วันพุธที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2564

พระกริ่งปทุมสุริยวงศ์ บางท่านเรียก " พระกริ่งสมเด็จโต" เชื่อกันว่าพระพิมพ์นี้หลวงปู่โตปลุกเสก สร้างช่วงปลายรัชกาลที่ ๓ จากพระนิพนธ์ของ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเรื่อง "นิราสนครวัด" (ต้นแบบของพระกริ่งพิมพ์นี้) "เล่ากันว่าพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์สร้างไว้ มี ๒ อย่างเป็นสีดำอย่างหนึ่ง เป็นสีเหลืององค์ย่อมลงมากว่าสีดำอย่างหนึ่ง พระกริ่งเริ่มสร้างจากจีน ตามแบบตำราในลัทธิฝ่ายมหายานเรียกว่า "ไภสัชคุรุ" เป็นพระพุทธรูปปางทรงถือเครื่องบำบัดโรค คือบาตรน้ำมนต์ หรือผลสมอเป็นต้น สำหรับบูชาเพื่อป้องกันสรรพโรคาพาธ และอัปมงคลต่างๆเพราะฉะนั้น พระกริ่งจึงเป็นพระสำหรับทำน้ำมนต์" ส่วนพระที่ลงในวันนี้จะแตกต่างจากองค์ทั่วไปคือ มีการเปียกทอง และบุเงินมาแต่เดิม.


 

วันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564

เบี้ยแก้ของหลวงปู่บุญวัดกลางบางแก้ว เบี้ยตัวนี้เป็นเบี้ยเปลือยไม่ได้ถักเชือก เคยผ่านการลงรักน้ำเกลี้ยงและปิดทองมาก่อน ถึงปัจจุบันทองได้หายไปหมดแล้ว แต่ยังเห็นได้เมื่อใช้กล้องขยายกำลังสูงส่องดู เบี้ยเป็นเครื่องรางที่มีมาแต่สมัยอยุธยาหรือก่อน โดยได้รับอิธิพลมาจากศาสนาพราหมณ์ คนโบราณจะไม่พกพระติดตัวหรือเอาพระพุทธรูปเข้าบ้าน เพราะความเชื่อว่าพระต้องอยู่ที่วัดเท่านั้น คนยุคนั้นจึงพกเครื่องรางต่างๆติดตัวเพื่อคุ้มครองป้องกันภัยต่างๆ สำหรับเบี้ยแก้เปรียบเสมือนเป็นยาสามัญประจำบ้าน ที่ทุกบ้านต้องมี ไว้กันสิ่งอัปมงคล รวมทั้งภูตผีต่างๆ และไว้ทำน้ำมนต์เป็นยารักษาโรค ถอนพิษแมลงสัตว์กัดต่อย มีพุทธคุณครอบจักรวาล เบี้ยแก้จึงเป็นของจำเป็นต้องมีในยุคนั้น ในยุครัตนโกสินทร์ก็ยังมีการทำเบี้ยใช้กันอยู่จนถึงปัจจุบัน แต่ความเชื่อถือและค่านิยมเปลี่ยนไป จากของที่จำเป็นต้องมี กลายเป็นของสะสมและขอพึ่งพุทธคุณในบางโอกาส เบี้ยแก้ที่นิยมสะสมกันมากที่สุดในปัจจุบัน เป็นเบี้ยของหลวงปู่รอดวัดนายโรง และเบี้ยของหลวงปู่บุญวัดกลางบางแก้ว ถือเป็นเบี้ยที่หายากและมีราคาค่อนข้างสูง.







 

วันอาทิตย์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2564

พระพิมพ์หน้าโหนกอกครุฑ กรุวัดบางขุนพรหม พระองค์นี้เป็นพระกรุเก่า คือขึ้นจากกรุก่อนปี พ.ศ.๒๕๐๐ พระพิมพ์นี้จะมีขนาดเล็กกว่าพิมพ์ใหญ่ ตามบันทึกหลวงปู่คำว่า พระพิมพ์นี้แกะพิมพ์โดยช่างสิบหมู่เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๖ (ก่อนท่านได้เป็นสมเด็จ ๑ ปี) ทำแจกในงานสร้างพระหลวงพ่อโตองค์ใหญ่ (ยืน) แก่ผู้ที่เอาหินปูนทรายไปถวาย วัดบางขุนพรหมนอก (วัดอินทรวิหาร) ขณะนั้นท่านอายุย่างเข้า ๗๖ ปี และนำพิมพ์นี้มาสร้างอีกครั้ง พ.ศ. ๒๔๑๓ เพื่อบรรจุกรุวัดบางขุนพรหมใน (วัดใหม่อมตรส) เพราะฉะนั้นถ้าเจอพระพิมพ์นี้ไม่มีคราบกรุแสดงว่าสร้างปี พ.ศ. ๒๔๐๖ (ดูเนื้ออายุต้องถึงด้วยนะครับ) พระพิมพ์นี้บางคนเรียก "พิมพ์ว่าวจุฬา"