วันเสาร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2566

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ เนื้อกังใส บางท่านเรียกเนื้อปูนเพชร แต่โดยส่วนตัวเข้าใจว่า น่าจะเป็นพระเนื้อดินจากเมืองจีนมากกว่า ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ท่านได้สั่งดินเข้ามาจากเมือง"อันฮุย" เพื่อนำมาทำเครื่องเบญจรงค์ (โดยให้ทางวังหน้าเป็นผู้จัดทำ) และได้นำดินนี้มาสร้างพระชุดนี้ขึ้น ดินนี้อยู่ในกลุ่มดิน พอร์ซเลน (Porcelain) เป็นเซรามิกที่มีเนื้อสีขาว และมีการเคลือบผิวเป็นมัน เนื้อละเอียด บางท่านก็เรียก "ดินเกาลิน" ส่วนเนื้อปูนเพชร หรืออีกชื่อเรียก "ประทาย" นั้นเนื้อจะหยาบกว่า ปูนเพชรเป็นปูนสำหรับทำงานปั้น (ปั้นสด) ส่วนใหญ่เพื่อประดับตกแต่งศาสนสถาน เรียกกันว่างานปูนปั้น ช่างที่มีชื่อทางด้านนี้ต้องยกให้ช่างจังหวัดเพชรบุรีที่มีฝีมือโดดเด่น เป็นเลิศ เรียกว่า งานสกุลช่างเพชรบุรี งานปูนปั้นที่เก่าและงดงามดูได้ที่ หน้าบันโบสถ์วัดเขาบันไดอิฐ (วัดหลวงพ่อแดง) เป็นงานปูนปั้นไว้ตั้งแต่สมัยอยุธยา และยังมีอีกหลายวัดที่ยังเหลือไว้ให้ชม ที่พบงานปูนปั้นเก่าที่สุดคือสมัยทวารวดี สำหรับพระสมเด็จ จะเป็นปูนเพชร หรือดินจากเมืองจีน ขอให้เป็นพระที่ท่านสมเด็จโตอธิฐานจิต ก็น่าเก็บสะสมทั้งนั้นครับ.





 

วันพฤหัสบดีที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2566

พระสมเด็จวัดระฆังยุคต้น องค์พระกดพิมพ์ไว้ไม่ชัดเจน เข้าใจว่าเป็นพิมพ์ทรงเจดีย์ หรือในสมัยของท่านสมเด็จโตเรียกว่า "พิมพ์พระประธาน" ช่างชาวบ้านเป็นผู้แกะแม่พิมพ์ถวาย ดูไม่สมมาตร การตัดขอบไม่งามเหมือนงานช่างหลวง เท่าที่พบพระยุคต้นแม่พิมพ์ที่แกะโดยช่างสิบหมู่ก็มีอยู่เช่นกัน สำหรับเนื้อพระองค์นี้เป็นเนื้อผงพุทธคุณผสมข้าวสุก มีมวลสารหลักที่เห็นชัดคือ แร่โพรงเหล็กไหล หรือแร่ดอกมะขาม ที่เรียกเป็นทางการว่าแร่เฮมาไทดฺ์ (Haematite) ที่ใส่ในพระกรุเมืองกำแพงเพชร เช่นพระซุ้มกอ พระลีลาเม็ดขนุนเป็นต้น แร่โพรงเหล็กไหล หรือแร่ดอกมะขามมีในพระสมเด็จยุคต้นมากกว่าพระยุคกลาง และปลายซึ่งมีผสมไว้ในเนื้อพระเช่นกันแต่น้อย เชื่อกันว่าแร่โพรงเหล็กไหลนี้ให้คุณทางด้านอยู่ยงคงกระพัน.