วันเสาร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2562

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ยุคกลาง พระยุคกลางไม่เป็นที่นิยมเหมือนพระยุคปลาย แต่มีเนื้อหามวลสารมากมาย และสร้างก่อนพระพิมพ์นิยมยุคปลาย ผู้ที่หาพระสมเด็จพิมพ์นิยมไม่ได้ อยากแนะนำให้แขวนพระยุคต้นหรือ พระยุคกลางก็ได้ มีอายุ มากกว่าและย่อมเยากว่ามาก สำหรับพุทธคุณไม่ต่างกัน




วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2562

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่นิยม พระองค์นี้เป็นพระเก่าเก็บสะภาพยังไม่ผ่านการใช้ แต่ก็มียุบตัว มีความเหี่ยว และการเกิดคราบแคลเซียมให้เห็น





วันเสาร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2562

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์พิเศษ

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์พิเศษ หรือที่เรียกว่า "สมเด็จนางใน" ท่านสมเด็จโตทำแจก สุภาพสตรีชาววังซึ่งองค์พระมีขนาดเล็กกว่าพระสมเด็จทั่วไป เหมาะกับผู้หญิง ศิลปเป็นงานฝีมือช่างสิบหมู่ เป็นรูปองค์พระนั่งสมาธิ ฐานชั้นเดียว ซ้าย-ขวามีม่านผูกไว้หรือที่เรียกว่า"แหวกม่าน" ดูสวยงาม พระสมเด็จนางในนี้เท่าที่พบเจอมีอยู่หลายพิมพ์ เป็นฝีมือช่างสิบหมู่ทั้งสิ้น



วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2562

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่

ในปัจจุบันการสะสมพระเครื่อง ได้แบ่งออกเป็นหลายกลุ่มตามโลกสมัยที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะพระสมเด็จ เช่น 1.กลุ่มดูพิมพ์เป็นหลักถ้าพิมพ์ไม่ใช่ก็จบ 2.กลุ่มดูเนื้อเป็นหลักพิมพ์ทรงเป็นรอง ขอให้เนื้อมีมวลสารตามสูตรและเก่าถึงยุคใช้ได้ 3.กลุ่มวัดขนาดพระ กลุ่มนี้ไม่กำหนดพิมพ์นิยมแต่ถ้าพระสมเด็จองค์นั้นมั่นใจว่าแท้ ก็จะเอาพระองค์นั้นเป็นมาตราฐานในการวัดขนาดของพระพิมพ์นั้นองค์ต่อไป 4.กลุ่มใบเซอร์กลุ่มนี้จะเก็บหรือเช่าพระที่ต้องมีใบรับประกันเท่านั้น 5.กลุ่มที่เช็คค่าของแร่แคลไซต์ด้วยกรด กลุ่มนี้จะเช็คอายุพระจากแร่แคลไซต์บนผิวพระโดยการดูขนาดของฟองที่เกิดขึ้น 6.กลุ่มดูการเปลี่ยนแปลงของเนื้อพระด้วยหลักธรรมชาติ โดยใช้กล้องขยายกำลังสูงซึ่งกลุ่มสุดท้ายนี้ กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นเป็นลำดับ เพราะสามารถพิสูตรความเก่าได้แม่นยำและมีเหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติที่สุด ส่วนใครชอบและถนัดสะสมแบบไหน ก็สะสมกันตามที่ถนัด สำหรับวันนี้ได้นำพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ เนื้อค่อนข้างแก่น้ำมัน สภาพสวยพองามมาให้ชมครับ




วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2562

พระขุนแผนพรายกุมารเนื้องาแกะ ของหลวงพ่อเดิมวัดหนองโพ จ.นครสวรรค์ หลวงพ่อเดิมนั้นได้สร้างวัตถุมงคลไว้เป็นจำนวนมาก และเป็นที่นิยมของคนทั่วไป ท่านเริ่มสร้างวัตถุมงคลของท่านราวปี พ.ศ. ๒๔๗๐ วัตถุมงคลของท่านมีมากมายหลายชนิด ตั้งแต่ตะกรุด ผ้ายันต์ มีดหมอ สิงห์งาแกะ รูปหล่อ เหรียญ แหวน กำไล ฯลฯ ล้วนเป็นที่นิยมทั้งสิ้น สำหรับวันนี้นำพระขุนแผนเนื้องาแกะมาให้ชม เป็นงาแก่สีเหลืองจัด ตามร่องมีคราบแคลเซียมสีขาวเกิดขึ้นตามซอก แสดงถึงอายุของงา ส่วนด้านหลังมีรอยจารยันต์พระเจ้าห้าพระองค์คือ "นะโมพุทธายะ" แต่เขียนเป็นรูปแบบที่เรียกว่า ยันต์ "พระเจ้าอมโลก" ไม่ใช่ยันต์พุทธซ้อนอย่างที่หลายท่านเข้าใจ หลวงพ่อเดิมท่านมรณะเมื่อวัน ๒๒ พฤษภาคม ๒๔๙๔ รวมสิริอายุได้ ๙๒ ปี พรรษาที่ ๗๐

เพิ่มคำอธิบายภาพ

วันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2562

ขุนแผนเคลือบ กรุวัดใหญ่ชัยมงคล

ขุนแผนเคลือบ กรุวัดใหญ่ชัยมงคล พระขุนแผนเคลือบเท่าที่พบเจอองค์ที่เจ้าของมั่นใจว่าแท้ น้ำเคลือบนั้นจะออกเหลือบเป็นสีรุ้งทุกองค์ เพียงแต่จะเห็นมากน้อยต่างกันเท่านั้น แต่จะมีให้เห็น ผู้รู้บางท่านว่าน้ำเคลือบนั้นเป็นยางไม้ชนิดหนึ่ง ไม่ใช่สารเคมีเหมือนน้ำยาเคลือบกระเบื้องมุงหลังคาโบสถ์ เท็จจริงอย่างไรยังไม่มีข้อสรุปครับ





วันเสาร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2562

พระขุนแผนพิมพ์ห้าเหลี่ยมอกใหญ่ กรุวัดบ้านกร่าง จัีงหวัดสุพรรณบุรี

พระขุนแผนพิมพ์ห้าเหลี่ยมอกใหญ่ กรุวัดบ้านกร่าง เมืองสุพรรณบุรี พระขุนแผนกรุนี้เป็นที่นิยมชมชอบมาก ของชายหนุ่มเมื่อสมัย 50-60 ปีก่อน เชื่อกันว่าเด่นทางเมตตามหาเสน่ห์ และคงกระพัน เรื่องประวัติเคยเล่าไปแล้ว พระขุนแผนกรุนี้เป็นพระเนื้อดินดิบผสมว่าน ผ่านการเผาด้วยไฟอ่อน เพื่อให้น้ำว่านยังคงอยู่เพื่อการยึดเกาะของเนื้อดิน แต่ถ้าเผาด้วยความร้อนสูงจะเรียกเนื้อดินสุก น้ำว่านจะไม่มีหลงเหลืออยู่ (เหมือนดินกระถางต้นไม้) ด้วยเหตุนี้ เวลาเราใช้แว่นขยายส่องดูจึงเห็นความฉ่ำอยู่ในเนื้อของพระเนื้อดินดิบ พระขุนแผนกรุนี้มี "กรวด" หรือบางท่านเรียก "อัญมณี" ผสมอยู่มากจนสังเกตได้ และยังพบทรายเงิน ทรายทองเหมือนในพระสมเด็จ สำหรับพระองค์ที่ลงให้ชมในวันนี้ มีก้อนว่านมะขามแดงที่ตำไม่ละเอียดอยู่ให้เห็นชัดเจน ว่านมะขามแดงเป็นแร่ชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ว่านหรือเกสรดอกไม้อย่างที่หลายท่านเข้าใจ แร่ว่านมะขามแดงนี้ ทางภาคเหนือจะเรียก " โพรงเหล็กไหล " เหมือนเป็นมวลสารสำคัญชิ้นหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในการสร้างพระในสมัยนั้น ซึ่งถ้าเป็นพระเนื้อดินกรุเก่า เราก็จะพบว่ามีแร่ว่านมะขามแดงผสมอยู่เสมอ






วันเสาร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2562

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์เกศบัวตูม

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์เกศบัวตูม พระอง์นี้แกะแม่พิมพ์โดยช่างสิบหมู่ สร้างไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๑ ท่านอายุ ๓๑ ปี เป็นพระลูกวัดธรรมดา ข้อมูลเหล่านี้ได้มาจากหนังสือ "สมเด็จโต" ซึ่งเป็นบันทึกของ "หลวงปู่คำ" ผู้อยู่ในเหตุการณ์สร้างพระสมเด็จ ในเมื่อเราท่านเกิดไม่ทันก็ต้องอาศัยข้อมูลจากตำราต่างๆ ที่คิดว่าน่าเชื่อถือที่สุดมาศึกษาเทียบเคียง และดูความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติในองค์พระประกอบ ตามหลักวิทยาศาสตร์ การที่จะสะสมพระต้องเรียนรู้ดูด้วยตัวเองให้ได้ เป็นการดีที่สุด ถ้าสะสมเล่นจากการฟังผู้อื่นอย่างเดียว จะหาข้อสรุปยาก เพราะคนยุคนี้ไม่มีใครเกิดทันสักคน " อัตตา หิ อัตตโน นาโถ "






พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์เกศบัวตูม

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์เกศบัวตูมองค์นี้ ถ้าจะเรียกแบบดั่งเดิมต้องเรียก "พิมพ์เกศบัวตูมหูติ่งฐานแซม" เพราะจะมีพระกรรณหรือหูเป็นติ่งสั้นๆข้างแก้ม และมีเส้นแซมหรือเส้นอาสนะใต้ตักหนึ่งเส้น พระพิมพ์นี้แกะพิมพ์โดยนายเจิม วงศ์ช่างหล่อ (ข้อมูลจากหนังสือหลวงปู่โต) พระพิมพ์นี้ตามบันทึกท่านได้สร้างไว้ ๓ วาระคือสร้างครั้งแรกปี พ.ศ. ๒๓๘๗ อายุ ๕๗ ปี ครองสมณศักดิ์เป็นพระราชปัญญาภรณ์ สร้างครั้งที่ ๒ ปี พ.ศ. ๒๓๙๘ อายุ ๖๘ ปีครองสมณศักดิ์เป็นพระธรรมกิติโสภณ ครั้งที่ ๓ ปี พ.ศ. ๒๔๑๓ อายุ ๘๓ ปี ครองสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เพื่อบรรจุกรุวัดบางขุนพรหมใน ส่วนพระที่ลงไว้วันนี้เป็นพระที่สร้างปี พ.ศ. ๒๓๙๘ เป็นเนื้อผงผสมข้าวสุก ผงเกษร ผงใบลาน ผงดำ และน้ำอ้อยคี่ยว ทำที่วัดระฆัง เป็นพระที่เคยผ่านการใช้มาแล้ว ก่อนที่จะถูกเก็บลืม ถือเป็นพระเนื้อจัดดูง่ายอีกองค์หนึ่ง






วันศุกร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2562

พระสมเด็จวัดเกศไชโยพิมพ์ 7 ชั้น

พระสมเด็จวัดเกศไชโยพิมพ์ 7 ชั้น สำหรับพระองค์นี้เป็นเนื้อปูนเปลือกหอยมุข การสร้างพระวัดเกศนั้น นับว่าเป็นพระยุคแรกๆที่ท่านสมเด็จโตได้เริ่มสร้างพระพิมพ์สี่เหลี่ยมชิ้นฟักขึ้น การสร้างพระพิมพ์นี้ท่านสร้างเพื่ออุทิศให้โยมมารดาของท่าน และได้สร้างพระพิมพ์นี้ไว้หลายวาระมีอยู่หลายพิมพ์ ช่างทำโบสถ์อ่างทองเป็นผู้แกะพิมพ์ถวาย ตามบันทึกหลวงปู่คำได้บันทึกไว้ว่าพระวัดเกศมีทั้งหมด 29 พิมพ์






วันจันทร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2562

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่เกศทะลุซุ้ม

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่เกศทะลุซุ้ม พระองค์นี้เป็นพระเก่าเก็บผิวยังไม่เปิด มีจ้ำน้ำมันตังอิ๊วกระจายทั่วไป วงแขนและขอบซุ้มมีการม้วนตัวตามกาลเวลา