วันพฤหัสบดีที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2566

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ปรกโพธิ์ ๘-๙ มีใบโพธิ์ข้างซ้าย ๘ ใบ ข้างขวา ๙ ใบ (ใบที่ ๙ เล็กเป็นการแกะใบเพิ่ม) จากหนังสือสมเด็จโต (บันทึกหลวงปู่คำ) เขียนไว้ว่าพระพิมพ์นี้ "หลวงสิทธิ์" เป็นผู้แกะแม่พิมพ์ถวาย เนื้อพระเป็นเนื้อผงผสมข้าวสุก ผงเกสร ผงใบลาน ผงใบเสมา ผงดำ ผงเก่าที่เหลือจากทำพระปรกโพธิ์พิมพ์ก่อน (ผงที่ทำพระพิมพ์ปรกโพธิ์ท่านจะแยกไว้สำหรับทำพระพิมพ์ปรกโพธิ์เท่านั้น) ใช้น้ำอ้อยเคี่ยวเป็นตัวประสาน ทำแจกในงานรับพัดยศ วัดระฆัง ขณะนั้นท่านครองสมณศักดิ์เป็นพระธรรมกิติโสภณ จ.ศ. ๑๒๑๗ หรือ พ.ศ. ๒๓๙๘ อายุ ๖๗ ปีย่างเข้าปีที่ ๖๘







 

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่อกกระบอก เนื้อปูนดิบผสมปูนสุก ใช้น้ำมันตังอิ๊วเป็นตัวประสานเนื้อพระ ช่างหลวงเป็นผู้แกะแม่พิมพ์ถวาย เป็นพระยุคปลายที่สร้างหลัง พ.ศ.๒๔๐๗ พระพิมพ์อกกระบอกนี้ เป็นพิมพ์ที่ช่างได้แรงบันดาลใจมาจากพระพุทธรูปอู่ทอง ซึ่งมีลำตัวตรงคล้ายทรงกระบอก นำมาเป็นแบบของพระพิมพ์นี้.











 

วันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2566

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์เกศบัวตูม พระองค์นี้เป็นพระยุคปลายฝีมือช่างหลวงแกะแม่พิมพ์ ที่ฐานมีเส้นแซมสองเส้น พระพิมพ์เกศบัวตูมที่ฐานมีเส้นแซมเส้นเดียวก็มี และไม่มีเส้นแซมเลยก็มี พระองค์นี้ปิดทองร่องชาดมาแต่เดิมเพื่อทำให้สำหรับเจ้านายในราชสำนัก ในสมัยนั้นชาดจะใช้เฉพาะในราชสำนัก ส่วนบุคคลธรรมดาทั่วไปให้ใช้รักน้ำเกลี้ยง หรือรักดำ เนื้อพระองค์นี้เป็นเนื้อผงผสมข้าวสุก มีปูนผสมเล็กน้อย เนื้อหนึกแกร่่งดูคล้ายกระดูก น่าเสียดายที่ตรงหน้ามีร่องตั้งแต่ตอนถอดออกจากแม่พิมพ์ แต่โดยรวมก็ดูสมบูรณ์สวยงามดี.









 

วันเสาร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2566

พระหล่อหลวงพ่อเงิน วัดบางคลานพิมพ์ขี้ตาสี่ชาย เป็นพระที่เทหล่อทีละองค์ สร้างก่อนพิมพ์นิยม เนื้อโลหะเป็นโลหะผสมหลายชนิดที่ทางวัด และชาวบ้านช่วยกันนำโลหะมาหลอมเพื่อหล่อพระ กระแสโลหะที่ได้จึงมีหลากสีในเนื้อ การหล่อโบราณผิวพระจะไม่ตึงเหมือนการหล่อเหวี่ยงในปัจจุบัน ตามผิวจะมีรูพรุน หรือรูตามด และมักมีก้อนสแลก หรือบางท่านเรียกก้อนเหล็กไหล มีสีดำเป็นมันฝังอยู่ในเนื้อ (สแลก หรือตะกรัน คือสิ่งสกปรกที่ไม่สามารถละลายในทองเหลืองได้) สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นในพระหล่อโบราณ ไม่ว่าจะเป็นพิมพ์ขี้ตา พิมพ์นิยม หรือเหรียญจอบก็ตาม ถือเป็นจุดสังเกตพระเก่าแท้ได้.