วันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2564

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ฐานแซม เนื้อว่านปิดทองร่องชาด พระสมเด็จที่ท่านสมเด็จโตท่านสร้างไว้มีหลายเนื้อ เนื้อว่านเป็นหนึ่งในเนื้อที่หายาก มีทั้งเนื้อผงผสมว่าน และเนื้อว่านผสมมวลสาร สำหรับพระองค์นี้เป็นเนื้อว่านล้วนผสมมวลสาร มีน้ำหนักเบาเหมือนโฟร์ม(ลอยน้ำได้) พระเนื้อว่านมักใช้เป็นยารักษายามเจ็บไข้ในสมัยนั้น ส่วนพระที่ปิดทองร่องชาดท่านทำไว้ให้เจ้านายชั้นสูง.





 

พระขุนแผนไข่ผ่าซีกกรุวัดพระรูป จ.สุพรรณบุรี เป็นพระยอดนิยมในสมัยรุ่นก่อนปี ๒๕๐๐ ได้ถูกนำไปเข้าชุดกับพระชุด "กิมตึ๋ง" ซึ่งมีอยู่สี่องค์ คือพระสี่กร พระมอญแปลง พระประคำรอบ และพระนาคปรกหรือ พระปรกชุมพล รวมเป็นสี่องค์ พระชุดนี้เป็นพระกรุที่ถูกพบในวัดร้าง ซึ่งอยู่ติดกับเขตวัดพระรูป เมื่อนำพระขุนแผนไข่ผ่าซีกไปรวมด้วยก็เข้าชุด ๕ องค์พอดี พระชุดนี้เด่นด้านคงกระพัน.








 

วันจันทร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2564

พระรอดกรุวัดมหาวันพิมพ์ใหญ่ ในพระชุดเบญจภาคี พระรอดถือว่าเป็นพระที่มีอายุการสร้างมากที่สุด คือประมาณ ๑,๓๐๐ ปี พระรอดนั้นได้มีการสร้างไว้หลายวาระ คือยุคต้นสร้างสมัยพระนางจามเทวีจะมีอายุประมาณ ๑,๓๐๐ ปี ยุคกลางจะมีอายุประมาณ ๑,๐๐๐ - ๑,๒๐๐ ปี สร้างโดยกษัตริย์องค์ต่อๆมา และยุคปลาย มีอายุประมาณ ๙๐๐ ปีลงมาถึง ๔๐๐ ปี สร้างโดยกษัตริย์องค์ต่อๆมาเช่นกัน (ข้อมูลจากหนังสือ เพชรน้ำเอกแห่ง หริภุญไชย เขียนโดยพระปลัดสุรเดช ดุษดินทร์) สำหรับพระรอดที่ลงในวันนี้ เป็นพระรอดยุคต้นที่มีอายุประมาณ ๑,๓๐๐ ปี โดยประมาณ.






 

วันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2564

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่อกผายเกศทะลุซุ้ม เส้นซุ้มใหญ่เป็นพระยุคกลาง







 

พระขุนแผนเคลือบพิมพ์แขนอ่อนกรุวัดใหญ่ชัยมงคล ถือเป็นพระขุนแผนที่นิยมสูงสุด เนื้อพระเป็นเนื้อดินขาวเคลือบด้วยน้ำยาแบบสุโขทัย ศิลปะช่างอยุธยาอายุพระประมาณ ๖๐๐ ปี พบที่วัดใหญ่ชัยมงคล วัดนี้แต่เดิมมีชื่อว่า วัดป่าแก้ว สันนิฐานว่าพระเจ้าอู่ทองเป็นผู้สร้างราวปี พ.ศ.๑๘๔๘-๑๙๐๓ ส่วนพระขุนแผนนั้นตามประวัติว่า เมื่อพระนเรศวรทรงกระทำยุทธหหัตถีเอาชนะพระมหาอุปราชาได้แล้ว สมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว (พระอาจารย์ของสมเด็จพระนเรศวร) รวมทั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และข้าราชการไทยทั้งปวง พร้อมใจกันสร้างพระขุนแผนเคลือบ และสร้างพระเจดีย์ใหญ่เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองพระเกียรติยศ แด่องค์สมเด็จพระนรเศวร และได้เปลี่ยนชื่อวัดจาก"วัดป่าแก้ว"มาเป็น"วัดใหญ่ชัยมงคล" จนทุกวันนี้






 

พระพิมพ์ปรกโพธิ์ ๗-๘ เนื้อผงถ่านแม่พิมพ์ ผสมผงใบลาน(วัดระฆัง) สร้างประมาณปี พ.ศ.๒๓๘๗-๒๓๙๐ หลวงสิทธิ์เป็นผู้แกะแม่พิมพ์ ถวาย ถ้าเป็นพระพิมพ์ปรกโพธิ์ของหลวงสิทธิ์ ส่วนใหญ่จะแกะพระบาทด้านซ้ายขององค์พระตกลงมาข้างหนึ่งเสมอ ให้ลองสังเกตดู ส่วนใบโพธิ์ท่านสมเด็จฯโตจะเพิ่มขึ้นครั้งละ ๑ ใบในครั้งถัดไปเช่น ครั้งนี้ทำใบโพธิ์ ๗ใบหนึ่งข้าง ๘ ใบหนึ่งข้าง ครั้งหน้าถ้าทำพระปรกโพธิ์อีกท่านก็จะทำใบโพธิ์ข้างละ ๘ ใบเรียกว่าโพธิ์๘ ผงทำพระปรกโพธิ์ท่านจะแยกไว้สำหรับทำพระปรกโพธิ์อย่างเดียวไม่นำไปปนกับการสร้างพิมพ์อื่น (หลวงปู่คำบันทึกไว้) ส่วนเนื้อผงถ่านท่านจะเอาแม่พิมพ์ไม้ที่ชำรุดแตกหักให้ตาอ้นนำไปเผา แล้วมาบดให้เป็นผงเพื่อเป็นส่วนผสมในพระของท่าน (เชื่อกันว่าเด่นทางคงกระพัน) สำหรับพระองค์นี้ใช้เนื้อผงถ่านเป็นหลัก คือใส่เป็นจำนวนมากเป็นเนื้อพื้น ชาวบ้านยุคนั้นมักเรียกพระพิมพ์นี้ว่า "พระเทพดำ" เพราะขณะนั้นท่านครองสมณศักดิ์เป็น พระเทพกวีศรีวิสุทธินายก ยังไม่ได้เป็นสมเด็จฯ




 

วันเสาร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2564

วันนี้นำพระกริ่งปวเรศปี ๒๔๑๗ ตอกจีวรลายดอก มาให้ชมสององค์ เป็นเนื้อทองผสมด้านหลังตอกโค๊ตเม็ดงาไว้ ๗ โค๊ต และเนื้อออกสีเงินซึ่งไม่ใช่เงิน ๑๐๐% ไม่ทราบเหมือนกันว่าเนื้อแบบนี้เรียกว่าอะไร สำหรับเนื้อสีเงินด้านหลังไม่มีบัว ไม่มีโค๊ต และอุดกริ่งด้านข้าง อาจจะสร้างอีกวาระที่ไม่ใช่ปี ๒๔๑๗ ก็ได้ แต่เห็นว่าเป็นพิมพ์เดียวกันเลยใส่ปี พ.ศ.เดียวกันไว้ก่อน ใครมีข้อมูลที่ถูกต้องช่วยบอกด้วย เพื่อเป็นความรู้ร่วมกันครับ.





 

พระสมเด็จพิมพ์พิเศษ พระองค์นี้เป็นพระยุคต้นเนื้อแก่ข้าวสุก ใช้น้ำอ้อยเคี่ยวเป็นตัวประสาน ฝีมือช่างชาวบ้าน นายช่างท่านนี้ได้แกะแม่พิมพ์ถวายท่านไว้หลายพิมพ์ มักเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน เช่นคนใส่บาตร พระตีระฆัง คนลากรถ และพิมพ์แจวเรือเป็นต้น (พิมพ์แจวเรือที่พบมีหลายพิมพ์ มีช่างท่านอื่นแกะไว้เช่นกัน) พระพวกนี้ควรอนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ดูได้ศึกษา ว่าพิมพ์แปลกๆแบบนี้ท่านสมเด็จโตก็ได้สร้างไว้เช่นกัน





 

วันศุกร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2564

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์พิเศษ ฝีมือช่างหลวงแกะพิมพ์ พระองค์นี้เป็นพระยุคปลายตอนต้น ราวปี พ.ศ.๒๔๐๗ วิเคราะห์จากการใช้น้ำมันตังอิ๊ว น้ำอ้อยเคี่ยว และยางไม้เป็นตัวประสาน และยังมีส่วนผสมของถ่านแม่พิมพ์อยู่มาก หลังจากยุคปลายตอนต้น พระจะแก่น้ำมันตังอิ๊วหรือใช้น้ำมันตังอิ๊วเป็นหลัก และไม่ค่อยพบถ่านแม่พิมพ์ในเนื้อพระ พระองค์นี้เกศเป็นเกศดอกลำเจียก หูช้าง ท้องร่อง มีเส้นแซมที่ฐานชั้นกลาง ๑ เส้น พระองค์นี้ผมได้มาประมาณ ๒๐ กว่าปีก่อน เมื่อได้พระมาก็นำมาทดลองวางกระทบกับหินอ่อน เพื่อฟังเสียงดูว่าเนื้อแกร่งหรือไม่ เสียงก็ใสดี ในครั้งนั้นได้นำพระมาทดลอง ๓ องค์ พระก็ไม่เสียหายแต่อย่างใด หลังจากนั้นประมาณ ๑ เดือน ได้นำพระออกมาดูใหม่ ปรากฏว่ามุมด้านหลังองค์พระผิวกระเทาะออก เลยเอาพระอีก ๒ องค์ที่ทดลองพร้อมกันมาดู ผิวก็กระเทาะหลุดออกเช่นเดียวกัน จึงนำมาเล่าสู่กันฟัง ว่าไม่ควรนำพระมาทดลองอย่างที่ผมทำ เพราะจะเสียใจภายหลัง.




 



พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ทรงเจดีย่ (ยุคปลาย) เนื้อแก่ข้าวสุก เนื้อข้าวสุกที่ท่านทำมีสองแบบคือ นำข้าวสุกมาตำเลย กับนำข้าวสุกไปตากแดดก่อนแล้วค่อยนำมาตำ เนื้อข้าวสุกที่ตากแดดก่อน ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นชิ้นข้าวเล็กๆคล้ายข้าวสารปนอยู่ในเนื้อ ส่วนที่นำข้าวสุกมาตำเลยเนื้อจะดูเหนียว อย่างพระที่ลงให้ชมในวันนี้ครับ.




 

วันพฤหัสบดีที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2564

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์เกศบัวตูมองค์นี้ หลวงวิจารณ์เจียรนัยเป็นผู้แกะพิมพ์ รูปทรงองค์พระได้สัดส่วนสวยงาม เป็นพระเก่าเก็บ ตามผิวพระมีคราบสีน้ำตาลปกคลุมไปทั่ว อันเกิดจากคราบน้ำว่านที่ระเหยคลายตัวจากเนื้อพระทีละน้อย จนจับตัวกันเป็นชั้นเป็นแผ่นครอบคลุมผิวพระไปทั่วจนพระมีสีน้ำตาล ซึ่งในพระเนื้อดินโบราณเช่นพระรอด พระผงสุพรรณ พระซุ้มกอและพระนางพญาก็มีส่วนผสมของน้ำว่านเช่นกัน น้ำว่านนอกจากเชื่อกันว่าให้คุณวิเศษต่างๆแล้ว ยังเป็นตัวที่ช่วยประสานเนื้อพระให้มีความคงทนแข็งแกร่งไม่แตกหักง่ายอีกด้วย ปัจจุบันพระองค์นี้ได้เปลี่ยนมือไปแล้ว