วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

พระขุนแผนเคลือบ พิมพ์อกใหญ่กรุวัดใหญ่ชัยมงคล จ.อยุธยา เป็นพระเครื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ชาติไทย สร้างโดยสมเด็จพระพนรัต วัดป่าแก้ว (พระมหาเถรคันฉ่องเป็นองค์เดี่ยวกัน ท่านเป็นพระมอญ) ท่านเป็นอาจารย์ของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และยังเป็นผู้เขียนคาถาพาหุงมหากาที่พวกเราสวดกันอยู่ทุกวันนี้ พระขุนแผนเคลือบ มี ๒ พิมพ์ คือพิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็ก พิมพ์ใหญ่มี ๒ พิมพ์คือพิมพ์ฐานสูง และพิมพ์ฐานเตี้ย แขนขวาจะทอดลงมือจับเข่าด้านใน ส่วนพิมพ์เล็กจะเรียกว่า "พิมพ์แขนอ่อน" แขนขวาจะทอดโค้งออกมือจับด้านนอกเข่า น้ำเคลือบของพระขุนแผนกรุนี้เมื่อโดนแสง สีน้ำเคลือบจะออกสีรุ้ง ชัดบ้างไม่ชัดบ้างต่างกัน พระขุนแผนเคลือบพิมพ์อกใหญ่ของกรุวัดใหญ่ชัยมงคล เป็นพระที่มีค่านิยม และ มีราคาแพงที่สุดของพระสกุลขุนแผนทั้งหมด เรื่องพุทธคุณเป็นที่ยอมรับกัน ซึ่งเป็นพระในฝันของคนหลายคนตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน.







 

วันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

พระปิดตาเนื้อผงคลุกรักหลวงปู่เอี่ยมวัดสะพานสูง ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เป็น ๑ ใน ๕ ชุดเบญจภาคีพระปิดตาเนื้อผง การดูพระปิดตาหลวงปู่เอียมนั้นมีผู้อธิบายไว้หลายตำรา แต่โดยส่วนตัวให้ความสำคัญของเนื้อและรักกับธรรมชาติเป็นหลัก เท่าที่พบเห็นพระปิดตาของท่านมีการลงรักไทยและรักจีน ส่วนตัวชอบรักจีนเพราะรักจีนนั้นหยุดนำเข้าสมัยรัชกาลที่ ๔ เพราะฉะนั้นสมัยท่านยังมีรักจีนที่ยังตกค้างอยู่ บางท่านว่ารักจีนมีใช้เฉพาะในราชสำนักเพราะเป็นของนำเข้าหายาก แต่คิดว่าพระระดับท่านน่าจะมีรักจีนใช้ ซึ่งพระของหลวงปู่ยิ้มอยู่เมืองกาญจนบุรีก็ยังมีรักจีนใช้ (หลวงปู่ยิ้มอายุน้อยกว่าหลวงปู่เอี่ยม ๒๘ ปี) รักจีนหรือรักชาด เป็นรักที่มีคุณภาพดี โดยนำยางรักมาเคี่ยวกับผงชาดจอแส ก็จะได้รักสีแดง คนโบราณจะนำรักจีนหรือรักชาดมาผสมกับรักไทยหรือรักสมุกซึ่งมีสีดำ ก็จะได้รักสีดำอมแดงคล้ายสีผลหว้าสุกหรือสีตากุ้งสีแดงเข้มตามส่วนผสมมากน้อย รักที่ลงบนพระปิดตาของหลวงปู่เอี่ยมจะลงไว้ค่อนข้างหนา จึงเกิดการกระเทาะถ้าลงบางรักจะรานและดูแห้งซีด บางตำรากล่าวว่า "พระปิดตาหลวงปู่เอี่ยมให้สังเกตจุดแดงในเนื้อ" ก็น่าจะมาจากรักจีนนี่แหละ ที่เล่ามานี้ไม่ถือเป็นตำราแต่ถ่ายทอดจากสิ่งที่เจอฝากไว้ให้พิจารณาอีกทางหนึ่ง.






 

วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ เนื้อผงผสมเทียนชัย หรือจะเรียกเนื้อเทียนชัยผสมผงก็ได้ เพราะมีเทียนชัยผสมอยู่มาก ส่วนมวลสารหลักอื่นๆก็เป็นไปตามสูตรของวัดระฆัง เปลี่ยนเฉพาะเนื้อพื้นเท่านั้น เมื่อตอนเริ่มสะสมพระช่วงแรกๆ ได้ดูหนังสือของ "พ.ต.ต.จำลอง มัลลิกะนาวิน" ในหนังสือที่ท่านเขียนมีแต่พระพิมพ์แปลกๆหลายสิบพิมพ์นับไม่ถ้วน เลยสงสัยว่าท่านรู้ได้อย่างไรว่า ท่านสมเด็จโตเป็นคนสร้างพระเหล่านี้ เพราะบางพิมพ์ก็แปลกมาก มาเข้าใจในภายหลังว่า พระของท่านสมเด็จโตที่เป็นเนื้อผง เนื้อดิน หรือเนื้ออะไรก็ตามที่ไม่ใช่พระหล่อโลหะ ท่านจะเปลี่ยนแค่เนื้อพื้นเท่านั้น ส่วนผสมมวลสารหลักต่างๆเหมือนเดิม เราจึงสามารถแยกพระของท่านออกได้.







 

วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ฐานคู่ ช่างต่อเรืออู่บางขุนพรหมนอก เป็นผู้แกะแม่พิมพ์ถวาย เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๐ ขณะนั้นท่านครองสมณศักดิ์เป็นพระครูสามัญ อายุ ๔๑ ปี เนื้อพระเป็นเนื้อผงผสมข้าวสุก ผงเกษร ผงใบลาน ผงดำ ใช้น้ำอ้อยเคี่ยวเป็นตัวประสาน หลวงปู่คำบันทึกว่า พระพิมพ์นี้ท่านทำแจกในงานฉลองสร้างกุฏิ (ศาล) โยมบิดา-มารดา ที่วัดบางขุนพรหมนอก (วัดอินทรวิหาร) ทำครั้งเดียวแจกหมด หรือจะเรียกพระชุดนี้ว่า "พระพิมพ์ฐานคู่ วัดบางขุนพรหมนอก" ก็พอได้เพราะทำครั้งเดียวและแจกที่ วัดบางขุนพรหมนอกจนหมด.