วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

เหรียญหลวงพ่อวัดไร่ขิง ปีพ.ศ.๒๔๖๗

เหรียญหลวงพ่อวัดไร่ขิง ปีพ.ศ.๒๔๖๗ เป็นเหรียญรุ่นแรกที่ทางวัดได้จัดสร้างขึ้น เหรียญเป็นทรงเสมา(คว่ำ) ด้านหน้าเป็นรูปองค์หลวงพ่อ มีรัศมีเหนือพระเศียร ด้านล่างมีข้อความ "ที่รฤก หลวงพ่อวัดไร่ขิงฯ" ส่วนด้านหลังเป็นยันต์ขมวดสี่มุม ภายในบรรจุพระคาถาไตรสรณาคมน์เต็มบท ด้านล่างมียันต์สี่ตัว อ่านว่า "พุทธะสังมิ" ซึ่งเป็นหัวใจพระคาถาไตรสรณาคมน์ ด้านล่างสุดเป็นปี พ.ศ.ที่สร้างคือ ๒๔๖๗ เหรียญหลวงพ่อวัดไร่ขิงนี้ ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในชุดเบญจภาคีเหรียญพระพุทธ ซึ่งมี เหรียญพระพุทธชินราช ปี ๒๔๖๐ เหรียญหลวงพ่อโสธร ปี ๒๔๖๐ เหรียญหลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง ปี ๒๔๖๐ เหรียญหลวงพ่อวัดบ้านแหลม ปี ๒๔๖๐ และเหรียญหลวงพ่อวัดไร่ขิง ปี ๒๔๖๗




วันพุธที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

พระหูยาน กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.ลพบุรี

พระหูยาน กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.ลพบุรี เป็นพระเนื้อชินเงิน พบครั้งแรกปี พ.ศ.๒๔๕๐ ตรงพระปรางค์องค์ประธาน พระชุดนี้จะเรียกกันทั่วไปว่าพระกรุเก่า และพบอีกครั้งปี พ.ศ. ๒๕๐๘ บริเวณเจดีย์รายหน้าพระปรางค์ (บริเวณวัดเดียวกัน) พระชุดนี้จะเรียก พระกรุใหม่ พระทั้งสองกรุจะเป็นพิมพ์เดึยวกัน สำหรับพระกรุใหม่ส่วนใหญ่จะมีคราบปรอทสีขาว ปกคลุมบนผิวพระทั้งหน้าหลัง ต่างจากกรุเก่าที่ผิวจะออกสีดำ สำหรับพระที่ลงในวันนี้เป็นพระหูยานพิมพ์ใหญ่ กรุเก่า ที่สภาพสมบูรณ์มาก





พระพุทธชินราชใบ

วันนี้ลงพระพุทธชินราชใบเสมาอีกองค์ เป็นพิมพ์ฐานสูงเช่นกัน อยากให้สังเกตที่ผิวพระ พระเนื้อชินเงินที่เป็นพระกรุเก่าจะมีการงอกของโลหะ ตามพื้นผิว ที่ไม่ถูกสัมผัส ลักษณะเป็นเม็ดเล็กๆละเอียดอยู่ตามพื้น บางจุดเม็ดเหล่านี้จะเกิดขึ้นสานกันคล้ายลายมุ้ง ส่วนที่นูนเป็นสันไม่ค่อยพบเพราะโดนสัมผัส พระที่สร้างใหม่จะไม่มี สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ (ทำเรียนแบบคงยาก) และพระกรุส่วนใหญ่จะลงรักเอาไว้เพื่อเป็นการรักษาเนื้อพระ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อดินหรือเนื้อชินก็ตามจะลงรักไว้ทั้งสิ้น และรักต้องแห้งดูเก่าสมอายุด้วย ๒ สิ่งนี้พอเป็นพื้นฐานในการพิจารณาพระแท้ได้






วันอังคารที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

พระพุทธชินราชใบเสมา

พระพุทธชินราชใบเสมา หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า พระชินราชใบเสมา เป็นของกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือที่ชาวบ้านเรียกวัดใหญ่ จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน ขององค์หลวงพ่อพระพุทธชินราช พระชินราชใบเสมาจัดเป็น ๑ ใน ๕ ของชุด "พระยอดขุนพลเนื้อชิน" เป็นพระที่ได้รับความนิยมอย่างสูง ต่อเนื่องมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในหมู่ข้าราชการทหารตำรวจ พระชินราชใบเสมา เป็นพระที่สร้างแบบศิลปะอู่ทองยุคต้น พุทธลักษณะองค์พระประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย เหนืออาสนะฐานบัว 2 ชั้น ภายในซุ้มเรือนแก้ว สำหรับพระที่ลงในวันนี้เป็นพระชินราชใบเสมาพิมพิมพ์ฐานสูง.ที่มีสภาพสวยสมบูรณ์ รักเดิมยังอยู่ ตามพื้นผิวมีการงอกของเนื้อ แบบเม็ดผดเล็กๆกระจายอยู่ทั่วไป เม็ดผดนี้จะพบในพระกรุเนื้อชินเงิน เช่นพระหูยานลพบุรี และพระมเหศวร หรือพระกรุเนื้อชินเงินพิมพ์ต่างๆ เป็นจุดสังเกตพระกรุเนื้อชินเงินอีกทางหนึ่ง.





วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

ลิงหลวงพ่อดิ่ง วัดบางวัว

หลวงพ่อดิ่ง คังคสุวัณโณ วัดบางวัว หรือวัดอุสภาราม จังหวัดฉะเชิงเทรา ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ ที่มีผู้คนนับถือมากท่านหนึ่งในยุคนั้น นอกจากเหรียญปั้มของหลวงพ่อดิ่งปี พ.ศ.2481 แล้ว ท่านยังได้สร้างลิงไม้แกะ ซึ่งแกะมาจากรากพุดซ้อน (ชอนไปทางทิศตะวันออก) เป็นรูปลิงนั่งตอหางวนเป็นฐานกลมเป็นรูปลิงอ้าปาก ในมือกุมอาวุธ กระบอง ตรีหรือพระขรรค์ แล้วเคลือบด้วยขี้ผึ้ง หรือทาน้ำมันจันทร์ไว้เพื่อเป็นการรักษาเนื้อไม้ ลิงของท่านเด่นทางแคล้วคลาด คงกระพัน สำหรับลิงที่ลงไว้วันนี้ เป็นลิงกุมกระบอง ด้านหลังมีจารยันต์นะ ใต้ฐานจารยันต์พุฒซ้อน หลวงพ่อดิ่งมรณภาพเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2495 อายุ 76 ปี พรรษาที่ 55 



พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่อกวี

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่อกวี พระองค์นี้เป็นพระยุคปลายเส้นบังคับพิมพ์ชิดเส้นซุ้มด้านซ้ายตามสูตร เป็นพระเนื้อผงผสมข้าวสุก และปูนสุกกับปูนดิบ ใช้น้ำมันตังอิ๊วเป็นตัวประสาน พระโดนเจ้าของเดิมล้างมาจนผิวนอกเปิดหมด ทำให้เห็นมวลสารชัดเจน คือสิ่งที่ได้ทดแทนจากการต้องเสียผิวพระไป พระองค์นี้ดูด้วยตาเปล่าจะดูแห้งๆไม่สะดุดตา แต่เมื่อลงกล้องจึงจะเห็นเนื้อหาต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นมวลสาร การงอกของปูนที่เกิดใหม่ จะเป็นแคลไซต์ (Calcite) การงอกของปูนดิบ หรือ อะราโกไนท์ (Aragonite) การงอกของปูนสุก ความเหี่ยว ฉ่ำ นวล มีครบ  








วันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ทรงเจดีย์

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ทรงเจดีย์ พระองค์นี้เป็นพระยุคกลางฝีมือช่างหลวงเนื้อผงผสมข้าวสุก ใช้น้ำอ้อยเคี่ยวเป็นตัวประสานเนื้อ สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๒ ขณะนั้นท่านครองสมณศักดิ์เป็นพระเทพกวีวิสุทธินายก และได้นำแม่พิมพ์นี้มาสร้างอีกครั้ง ปีพ.ศ. ๒๔๑๓ เพื่อบรรจุกรุไว้ที่วัดบางขุนพรหมใน หรือวัดใหม่อมตรส (ข้อมูลจากหนังสือสมเด็จโต) พระองค์นี้เคยลงรักมาก่อนแต่โดนล้างออก ยังมีให้เห็นตามซอก เนื้อพระหนึกนุ่ม สภาพสมบูรณ์สวยงาม





วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

พระรอดพิมพ์ใหญ่วัดมหาวัน

พระรอดพิมพ์ใหญ่ฐานพับวัดมหาวัน เป็น ๑ ในพระชุดเบญจภาคีที่มีอายุการสร้างมากที่สุดคือประมาณ ๑,๒๐๐ปี เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๑๓๑๓ พระนางจามเทวี พร้อมข้าราชบริพารได้เสด็จจากเมืองลพบุรี (เมืองละโว้ในสมัยนั้น) มาสร้างแคว้นหริภุญไชยและเป็นกษัตริย์องค์แรก แห่งราชวงศ์จามเทวี ท่านทรงให้ฤๅษี ๔ ตนเป็นผู้สร้างพระขึ้น เพื่อเป็นสื่อหรือเครื่องหมายของการขยายอาณาจักรหริภุญไชย เป็นขวัญกำลังใจให้ทหาร และเป็นการสืบอายุพระศาสนา พระรอดเป็นพระเครื่องขนาดเล็กที่มีความสวยงามในด้านศิลปมาก พุทธศิลปเป็นศิลปะผสมระหว่าง ลพบุรี/ ทวาราวดี และลังกา โดยฝีมือช่างหลวง พระรอดนั้นมีหลากพิมพ์ และหลายสี เป็นพระที่มีความแกร่งมาก แต่มีความฉ่ำนุ่มดูซึ้งตาอยู่ในองค์พระ การสังเกตพระรอดพื้นฐานนั้น ต้องมีความเหี่ยวและความฉ่ำในเนื้อพระเป็นหลัก ผิวพระต้องไม่ตึง และพระบางองค์จะปรากฏรอยเสี้ยนไม้ของแม่พิมพ์ให้เห็น แบบพระผงสุพรรณ และพระนางพญา เพราะพระโบราณจะใช้ไม้มงคลมาแกะแม่พิมพ์แล้วกดออกมาเป็นพระต้นแบบ เมื่อได้พระต้นแบบแล้วก็จะนำไปถอดพิมพ์อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ได้แม่พิมพ์จำนวนมากพอที่จะสร้างพระจำนวนมาก เพราะฉะนั้นถ้าพระองค์ใดมีรอยเสี้ยนไม้บนองค์พระ ก็จะช่วยในการพิจารณาได้ง่ายขึ้น.







พระหลวงพ่อปาน พิมพ์ไก่หางพวง วัดบางนมโค

พระหลวงพ่อปาน พิมพ์ไก่หางพวง วัดบางนมโค พระหลวงพ่อปานเป็นพระที่นักนิยมสะสมพระเครื่องชื่นชอบ และเป็นที่ต้องการโดยเฉพาะพิมพ์ไก่หางพวง เชื่อกันว่ามีแล้วทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรือง พระชุดขี่สัตว์ของท่านมีพิมพ์หลัก ๖ พิมพ์ คือ พิมพ์ไก่ พิมพ์ครุฑ พิมพ์หนุมาน พิมพ์เม่น พิมพ์นก และพิมพ์ปลา เป็นพระเนื้อดินเผา เนื้อพระที่ท่านสร้างมี ๒ แบบคือแบบเนื้อหยาบ และเนื้อละเอียด ในพระเนื้อหยาบจะเห็นกรวดทรายในเนื้อชัดเจน กรวดทรายนั้นมีทั้งสีขุ่นและสีใสผสมกัน แต่เม็ดทรายควรจะไม่มีเหลี่ยมคม ถ้ามีเหลี่ยมคมมักเป็นพระที่สร้างใหม่ ส่วนพระเนื้อละเอียดจะมีเม็ดทรายผสมอยู่น้อย หรือบางองค์แทบไม่พบเห็นเลยก็มี สำหรับพระที่ลงไว้นี้เป็นพระเนื้อละเอียด อีกจุดหนึ่งที่สำคัญคือรอยอุดรูด้านบนสันขององค์พระ ที่บรรจุผงวิเศษเอาไว้ แล้วใช้ปูนซีเมนต์ผสมผงวิเศษอุดปิดรูไว้ ปูนนั้นออกสีเทาอมขาว จะต้องดูเก่าสมอายุ และควรเกิดการงอกของปูนตรงจุดนั้น ซึ่งจะช่วยในการพิจารณาพระองค์นั้นได้อีกทาง.หนึ่ง






วันพุธที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่อกวี

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่อกวีองค์นี้ พิมพ์จะคล้ายของพระกรุวัดบางขุนพรหม เป็นพระยุคปลายเนื้อแก่ข้าวสุก ใช้น้ำมันตังอิ๊ว และน้ำอ้อยเคี่ยวเป็นตัวประสานเนื้อ (ดูจากคราบบนผิวพระ) เนื้อพระสมเด็จนั้นส่วนผสมหลักจะคล้ายกัน สิ่งที่ดูแตกต่างคือเนื้อพื้น เช่นเนื้อพื้นเป็นปูนสุก เนื้อพื้นปูนดิบ หรือเนื้อปูนสุกผสมปูนดิบเป็นต้น ส่วนเรื่องของน้ำหนักพระแต่ละเนื้อนั้น หลวงปู่คำได้เขียนบันทึกไว้ดังนี้คือ ๑. ผงเนื้อพระ ถ้าเป็นผงวิเศษทั้ง ๕ ล้วน น้ำหนักจะเบา ๒. ผงเนื้อพระ ถ้าเป็นผงผสมข้าวสุก จะมีน้ำหนักหนักกว่าผงล้วนๆ ๓. ผงเนื้อพระ ถ้าเป็นผงปูนเปลือกหอยเผา เนื้อพระจะเบากว่าเนื้อข้าวสุก ๔. ผงเนื้อพระ ถ้าเป็นปูนเปลือกหอยสดตำ แล้วแร่งเอาแต่ผงที่ละเอียดผสมผงพระกับผงเปลือกหอยสด เนื้อพระจะมีน้ำหนักหนักกว่าเนื้อข้าวสุก พระเนื้อนี้จะแลเห็นเปลือกหอยเป็นเงาเหลือบๆ อยู่ทั่วองค์พระ เนื้อพระจะแข็งแกร่งกว่าทุกเนื้อ ๕. ผงเนื้อพระ เป็นเนื้อกล้วยผสมผง น้ำหนักเหมือนข้าวสุก ๖. ผงเนื้อพระ เป็นเนื้อผงผสมผงเกสร หรือผงใบลาน เนื้อพระจะไม่มีน้ำหนัก เบากว่าทุกเนื้อ (คงรวมถึงเนื้อว่านด้วย) เท่าที่อ่านในบันทึกของหลวงปู่คำมาทั้งหมด ไม่เจอเนื้อเศษอาหารที่ฉันเหลือ หรือเนื้อที่ว่าอาหารคำไหนที่ท่านฉันอร่อยท่านจะคายออกและเก็บไว้ทำพระ ไม่มีในบันทึกคงเป็นเพียงจินตนาการของเซียนรุ่นเก่าที่เล่าสืบต่อกันมา ในบันทึกมีเพียงนำข้าวสุกมาทำเป็นเนื้อพื้นเท่านั้น.