วันจันทร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2566

วันนี้ขอเขียนเรื่อง กำเนิดพระกริ่งในสยาม เท่าที่ศึกษาและเป็นความเข้าใจส่วนตัว จากหนังสือ "ช่างสิบหมู่" ของกรมศิลปากร หน้า ๒๓ ได้กล่าวไว้ว่า "เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา ช่างฝีมือได้สูญไปมาก หลังจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ได้ทรงทำนุบำรุงวิชาช่างไทยขึ้นใหม่ให้เจริญรุ่งเรืองเหมือนเมื่อครั้งที่บ้านเมืองยังดีอีกครั้ง" ซึ่งหมายความว่าเราต้องมาเริ่มต้นรวบรวมช่างที่มีฝีมือดีขึ้นใหม่ จนถึงรัชกาลที่ ๓ ซึ่งมีการค้ากับจีนเจริญรุ่งเรือง ยุคนี้เริ่มมีการสร้าง พระพุทธรูปปางต่างๆเกิดขึ้นมากมาย และคงเริ่มมีการสร้างพระกริ่งเกิดขึ้นในยุคนี้ โดยเริ่มแรกเป็นการออกแบบ แล้วส่งให้จีนปั้นขึ้นรูปแล้วหล่อเป็นองค์พระส่งกลับมา เนื่องจากเราคงยังขาดช่างที่ชำนาญการหล่อพระกริ่งในช่วงเวลานั้น หลังจากนั้นช่างสิบหมู่เริ่มมีการหล่อพระกริ่งขึ้นเอง โดยใช้สูตรผสมสัมฤทธิ์ตามตำราโบราณ มาสร้างช่วงปลายรัชกาลที่ ๓ จนเข้าสมัยรัชกาลที่ ๔ ปี พ.ศ. ๒๓๙๔ เราเริ่มมีความชำนาญในการสร้างพระกริ่งจึงงดสั่งจากจีนอีก แล้วเริ่มสร้างเองเป็นพระกริ่งไทยเต็มรูปแบบ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งเนื้อ และพิมพ์ทรง จนมาเป็นพระกริ่งปวเรศที่เราสะสมกันอยู่ และเป็นต้นแบบของพระกริ่งปัจจุบัน พระกริ่งปวเรศบางพิมพ์ก็ได้แรงบันดาลใจจากพระกริ่งจีน เช่นพิมพ์ห่มคลุมและการตอกลายดอกจีวรเป็นต้น สำหรับพระกริ่งที่ลงในวันนี้ เป็นพระกริ่งยุคต้นที่สั่งเข้ามาจากจีน.




 

วันพุธที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2566

พระผงกรุวัดสามปลื้ม พิมพ์กลีบบัว วัดสามปลื้มนี้เป็นวัดเก่าสร้างไว้ตั้งแต่สมัยอยุธยา มาเปลี่ยนชื่อเป็น วัดจักรวรรดิราชาวาสมหาวิหาร ในสมัยรัชกาลที่๒ พระกรุนี้เจอตอนรื้อถอนพระเจดีย์เก่าหลายองค์เพื่อขยายเนื้อที่ของวัด ได้พบพระที่บรรจุไว้ในเจดีย์หลายองค์ และหลายอย่าง มีอยู่เจดีย์หนึ่งที่บรรจุพระผงสีขาวเอาไว้ ซึ่งต่อมาได้เรียกพระกรุนี้ว่า "พระวัดสามปลื้ม" มีประสบการณ์จากผู้ที่แขวนติดตัว ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองมากมาย โดยเฉพาะเรื่องแคล้วคลาดคงกระพัน จึงเป็นที่นิยมเสาะหาของคนรุ่นนั้นมาก ซึ่งเป็นพระที่หายากในสมัยนั้น แต่ในปัจจุบันมีคนที่รู้จักน้อยลง ค่านิยมเปลี่ยนไป วันนี้จึงนำมาให้ชมกันลืม.