วันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2562

พระสมเด็จวัดระฆังผงดำ พิมพ์ชายจีวรบาง

พระสมเด็จของวัดระฆังนั้น ท่านสมเด็จโตได้สร้างไว้หลายเนื้อ แต่ในปัจจุบันที่นิยมสะสม และเป็นที่รู้จักกันทั่วไปคือ เนื้อปูนสุกและปูนดิบกับเนื้อปูนสุกผสมปูนดิบ ส่วนเนื้ออื่นๆนอกเหนือจากนี้มีคนรู้จักกันน้อย วันนี้ขอพูดถึงเนื้อสมเด็จผงดำหรือผงถ่านแม่พิมพ์ พระเนื้อนี้ท่านจะนำแม่พิมพ์พระที่แกะด้วยไม้ เมื่อแตกหักชำรุดท่านจะนำไปเผาไฟ แล้วบดให้เป็นผงเพื่อใสในพระที่ท่านสร้าง ซึ่งเราจะพบในเนื้อพระสมเด็จอยู่บ่อยๆ แม่พิมพ์ทุกชิ้นท่านจะทำการเบิกเนตรก่อนกดพิมพ์ทุกครั้ง สำหรับพระเนื้อผงถ่านองค์นี้ เป็นพระยุคกลางพิมพ์ชายจีวรบาง (พิมพ์ใหญ่) ช่างสิบหมู่เป็นผู้แกะแม่พิมพ์ถวาย ท่านใช้ผงถ่านเป็นหลักผสมกับผงวิเศษทั้ง 5 มี ผงปัตถมัง ผงอิธิเจ ผงตรีนิสิงเห ผงมหาราช ผงพุทธคุณ ข้าวสุก ผงใบลาน ผงเกษร ใช้น้ำอ้อยเคี่ยวเป็นตัวประสาน พระเนื้อนี้จะสร้างมากช่วงปี พ.ศ. 2390-2393 (จากข้อมูลที่ค้นพบ)
มีเรื่องเล่าว่า ตาอ้นเป็นคนรับใช้ของท่านโต โดยให้นำแม่พิมพ์ที่แตกหักชำรุดไปเผาเป็นถ่านเพื่อมาผสมกับผง วันหนึ่งตาอ้นได้เผาแม่พิมพ์เป็นผงถ่านและได้เก็บไปถวายท่านโตแล้ว ก็ลาไปเที่ยวงานวัดแจ้งก็เดินผ่านเตาที่เผาแม่พิมพ์ เผอิญเห็นแม่พิมพ์ยังเหลืออยู่ 1 พิมพ์หักครึ่งก็เก็บใส่กระเป๋าเสื้อไปด้วย แล้วไปเที่ยวงานวัดก็แวะร้านเหล้าสั่งเหล้ามานั่งกิน มีพวกที่มานั่งกินเหล้าอยู่ก่อนแล้วเกิดทะเลาะวิวาทเอามีดไล่ฟันกัน คนที่ถูกไล่ฟันก็หนีมาหลบหลังตาอ้น คนที่ไล่ฟันก็เอามีดฟันลงไปที่ตาอ้น ตาอ้นที่ดูอยู่ก็เอาท่อนแขนขึ้นรับมีดดังฉึกแต่ไม่เข้า พอตาอ้นรู้ว่าถูกฟันไม่เข้าก็แย่งมีดจากคนที่ไล่ฟัน เอาสันมีดไล่ตีจนหัวแตกเลือดอาบวิ่งหนีไป ผู้เห็นเหตุการณ์ต่างก็เข้ามาถามตาอ้นว่า มีของดีอะไรจึงฟันไม่เข้า ตาอ้นก็เอาแม่พิมพ์ที่ใส่ในกระเป๋าเสื้อออกมาให้ดู คนก็ขอหักเอาไว้ป้องกันตัวบ้าง ตั้งแต่นั้นมาตาอ้นก็ขายแม่พิมพ์ที่ดำเป็นถ่าน ชิ้นละ 1 บาทถึง 5 บาทแล้วแต่ชิ้นเล็กชิ้นใหญ่ ทำให้ตาอ้นมีเงินซื้อบ้านได้ และมาแต่งเมียที่บ้านลานมะเกลือ มีคนไปที่เตาเผาแม่พิมพ์เพื่อจะเก็บเศษผงถ่านเอาไว้ป้องกัยตัว หลวงปู่คำบอกว่า ถ้าของท่านโตยังขลังอยู่อย่าว่าแต่เอาไว้ใช้เลย แม้จะขอดูก็หายาก พูดตอนบันทึกพิมพ์พระทุกพิมพ์ อยู่ที่วัดอัมรินทร์ (ขอมูจากหนังสือ สมเด็จโต)






วันอาทิตย์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2562

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์อกกระบอก


พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่อกกระบอก หรือของโบราณจะเรียก"พิมพ์ชายจีวรเส้นลวด"เหตุเพราะ เส้นชายจีวรตรงข้อศอกซ้ายมีเส้นนูนเป็นสัน ถ้าเส้นบางเล็กก็จะเรียก "พิมพ์ชายจีวรบาง" จากบันทึกของหลวงปู่คำ พระพิมพ์นี้ทำแจกผู้ที่ทำบุญสร้างศาลาท่าน้ำ คนละ1องค์ ทำที่วัดนางชี 2 พานแว่นฟ้า เมื่อปีพ.ศ. 2389 ขณะนั้นท่านอายุ 59 ปี ครองสมณศักดิ์เป็นพระราชปัญญาภรณ์ หลวงสิทธิ์เป็นผู้แกะพิมพ์ถวาย สำหรับพระองค์ที่ลงในวันนี้ เป็นพระเนื้อผงผสมข้าวสุกและมวลสารต่างๆ ใช้น้ำอ้อยเคี่ยวและยางไม้เป็นตัวประสานเนื้อพระหนึกนุ่ม พระได้ผ่านการใช้จนผิวเปิด ทำให้เห็นมูลสารต่างๆชัดเจน วันนี้ได้ถ่ายภาพขยายของมวลสารบางส่วนให้ชม โดยขยายประมาณ 500 เท่า บางครั้งเราเห็นเป็นจุดดำ จุดแดง และวัสดุบางอย่างแต่ไม่เข้าใจว่าคืออะไร ส่วนเรื่องการยุบตัวหดตัวต่างๆ มีให้เห็นทั่วไป พระพิมพ์นี้ถูกนำมาสร้างอีกครั้งปี พ.ศ.2413 เพื่อบรรจุลงกรุวัดบางขุนพรหมใน หรือวัดใหม่อมตรส









วันศุกร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2562

พระพิมพ์ยืนปรกโพธิ์

วันนี้ขอเล่าเรื่องพระกรุเจดีย์เล็กต่อจากครั้งที่แล้ว สำหรับวันนี้เป็นพระพิมพ์ยืนปรกโพธิ์ พระพิมพ์นี้เคยสร้างมาก่อนตอนท่านอายุ 30 ปี และคงมีการสร้างอีกหลายครั้งแต่ไม่มีบันทึกชัดเจน ที่พบเจอพระจึงมีหลายสภาพ ทำให้สับสนว่าทำไมพระกรุจึงไม่มีคราบกรุ หรือเป็นพระสนาม ถ้าเราดูเนื้อพระสมเด็จเป็นและดูความเก่าเป็น เราก็จะแยกออกได้ว่าพระองค์นั้นใช่ของท่านสมเด็จโตหรือไม่ สำหรับพระพิมพ์ปรกโพธิ์ยืน จากหนังสือ "สมเด็จโต" ได้บันทึกการสร้างครั้งแรกไว้ว่า "เนื้อพระ เป็นเนื้อผงผสมขาวสุก ผงเกษร ผงใบลาน ผงดำ และน้ำอ้อยเคี่ยว เนื้อแห้งจะขาวตุ่น แข็งเหนียว วัดบางขุนพรหมนอก ทำมากพอควร ทำแจกในงานสร้างกุฏิโยมบิดา และมารดา (คำว่ากุฏิในที่นี้หมายถึงลักษณะคล้ายศาลซึ่งปัจจุบันไม่มีแล้ว ท่านสร้างไว้ที่วัดอินทรวิหาร) แล้วมาทำพระพิมพ์นี้ขึ้นอีกครั้งในการฉลองกุฏิ เนื้อพระเหมือนกันพระพิมพ์ปรกโพธิ์ยืนนี้ เป็นพิมพ์ที่มีอานุภาพสูงป้องกันไฟได้ ดูแต่นายเงี๊ยบซึ่งถูกไฟเผาทั้งตัวแต่ไม่เผาถึงหนังเลย ท่านโตทำตอนฉลองกุฏิจึงมีคนมาขอไปหมด ต่อมาใน จ.ศ.1179 หรือ พ.ศ. 2360 ท่านโตอายุ 30 ปี ก็ได้ดำริที่จะสร้างพระใหญ่ยืนไว้ในวัดบางขุนพรหมนอกนี้ให้จงได้
พระพิมพ์นี้ก่อนที่ท่านโตจะคิดทำพระใหญ่ก็ได้มีคนเอาพระพิมพ์นี้มาถวาย แล้วท่านโตก็รับไว้แต่ยังไม่ได้พิมพ์นี้ออกมา พระพิพม์นี้ท่านโตได้เก็บไว้นาน จนท่านโตได้สร้างกุฏิถวายบิดาและมารดาขึ้น จึงได้คิดทำพระพิมพ์ยืนปรกโพธิ์ขึ้น ให้ญาติโยมที่เอาทราย ปูนหิน และน้ำอ้อยที่ผสมปูนขาวฉาบฝาผนังห้องมาให้ จะได้พระพิมพ์ยืนปรกโพธิ์นี้คนละองค์ พระพิมพ์ยืนปรกโพธิ์นี้ตอนทำฉาบฝาผนังกุฏิ ได้มีคนจีนเข้ามาหาท่านโตรับจะทำฉาบปูนให้และขออาหารกินไปวันๆ ท่านโตฟังแล้วเวทนา ท่านโตได้ถามว่าแกมาจากไหนชื่ออะไร อั๊วชื่อเงี๊ยบไม่มีญาติ ท่านโตได้ยินเสียงพูดไม่ชัดก็บอกว่า ถ้าไม่มีที่อยู่ก็อยู่เสียที่นี่ฉันจะอุปการะแกเองเรื่องกินแกไม่ต้องกลัวอด ตั้งแต่นั้นมานายเงี๊ยบก็ได้ทำงานทำปูนให้ท่านโตทุกวัน ได้ปลูกกระท่อมอยู่ที่หลังกุฏิที่ทำอยู่ ท่านโตได้เอาพระพิมพ์ยืนปรกโพธิ์ให้นายเงี๊ยบไว้ป้องกันตัว แล้วนายเงี๊ยบก็รับไว้เอาผ้าเย็บเป็นถุงแล้วเอาเชือกแขวนคอไว้เสมอ ต่อมาอีกสองเดือนการสร้างกุฏิได้ก่ออิฐฉาบปูนไปบ้างแล้ว บังเอิญปีนี้หนาวจัดท่านโตได้ซื้อผ้าห่มแดงให้นายเงี๊ยบหนึ่งผืนแล้วให้เงินไว้ซื้อของที่จำเป็น นายเงี๊ยบที่นอนหนาวมาหลายวันแล้ว คืนนี้จะได้นอนสบายสักที วันหนึ่งนายเงี๊ยบได้ก่อไฟไว้ใกล้ ๆ กระท่อมแล้วนายเงี๊ยบก็ขึ้นนอน พอตอนดึกได้มีลมพัดอย่างแรงพัดเอาเศษไฟที่นายเงี๊ยบก่อไว้ เข้าไปในกระท่อมที่มีเศษไม้ที่นายเงี๊ยบผ่าเอาไว้ต้มน้ำถวายท่านโต เศษเปลวไฟได้ก่อให้เกิดไฟลุกไหม้กระท่อมนายเงี๊ยบ ไฟลุกติดหลังคาจากแล้ว แต่นายเงี๊ยบยังนอนคลุมโปงอยู่ไม่รู้สึกตัว พระในกุฏิที่อยู่ห่างไปได้เห็นไฟไหม้
กระท่อมนายเงี๊ยบ ก็ได้เรียกพระและเณรให้ตื่นมาช่วยกันเอาน้ำดับไฟ นายเงี๊ยบตกใจที่ไฟไหม้ผ้าห่มหมด จึงเอามือปิดหน้ากระโดดออกมาไฟก็ยังติดเสื้อนายเงี๊ยบอยู่ พระที่เอาน้ำมาสาดกระท่อมเห็นนายเงี๊ยบไฟลุกทั้งตัวก็เอาน้ำสาดนายเงี๊ยบให้ไฟดับ ท่านโตพอรู้ก็ลงมาดูนึกในใจว่า ถ้าแกยังไม่ถึงคราวขอให้พระคุ้มครองด้วยแล้วท่านก็เดินมาถึง เห็นพระกำลังเอาเสื้อผ้ามาให้นายเงี๊ยบเปลี่ยน ตอนเช้าวันนั้นท่านโตได้ให้เด็กวัดไปซื้อกางเกงจีนให้นายเงี๊ยบ 3 ชุด พระที่เห็นนายเงี๊ยบโดนไฟไหม้ในวันนั้นอย่างน้อยก็ต้องไหม้ไปทั้งตัว นี่นายเงี๊ยบเพียงแต่ผิวหนังแดงเป็นผื่นเท่านั้นเอง เพราะมีพระที่ท่านโตให้ไว้กันอันตรายทั้งปวง ใครๆก็ไปขอพระพิมพ์นี้มาไว้ที่บ้านบูชากันอันตราย แล้วเอาเงินถวายค่าแรงที่ทำกุฏิบิดา มารดา อีกเดือนต่อมาก็เสร็จหมด
ท่านโตได้นิมนต์พระ 7 รูปมาฉลองกุฏิทั้งสอง และได้พิมพ์พระปรกโพธิ์ยืนนี้แจกอีกครั้งในงานฉลองกุฏิ พระที่ทำไว้แจกหมด ต่อมาพระพิมพ์นี้ท่านเจ้าคุณพรหมมาได้มายืมพิมพ์ไปพิมพ์พระที่วัดบางขุนพรหมในและได้ขอผงไปสองบาตรเอาไปพิมพ์แล้วพระพิมพ์นี้ก็อยู่วัดบางขุนพรหมใน ท่านโตพิมพ์พระพิมพ์นี้ยังเป็นท่านโตเท่านั้น ช่างอู่ต่อเรือบางขุนพรหมนอก เป็นผู้แกะพิมพ์ถวาย" ข้อมูลทั้งหมดเป็นบันทึกของหลวงปู่คำ คัดลอกมาให้อ่านจากหนังสือ "สมเด็จโต" หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับท่านบ้าง ไม่มากก็น้อย







วันอังคารที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2562

พระพิมพ์เจดีย์แหวกม่านกรุเจดีย์เล็ก

วันนี้ขอพูดถึงพระบางขุนพรหมกรุเจดีย์เล็ก หลังจากการเปิดกรุเจดีย์ประธานเมื่อปี พ.ศ.2500 ที่เราเรียกกันว่า "พระสมเด็จบางขุนพรหมกรุใหม่" ต่อมาปี พ.ศ.2506 ทางวัดได้ทำการลื้อถอนเจดีย์เล็กหลายเจดีย์ ที่อยู่ข้างเจดีย์ประธานเพื่อปรับพื้นที่จึงได้เจอพระกรุนี้เข้า แต่ก็มีผู้ที่สนใจน้อยเนื่องจากไม่ทราบประวัติความเป็นมาว่าใครเป็นผู้สร้างจนเวลาผ่านไป มีผู้นำพระชุดนี้ไปใช้บูชา มีประสบการณ์ต่างๆ จึงได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นลำดับ แต่ก็ยังคาใจอยู่เรื่องผู้สร้าง จนปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่า ท่านสมเด็จโตเป็นผู้สร้าง แต่ก็ยังมีบางท่านที่ไม่เห็นด้วย จากการค้นข้อมูลเท่าที่ได้เชื่อได้ว่าพระชุดนี้ท่านสมเด็จโตเป็นผู้สร้างไว้ และหลายพิมพ์เป็นแม่พิมพ์เก่าตั้งแต่ยุคต้นของท่าน คือช่วงท่านอายุ20กว่าปี ได้นำแม่พิมพ์นั้นกลับมาสร้างใหม่ ยกตัวอย่างเช่นพิมพ์เจดีย์แวกม่าน หรือพิมพ์รูปมณฑป จากหนังสือ "สมเด็จโต" ซึ่งเป็นบันทึกของหลวงปู่คำ (เจ้าอาวาสวัดอัมรินทร์ ธนบุรี) ผู้อยู่ในเหตุการณ์และมีส่วนช่วยสร้างพระสมเด็จ ท่านได้บันทึกไว้ว่า " พระพิมพ์รูปมณฑป เมื่อตอนสร้างได้มีญาติโยมถามท่านโตว่า ทำไมจึงสร้างพิมพ์นี้ขึ้นมาไม่มีองค์พระมีแต่เจดีย์ ท่านได้แต่ยิ้มแล้วบอกว่า โยมสร้างอะไรขึ้นมามันก็ต้องมีความหมายของการสร้างสิ่งนั้น ที่โยมเห็นเป็นเจดีย์ก็เป็นความเห็นของโยม แต่ความคิดของอาตมาที่ทำพิมพ์นี้ขึ้นความจริงไม่ใช่เจดีย์ ถ้าเป็นเจดีย์ต้องไม่มีม่านครอบคลุมอยู่ พิมพ์นี้เรียกว่ามณณฑปจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมเป็นที่เก็บอัฐิของพระพุทธเจ้า (โกศ) ไม่ใช่เจดีย์แหวกม่านอย่าที่โยมเข้าใจ มณฑปเป็นที่เก็บพระอัฐิจะเป็นสี่เหลี่ยมที่มีม่านผูกกลางม่าน ช่องม่านคล้ายกับแหวกม่าน เลยปิดบังรูปมณฑปที่เป็นสี่เหลี่ยม เห็นแต่โกศแลดูคล้ายรูปเจดีย์ แต่ตามจริงแล้วไม่ใช่เจดีย์ แต่เป็นโกศสำหรับเก็บพระอัฐิของพระพุทธเจ้าขอให้โยมเข้าใจตามนี้ด้วย และได้อธิบายให้ญาติโยมฟังโดยตลอดเป็นที่เข้าใจ" ตอนสร้างพระพิมพ์นี้ปี พ.ศ.2353 ท่านอายุ 23 ปี นายจ้อน ช่างซ่อมแซมวัดบางขุนพรหมนอก เป็นผู้แกะพิมพ์ถวาย ขณะนั้นท่านเป็นพระลูกวัดธรรมดาและเป็นครูสอนนักธรรมสำนักเจ้าคุณแก้ว พระชุดที่ท่านสร้างตอนนั้นเป็นเนื้อข้าวสุกผสมผง ใช้น้ำอ้อยเคี่ยวเป็นตัวประสานเนื้อจะออกขาวนุ่ม ยังเห็นมีผู้ครอบครองอยู่ในปัจจุบัน ด้านหลังจะเป็นรอยนิ้วมือกดเพื่อให้เนื้อแน่นเต็มแม่พิมพ์ ส่วนของกรุเจดีย์เล็กจะใช้ไม้กระดานหรือวัสดุเรียบกดหลัง ใช้น้ำมันตังอิ๊วเป็นตัวประสาน พระสองยุคนี้แยกออกได้ง่ายเพราะยุคต้นเนื้อจะนุ่มไม่มีคราบกรุ กรุเจดีย์เล็กจะมีคราบกรุและเป็นเนื้อแก่ปูนสุก สำหรับพระกรุเจดีย์เล็กนั้นมีอยู่ 6 พิมพ์คือ 1.พิมพ์มณฑปหรือพิมพ์แหวกม่าน 2.พิมพ์สมาธิ 3.พิมพ์ฐานคู่ 4.พิมพ์ไสยาสน์ 5.พิมพ์หมอนขวาน 6.พิมพ์ยืนปรกโพธิ์ ในครั้งต่อไปจะนำ1ใน 6 พิมพ์มาเล่าต่อครับ






วันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2562

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ทรงเจดีย์

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ทรงเจดีย์ ในยุคของท่านสมเด็จโตพระพิมพ์นี้เรียก "พิมพ์พระประธาน" แต่ในปัจจุบันมาเรียกกันใหม่ว่า "พิมพ์ทรงเจดีย์" เราก็ควรเรียก "พิมพ์ทรงเจดีย์" ตามสมัยเพื่อไม่ให้สับสนกับผู้อื่น "พิมพ์ทรงเจดีย์" นั้นมีอยู่หลายพิมพ์ไม่ต่ำกว่า 4 พิมพ์ มีพิมพ์ใหญ่ และพิมพ์เล็ก สำหรับพระองค์ที่ลงไว้นี้เป็นพระพิมพ์ใหญ่เกศปลีกล้วย มีเส้นสังฆาฏิพาดบนองค์พระ เป็นพระเนื้อละเอียดหนึกแกร่ง ส่วนที่โดนสัมผัสบ่อยจะขึ้นมัน โดยเฉพาะด้านข้างลักษณะคล้ายหินอ่อนแล้ว ตามพื้นผนังมีคราบน้ำมันตังอิ๊ว ซึมผสมกับคราบยางไม้เป็นจ้ำ กระจายอยู่ให้เห็นบางจุด จัดเป็นพระที่สมบูรณ์และดูง่ายองค์หนึ่ง







วันศุกร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2562

หลวงพ่อเงินวัดบางคลาน พิมพ์จอบใหญ่

หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน ท่านเกิดในสมัยรัชกาลที่ 2 มรณะภาพในสมัยรัชกาลที่ 6 ท่านมีอายุยืนถึง 111 ปี อยู่ถึง 5 แผ่นดิน ขณะที่ท่านยังชีวิตอยู่ มีผู้เคารพศรัทธาท่านมาก ตั้งแต่ประชาชนชาวบ้าน จนถีงในวัง ท่านได้สร้างพระและวัตถุมงคลไว้เป็นจำนวนมาก มีทั้งสร้างที่วัด และสร้างที่ในวัง พระของท่านจะเด่นในด้านคงกระพัน เป็นที่เสาะแสวงหาและมีความนิยมสูงไม่เสื่อมคลาย พระของท่านที่เล่นหาและนิยมในวงกว้างมีอยู่ 4 แบบหลักๆคือ 1.รูปหล่อ หลวงพ่อเงิน พิมพ์นิยม 2. รูปหล่อ หลวงพ่อเงิน พิมพ์ขี้ตา 3.เหรียญหล่อ หลวงพ่อเงิน พิมพ์จอบใหญ่ 4.เหรียญหล่อ หลวงพ่อเงิน พิมพ์จอบเล็ก พระของท่านทั้ง 4 พิมพ์จัดเป็นพระที่หายากและมีราคาสูง วันนี้ได้นำเหรียญหล่อจอบใหญ่ข้างเม็ดมาให้ชม จัดเป็นเหรียญหล่อที่ได้รับความนิยมในอันดับต้นๆ พระของท่านหล่อด้วยเนื้อทองเหลืองเป็นหลัก และมีส่วนผสมของโลหะชนิดอื่นๆประกอบเช่น ทองคำ เงิน นาค และทองแดงเป็นต้น ด้วยเหตุนี้สนิมที่เกิดบนองค์พระจะมีหลายสี และแต่ละสีจะเกิดจากในเนื้อเช่นสนิมแดงคือสนิมทองคำ สนิมดำคือสนิมเงิน สนิมเขียวคือสนิมของทองแดงเป็นต้น และสนิมแต่ละสีก็จะมีน้ำหนักสีเข้มอ่อนเป็นธรรมชาติ ไม่เป็นสีเดียวโดดๆ เหมือนของทำเทียมเลียนแบบ ที่ใช้สีมาแต้มแต่งดูไม่เป็นธรรมชาติ
สนใจ:
Tel : 091-491-3707
line ID: surathat21
Inbox : m.me/BoontohPhraSomdej