสมมากเป็นเดือนสียังไม่แห้งเลย นี่เป็นข้อมูลสมัยก่อนที่สื่ออยู่ในมือของคนกลุ่มเล็กๆ คนอ่านไม่รู้และไม่เข้าใจ ก็จำและก็สอนต่อๆกันมาแบบผิดๆ แต่มายุคนี้ข้อมูลเปิดคนยุคนี้จึงมีโอกาสได้รู้อะไรดีๆ และถูกต้องมากขึ้น นี่เป็นข้อมูลบางส่วนที่นำมาเล่า สรุปพระองค์นี้เป็นพระแก่น้ำมัน ไม่ใช่พระจุ่มน้ำมันตังอิ๊วนะครับ




วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2561

พระสมเด็จเนื้อดิน

ลงพระสมเด็จเนื้อดินให้ชมกันบ้าง ตามที่เคยบอกไว้ว่าท่านสมเด็จโต ท่านทำพระไว้หลายเนื้อหนึ่งในนั้นก็มีเนื้อดิน เนื้อดินท่านทำอยู่2วิธีคือ 1,นำผงพุทธคุณผสมมวลสารต่างๆลงในเนื้อดินเลยแล้วนำไปเผา 2,นำดินที่เตรียมไว้กดลงพิมพ์แล้วนำผงพุทธคุณโรยลงด้านหลังแล้วเอาดินปิดผนึกทับอีกชั้นแล้วจึงนำไปเผา พระที่ลงให้ชมวันนี้ทำแบบที่สองคือโรยผงพุทธคุณแล้วนำดินปิดทับอีกชั้น วิธีทำพระเนื้อดินหลวงปู่คำบันทึกไว้ดังนี้"ท่านจะใช้ดิน 9 อย่างมี ดินเจ็ดโป่ง ดินเจ็ดป่า ดินเจ็ดท่า ดินเจ็ดสระ ดินเจ็ดป่าช้า ดินเจ็ดเมือง ดินเจ็ดแม่น้ำ ดินจอมปลวกเจ็ดกอง ดินในวังหรือดินกำแพงวังก็ได เอาดินทั้ง 9 นี้มาแช่น้ำฝนให้ดินละลายรวมกันหมด นวดดินให้เข้ากัน เอาว่านนางคุ้ม ว่านนางล้อม ว่านมหาปราบ ว่านเพชฌฆาต ว่านทรหด เอาว่านทั้ง 5 มาตำให้ละเอียด ผสมกับดินทั้ง 9 จนเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วมากดพิมพ์" ขณะเผาไฟท่านจะซัดน้ำว่านลงไปจะเห็นเป็นจุดดำๆคล้ายรารัก ทำครั้งแรกที่วัดสะตือ ทำครั้งที่สองที่วัดพิตเพียน (วัดกุฏีทอง) ตอนสร้างพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่ พระเนื้อดินเป็นพระทางคงกระพันแคล้วคลาดและมีเมตตาดีนักแล พระที่ลงให้ชมวันนี้มีขนาดเล็กเท่าพระคะแนน ถ้าไปเจอพระสมเด็จเนื้อดินแล้วอยากรู้ว่าเป็นของท่านสมเด็จโตหรือไม่ ก็ให้ส่องหาดูผงพุทธคุณหรือคราบน้ำว่านจุดดำๆก็จะสรุปได้



พระสมเด็จวัดเกศเจ็ดชั้นยุคต้น

พระสมเด็จวัดเกศเจ็ดชั้นที่ลงวันนี้เป็นพระยุคต้น เนื้อดินผสมผงพระพิมพ์วัดเกศท่านทำอยู่หลายครั้งเท่าที่พบมีตั้งแต่ยุคต้นถึงยุคปลาย ความเก่าของเนื้อหรืออายุของเนื้อจะต่างกันและพระยุคต้นพิมพ์พระจะยังดูไม่ค่อยเรียบร้อยแต่เนื้อหาเก่าได้ใจ พระยุคต้นมักจะหนา พระพิมพ์วัดเกศนั้นหลวงปู่คำบันทึกไว้ว่ามีทั้งหมด 29 พิมพ์ พระพิมพ์ 5 ชั้นมี 9 พิมพ์ พระพิมพ์ 6 ชั้นมี 9 พิมพ์ พระพิมพ์ 7 ชั้นมี 9 พิมพ์ พระพิมพ์ 9 ชั้นมี 2 พิมพ์ แต่ละพิมพ์จะมี 3 ขนาดคือใหญ่กลางและเล็กยกเว้นพิมพ์ 9 ชั้น วันนี้ได้ลงพระพิมพ์ 9 ชั้นยุคต้นให้ชมอีกองค์ แต่องค์นี้จะพิเศษกว่าองค์อื่นคือเป็นเนื้อชันโรงใต้ดิน ชันโรงใต้ดินถือเป็นของทนสิทธิ์ ดีทางกันไฟ กันคุณไสยมนต์ดำและเป็นมหาอุดในตัว จึงนิยมนำมาอุดที่หลังเบี้ยแก้ และทำเครื่องรางต่างๆ



วันอังคารที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2561

พระสมเด็จสามยุค

วันนี้ตั้งใจจะเล่าเรื่องวัดเกศต่อ แต่เกิดไม่สบายเป็นไข้เลยต้องขอติดไว้ก่อน วันนี้ขอลงรูปพระสามยุคให้ดูแทนคือยุคต้น ยุคกลางและยุคปลาย(พิมพ์นิยม) แถมภาพพระสมเด็จวัดเกศนิดหน่อย




วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2561

พระสมเด็จวัดเกศไชโย 7 ชั้นทรงนิ้วมือ

มาชมพระยุคต้นพิมพ์เจ็ดชั้นทรงนิ้วมือ หรือที่ชาวบ้านเรียก"สมเด็จวัดเกศ" ในอดีตรุ่นคุณพ่อพวกเรายังเป็นที่ถกเถียงกันว่าเป็นพระที่ท่านสมเด็จโตสร้างหรือไม่ แต่ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับแบบสากลแล้วว่าเป็นพระที่ท่านสมเด็จโตสร้าง อันที่จริงพระพิมพ์อกร่องหูบายศรี ฐานหลายชั้นนี้เป็นพิมพ์แรกๆที่ท่านสร้างขอเรียกว่า"พิมพ์วัดเกศ" เพื่อเข้าใจง่าย พระพิมพ์นี้แกะแม่พิมพ์ครั้งแรกเป็นพิมพ์เจ็ดชั้น ช่างทำโบสถ์อ่างทองเป็นผู้แกะพิมพ์ถวาย ปี2356 ตอนนั้นท่านอายุ 24ย่าง25 ปี เป็นพระลูกวัดธรรมดา หลวงปู่คำบันทึกไว้ว่า "ท่านได้เริ่มทำพระวันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2356 ทำการปลุกเสกแล้วพระยังไม่ทันแห้งก็มีคนมาขอไป เลยโดนเพื่อรลองของเอาสันดาบฟันแต่ไม่เป็นไร เลยลองอีกทีเอาดาบด้านมีคมฟันเข้ากลางหลังแต่ไม่เข้า คนโดนฟันโมโหเลยเอากระบอกข้าวหลามตีหัวคนฟันแตกวิ่งหนีไป พอรุ่งขึ้นเพื่อนที่โดนตีหัวแตกก็มาขอโทษที่ฟันเอาเพราะอยากลองเท่านั้น เห็นพระรูปเล็กๆ นั้่งอยู่ในสายสิญกำลังปลุกเสกพระอยู่ไม่น่าเลื่อมใสเลยอยากลองดู ทีนี้เชื่อแล้วว่าฉมังจริงตั้งแต่นั้นมา ใครๆก็รู้จักพระโตแต่ตัวเล็ก และได้สร้างพระพิมพ์เจ็ดชั้นอีกหลายพิมพ์" ส่วนพระที่ลงให้ชมในวันนี้ช่างทำโบสถ์อ่างทองเป็นผู้แกะพิมพ์ถวาย ท่านทำไว้เมื่อปีพ.ศ.2362 ท่านอายุ31ปี ส่วนใหญ่พระพิมพ์วัดเกศ ช่างทำโบสถ์อ่างทองจะเป็นผู้แกะแม่พิมพ์แทบทั้งหมด มีพิมพ์เก้าชั้น ที่ช่างอู่ต่อเรือบางขุนพรหมนอกเป็นผู้แกะ พระวัดเกศเด่นทางคงกระพันและแคล้วคลาด มีประสบการณ์มาก ส่วนพระวัดเกศมีกี่พิมพ์หลวงปู่คำได้เขียนไว้ค่อนข้างละเอียด พรุ่งนี้มาเล่าต่อครับ




วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2561

พระสมเด็จวัดระฆังยุคต้น

วันนี้ขอลงพระสมเด็จยุคต้น พระที่ท่านสมเด็จโตสร้างไว้นั้นทางอ.พน นิลผึ้ง ได้แบ่งออกเป็นสามยุค คือยุคต้น ยุคกลางและยุคปลาย ซึ่งผมว่าเข้าใจง่ายเวลาคุยกัน การแบ่งยุคของพระนั้นมีอยู่หลายกลุ่ม บางกลุ่มเป็นชมรมพระยุคต้นพอเข้าไปดูกลับเป็นพระยุคกลาง บางกลุ่มโดยเฉพาะวงการพุทธพาณิชย์เขายึดปีพ.ศ.2407เป็นยุคต้น ให้เหตุผลว่าท่านเริ่มสร้างพระหลังได้เป็นสมเด็จแล้วคือปีพ.ศ.2407 อันนี้แล้วแต่กลุ่มความเชื่อที่จะแบ่ง โดยส่วนตัวยึดของอ.พน นิลผึ้ง การแบ่งยุคนั้นแบ่งตั้งแต่ท่านบวชเป็นพระภิกษุคือปีพ.ศ.2352 ปีนั้นเป็นปีที่รัชกาลที่ 2 ขึ้นครองราชพอดีเท่ากับว่าท่านเริ่มทำพระในสมัยรัชกาลที่ 2 จนถึงต้นรัชกาลที่3ปีพ.ศ.2367เป็นเวลา 15 ปี ยุคกลางเริ่มนับตั้งแต่รัชกาลที่3จนต่อเนื่องถึงรัชกาลที่4 ถือเป็นพระยุคกลาง ส่วนพระยุคปลายเริ่มนับตั้งแต่ปีที่ท่านได้เป็นสมเด็จคือปีพ.ศ.2407และปีนั้นมีการเปลี่ยนแปลงจากการใช้น้ำอ้อยเคี่ยวเป็นตัวประสานเนื้อพระมาเป็นการใช้น้ำมันตังอิ๊วโดยการแนะนำของหลวงวิจารณ์ เจียรนัย พระยุคปลายนับจากปีพ.ศ.2407 (ซึ่งยังอยู่ในช่วงของรัชกาลที่4) จนถึงปีที่ท่านสมเด็จโตสิ้นคือปีพ.ศ.2415 ซึ่งอยู่ในช่วงต้นสมัยรัชกาลที่ 5 สรุปเพื่อไม่ให้สับสนจำแค่พระยุคต้นนั้นสร้างสมัยรัชกาลที่2 พระยุคกลางสร้างสมัยรัชกาลที่ 3-4 พระยุคปลายสร้างหลังจากที่ท่านเป็นสมเด็จช่วงรัชกาลที่4-5 พระยุคต้นนั้นปัจจุบันหาชมยากมาก ยากกว่าหาพระพิมพ์นิยมหลายเท่า นานๆจะพบสักองค์ พระยุคต้นส่วนใหญ่จะเป็นฝีมือชาวบ้านแกะแม่พิมพ์ ที่ศึกษามาก็จะมีช่างบ้านช่างหล่อ ช่างอู่ต่อเรื่อบางขุนพรหมนอก และช่างทำโบสถ์ติดกระจกหน้าบันอยู่จังหวัดอ่างทองแกะแม่พิมพ์ให้ พระยุคต้นจึงขาดความงามเพราะเป็นการเริ่มต้นยังไม่ลงตัว บางพิมพ์ก็ถอดพิมพ์มาจากพระโบราณ จะพยายามลงพระสมเด็จยุคต่างๆให้ชมตามโอกาส โดยเฉพาะพระพิมพ์ที่ไม่ค่อยเจอหรือรู้จัก เพราะพระพิมพ์นิยมหาดูที่ไหนก็ได้ เอาของดีที่ถูกลืมมาชมกันดีกว่า




วันเสาร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2561

หนุมานงาแกะหลวงพ่อสุ่น วัดศาลา จ.นนทบุรี


หนุมานเป็นเครื่องรางของขลังชนิดหนึ่งที่สร้างกันมาแต่ครั้งโบราณ หนุมานที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ต้องการที่สุดในยุคปัจจุบัน ต้องยกให้หนุมานของหลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน จ.นนทบุรี พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 ให้คำจำกัดความเครื่องรางไว้ว่า "ของที่นับถือว่าป้องกันอันตรายยิงไม่ออก ฟันไม่เข้า เช่นตะกรุด ผ้ายันต์ เหล็กไหล" ส่วนคำว่าของขลังหมายถึง"ของที่มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อกันว่า อาจบันดาลให้สำเร็จได้ดังประสงค์" แต่คนมักใช้คู่กันเป็น "เครื่องรางของขลัง" หนุมานงาแกะพิมพ์วันทา หลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน ตัวนี้เป็นหนุมานหน้าโขนเนื้อฉ่ำแตกลายงา ถือเป็นเครื่องรางของขลังที่นักนิยมเครื่องรางเสาะแสวงหากันมากชิ้นหนึ่ง พิมพ์มาตราฐานที่พบเห็นกันจะเป็นพิมพ์นั่งยองๆมือสองข้างไว้บนเข่า ส่วนพิมพ์วันทาจะนั่งคุกเข่าข้างหนึ่งชันเข่าข้างหนึ่งยกมือพนมไหว้ นานๆจะพบสักครั้ง หนุมานหลวงพ่อสุ่นมีอานุภาพคุ้มครองป้องกันภัย และเมตตามหานิยม ตามความเชื่อของนักสะสม ค่านิยมไม่ต่างจากเขี้ยวเสือของหลวงพ่อปานวัดคลองด่านที่โด่งดัง หลวงพ่อสุ่นท่านมรณะภาพปีพ.ศ.2482 ศิริอายุ78ปี

เพิ่มคำอธิบายภาพ

วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2561

พระร่วงหลังรางปืนพิมพ์ใหญ่ฐานเตี้ย กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุโขทัย

ขอลงพระที่เขายกให้เป็นจักรพรรดิเนื้อชินยอดขุนพลอีกองค์ พระร่วงหลังรางปืนพิมพ์ใหญ่ฐานเตี้ยหรือชาวบ้านเรียกพิมพ์ฐานชั้นเดียว พระองค์นี้ด้านหน้ามีสนิมแดงไม่มากแต่ไปเกิดอยู่ด้านหลังมากหน่อย มีสนิมไขใต้ผิวฉ่ำทั่วองค์พระ รักที่ลงไว้จากเดิมหายไปเกือบหมด แต่ยังคงทิ้งร่องรอยไว้ให้เห็น โดยส่วนตัวให้ความสำคัญกับรักมาก เพราะพระชุดนี้ลงรักมาก่อนบรรจุกรุ รักต้องเก่าและแทรกอยู่กับคราบสนิมอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ใช่ตั้งใจทำให้ดูเก่าด้วยสีหรือน้ำยาเคมี





วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2561

พระสมเด็จนางใน

เมื่อกล่าวถึงพระที่ท่านสมเด็จโตสร้างไว้นั้น ไม่มีใครที่สามารถจะทราบได้หมด มีแต่จะทราบได้มากเท่าไรแค่นั้น แม้แต่หลวงปู่คำ ที่มีส่วนช่วยท่านสมเด็จโตสร้างพระก็ยังบอกว่าไม่ทราบทั้งหมดเพราะมีมากมายหลายพิมพ์ หลายยุค ที่ท่านทำบันทึกไว้นั้นเป็นเพียงส่วนเดียวเท่านั้น ท่านสมเด็จโตไปที่ใดก็จะสร้างพระไว้ที่นั่น เพราะฉะนั้นไม่มีใครที่จะทราบได้ทั้งหมดแน่นอน สำหรับวันนี้ได้นำพระพิมพ์พิเศษฝีมือช่างหลวงมาให้ชม เรียกกันว่า "สมเด็จนางใน" เป็นฝีมือช่างหลวง ท่านทำแจกพวกผู้หญิงในวัง ที่ขอให้ท่านทำพระองค์เล็กๆให้พวกผู้หญิงบ้าง เพราะปกติท่านจะสร้างพระองค์ใหญ่แจกพวกผู้ชาย ท่านก็สร้างให้ตามคำขอ พระสมเด็จนางในเท่าที่พบเจอมีอยู่หลายพิมพ์ ส่วนใหญ่เป็นฝีมือช่างหลวง องค์พระจะเล็กกว่าพระสมเด็จทั่วไป แล้วจะนำพิมพ์อื่นๆมาให้ชมภายหลัง ถ้าเราเข้าใจและศึกษาให้ลึกลงไป เราจะพบเรื่องราวหลายอย่าง ที่เราคิดไม่ถึงเกี่ยวกับผลงานที่ท่านสมเด็จโตได้สร้างไว้ให้กับชนรุ่นหลัง ศึกษาเท่าไรก็ไม่จบสิ้น




วันอังคารที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2561

พระลีลากล้วยตาก สุโขทัย


เพิ่มคำอธิบายภาพ

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่

คืนนี้ขอลงพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ให้ชม เป็นพระที่ชอบมากองค์หนึ่งซึ่งเคยลงมาแล้ว แม่พิมพ์แกะโดยหลวงวิจารณ์ เจียรนัย ตัวองค์พระเป็นแบบพระพุทธรูปสุโขทัย พระองค์นี้ถูกเก็บอย่างดีหรือเป็นพระเก่าเก็บ แทบไม่เคยผ่านการใช้มาเลยมีความสมบูรณ์มาก เนื้อพระแห้งแต่มีความฉ่ำในตัว มีการม้วนตัวของเส้นชัดเจน เนื้อพระเป็นเนื้อละเอียดมีคราบแคลเซี่ยมปกคลุมบางส่วนตามผนังที่เราเรียกกันว่าคราบแป้ง ด้านข้างใช้ตอกตัดตามแบบวัดระฆัง ถ้าของช่างสิบหมู่ทำในราชสำนักจะใช้ของมีคมตัด พระสภาพนี้หาชมยากแล้วครับ






วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2561

พระร่วงหลังรางปืนเนื้อตะกั่วสนิมแดง กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย

พระร่วงหลังรางปืนเนื้อตะกั่วสนิมแดง กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัยองค์นี้ เป็นพิมพ์ใหญ่ฐานเตี้ย หรือที่ชาวบ้านเรียกพิมพ์ฐาน1ชั้นหรือฐานชั้นเดียว ผมได้มานานหลายปีแล้ว ตอนนั้นได้มา2 องค์แบ่งให้เพื่อนสนิทไปองค์หนึ่ง (องค์นั้นด้านหลังเป็นหลังลายผ้าถ้าจำไม่ผิด) ได้มาก็เก็บไว้เพราะตอนนั้นยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องพระเนื้อชินมากนัก เมื่อมาศึกษาอย่างจริงจังมากขึ้น มีความเข้าใจมากขึ้น เลยนำออกมาพิจารณาอย่างละเอียดอีกครั้ง จึงมั่นใจว่าใช่พระแท้แน่นอนเลยนำมาให้ชม ต้องขอขอบคุณองค์ความรู้หลายอย่างที่ได้จาก "ดร.แสวง รวยสูงเนิน" ที่ท่านทำการวิจัยแล้วนำมาเผยแพร่ให้กับสาธารณะซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมาก ขอขอบคุณไว้ณที่นี้ พระร่วงหลังรางปืนนั้นไม่ได้มีเฉพาะเนื้อตะกั่วสนิมแดงอย่างเดียว เนื้อแก่เงินก็มีที่เรียกกันว่า"ชินเงิน" พระกรุโบราณนั้นมักจะลงรักไว้ก่อนบรรจุกรุ แม้กระทั่งเนื้อดินก็การลงรักไว้ด้วยเช่นกัน จุดนี้เป็นจุดสำคัญอีกสิ่งหนึ่งในการพิจารณาพระกรุเก่า ถ้าเจอพระกรุแต่ไม่มีรักหลงเหลืออยู่ใต้คราบกรุเลยก็จงระวังไว้ และองค์ประกอบอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ ต้องมีกล้องขยายกำลังสูงจะช่วยได้มากทีเดียว ยุคนี้เราต้องใช้เทคโนโลยี่ให้เกิดประโยชน์การพิจารณาพระก็จะง่ายขึ้น วันนี้ผมได้ขยายเนื้อพระให้ดูบางส่วนว่าพระกรุเก่าธรรมชาติได้สร้างอะไรไว้บ้าง ที่พระปลอมใหม่ไม่น่าจะทำได้หรือทำไม่ได้เลย