วันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2562

เขี้ยวเสือหลวงพ่อปาน วัดมงคลโคธาวาส

วันนี้เปลี่ยนบรรยากาศมาชมเครื่องรางกันบ้าง เครื่องรางที่ได้รับความนิยมตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันไม่เสื่อมคลาย คือเขี้ยวเสือของหลวงพ่อปาน วัดมงคลโคธาวาส หรือวัดคลองด่านบางเหี้ย ถือเป็นเครื่องรางอันดับต้นๆ ที่ผู้นิยมเครื่องรางทั้งหลายอยากได้มาครอบครอง เขียวเสือที่นิยมนำมาแกะ นิยมเขี้ยวโปร่งหรือเขี้ยวกลวงเพราะถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ในตัว (เป็นความเชื่อของคนโบราณ) ส่วนเขี้ยวตันก็มี รวมทั้งปลายเขี้ยว หรือเขี้ยวซีกคือเศษเขี้ยวก็มีนำมาแกะ เพราะฉะนั้นเขียวเสือของท่านจึงมีหลายขนาด ขนาดเล็กสุดที่พบเจอมีขนาดเล็กเท่าเมล็ดข้าวเปลือก และเล็กประมาณเมล็ดถั่วเขียวก็มี ช่างที่แกะก็มีหลายฝีมือ แต่เสือที่นิยมมีอยู่สองลักษณะ คือเสืออ้าปากและเสือหุบปาก ส่วนด้านพุทธคุณนั้น เด่นทางมหาอำนาจ แคล้วคลาดปลอดภัย และคงกระพันเป็นเลิศ ลักษณะเสือของหลวงพ่อปาน คนรุ่นเก่าบอกลักษณะไว้ว่าดังนี้ "สี่นิ้ว หูหนู ตาลูกเต๋า เขี้ยวโปร่งฟ้า ยันต์กอหญ้า หน้าเหมือนแมว" ถึงจะครบสูตรตามตำรา

เพิ่มคำอธิบายภาพ



วันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2562

พระขุนแผน พิมพ์แตงกวาผ่า กรุวัดพระรูป

พระขุนแผน พิมพ์แตงกวาผ่า กรุวัดพระรูป จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพระกรุที่มีอายุเก่ากว่าขุนแผนบ้านกร่าง ขุนแผนกรุวัดพระรูปเป็นพระศิลปอู่ทองผสมลพบุรี เนื้อจัดมีทั้งเนื้อละเอียดและเนื้อหยาบ ในเนื้อมีกรวดสีขาวใสและสีขาวขุ่นผสมอยู่มาก (บางท่านเรียกพระธาตุ) พระกรุนี้มีอยู่ ๒ พิมพ์ คือ "พิมพ์ไข่ผ่า หรือ ไข่ผ่าซีก" องค์พระจะป้อมกว่ารูปทรงคล้ายไข่ ที่ถูกผ่าครึ่ง และ "พิมพ์แตงกว่าผ่า หรือแตงกว่าผ่าซีก" รูปทรงผอมกว่าดูคล้ายแตงกวาที่ถูกผ่าครึ่ง เมื่อประมาณ ๖๐ ปีก่อน พระขุนแผนไข่ผ่า ถูกจัดให้เป็นพระประธานในชุด "พระกิมตึ๋ง" ซึ่งเป็นพระเนื้อดินชื่อดังของเมืองสุพรรณเช่นกัน คนยุคนั้นว่า "แขวนพระชุดนี้ แมลงวันไม่ได้กินเลือด" เพราะขึ้นชื่อเรื่องคงกระพันและมหาอุด พระชุดนี้มี ๔ องค์คือ พระสี่กร มอญแปลง ประคำรอบ และปรกชุมพล โดยมีพระขุนแผนไข่ผ่าเป็นองค์ประธาน ซึ่งในปัจจุบันพระชุดนี้แทบเป็นตำนานไปแล้ว เพราะจะหาดูได้ครบชุดนั้นยาก.



วันเสาร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2562

เหรียญรัชกาลที่ ๙ เนื้อทองคำ ชุดเบญจมหามงคล

เหรียญรัชกาลที่ ๙ เนื้อทองคำ ชุดเบญจมหามงคล ผลิตโดยโรงกษาปณ์ B.H.Mayer Mint ประเทศเยอรมัน สร้างโดยมูลนิธิพลตำรวจเอก สล้าง บุนนาค วัตถุประสงค์ในการสร้าง เพื่อช่วยเหลือการศึกษาของ บุตรข้าราชการตำรวจที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต โดยมีพิธีพุทธาภิเษกจากทุกวัดประจำแต่ละรัชกาล เริ่มตั้งแต่ -วัดประจำรัชกาลที่ ๑ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร-วัดประจำรัชกาลที่ ๒ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร -วัดประจำรัชกาลที่ ๓ วัดราชโอรสารามราชวรวรวิหาร - วัดประจำรัชกาลที่ ๔ วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร - วัดประจำรัชกาลที่ ๕ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร - วัดประจำรัชการที่ ๖ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร - วัดประจำรัชกาลที่ ๗ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรมหาวิหาร - วัดประจำรัชกาลที่ ๘ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร - วัดประจำรัชกาลที่ ๙ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรรมวิธีในการสร้างเหรียญเป็นแบบ Matt finish ซึ่งเป็นกรรมวิธีที่ดีสุดในยุคสมัยนั้น รวมไปถึงช่างปั้นที่มีชื่อเสียงของยุโรปได้รับเลือกให้เข้าร่วมกระบวนการผลิตด้วย จัดเป็นเหรียญรัชกาลที่งดงามมากเหรียญหนึ่ง

วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2562

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่อกผาย

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่อกผาย พระองค์นี้เป็นพระเนื้อปูนสุกผสมปูนดิบ ปิดทองล่องชาดมาแต่เดิม ถึงปัจจุบัน ชาดได้หลุดล่อนไปตามกาลเวลา พระที่ปิดทองล่องชาดนี้ จะทำให้สำหรับเจ้านายในวัง หรือบุคคลชั้นสูงเท่านั้น (ในสมัยนั้น) ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาทั่วไปจะใช้รักดำ หรือรักน้ำเกลี้ยงแทน พระองค์นี้ปัจจุบันไม่ได้อยู่กับผู้เขียนแล้ว เห็นว่าเป็นพระที่งามดี และน่าสนใจ เลยนำมาให้ชมกันครับ




วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2562

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่อกวี

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่อกวี เนื้อแตกลายสังคโลก พระองค์นี้เป็นพระยุคปลายแกะแม่พิมพ์ได้งดงาม ส่วนเนื้อเป็นเนื้อแก่ปูนเปลือกหอยมุก ดูหนึกแกร่ง จัดเป็นพระที่งามองค์หนึ่ง






วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2562

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ พระองค์นี้ลงรักปิดทองมาแต่เดิม สภาพผ่านการใช้ต่อเนื่องมายาวนาน จึงทำให้พระองค์นี้เนื้อจัดเป็นพระดูง่าย พระที่สวยสภาพสมบูรณ์ก็มีความงามแบบหนึ่ง พระที่ผ่านการใช้มายาวนานนั้น ก็มีความงามอีกแบบหนึ่ง แล้วแต่คนชอบแบบไหน.