วันพุธที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2557

พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์เศษ๓ (ช่างสิปป์หมู่)

พระองค์นี้เป็นงานช่างคนละคนกับ ๒ องค์ที่ลงก่อนหน้านี้ แต่เป็นช่างสิปป์หมู่เช่นกัน ลักษณะองค์พระใกล้เคียงกับวัดเกศเข่าบ่วงมาก พระองค์นี้เป็นเนื้อ
ผงผสมข้าวสุกใช้น้ำมันตั้งอิ้วเป็นตัวประสาน (คราบออกเหลือง) แสดงว่าพระองคืนี้สร้างหลัง พ.ศ.๒๔๐๗ ซึ่งเป็นพระยุคเดียวกับพระ ๒ องค์ที่ลงไว้ก่อนองค์นี้
แต่เป็นพระคนละเนื้อ และช่างคนละคนกัน ทำไมถึงรู้ว่าสร้างหลังปี พ.ศ.๒๔๐๗ ก็เพราะหลวงวิจาร เจียรนัย แนะนำให้ใช้น้ำมันตั้งอิ้วเมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๗ และเป็นปีแรกที่หลวงวิจาร แกะพิมพ์ถวายท่านสมเด็จโต






เคยบอกไว้แล้วว่าพระเนื้อข้าวสุกที่ท่านทำมี ๒ แบบคือ ๑,นำข้าวสุกมาตำเลย  ๒,นำข้าวสุกไปตากแดดก่อนแล้วค่อยนำมาตำ พระองค์นี้เป็นพระที่นำข้าวสุกไปตากแดดก่อน ดังจะเห็นเมล็ดข้าวที่ตำไม่ละเอียดผสมอยู่ ที่วงไว้ด้วยสีฟ้า ส่วนที่วงสีเขียวคือทรายเสก ซึ่งการที่จะถ่ายให้เห็นนั้นค่อนข้างยาก
ทรายเสกนั้นจะเป็นจุดแววแสงคล้ายกากเพชร มี ๒ สี คือลีเงินและสีทอง จึงเรียกกันว่า"ทรายเงิน ทรายทอง" ของสิ่งนี้คืออะไรผู้เขียนก็ยังตอบไม่ได้ ไม่มีหลักฐานชัดเจน เคยอ่านเจอมีคนเขียนบทความว่า ท่านจารอักขระลงบนแผ่นเงินและแผ่นทอง เสร็จแล้วเอาตะไบมาตะไบให้เป็นผง ข้อมูลนี้ผู้เขียนยังไม่เชื่อ
น่าจะเป็นการจินตนาการของนักเขียนผู้นั้นมากกว่า อีกกระแสผู้เขียนเคยคุยกับผู้ใหญ่ท่านหนึ่งท่านเล่าว่า เคยได้แผ่น CD เป็นบทแปลจากภาษาบาลีที่หลวงปู่โตบันทึกการสร้างพระของท่านลงบนแผ่นเงิน แผ่นเงินนี้เจอที่วัดแห่งหนึ่งที่ท่านเคยอยู่ และได้มีการแปลเป็นภาษาไทยพร้อมบันทึก CD ไว้แต่ท่านผู้เล่าได้ทำแผ่น CD หายไป ท่านว่าในบันทึกนั้นบอกว่าส่วนผสมของพระสมเด็จนั้น มีพระธาตุเขาสามร้อยยอดด้วย ทำให้ผู้เขียนนึกถึงทรายเงินทรายทอง เพราะพระธาตุเขาสามร้อยยอดจะมีลักษณะนี้เช่นกัน ใครสะสมศึกษาเรื่องพระธาตุคงรู้ดี มีโอกาศผู้เขียนจะถ่ายภาพพระธาตุเขาสามร้อยยอดให้ดูเปรียบเทียบ
ข้อมูลหลังนี้น่าสนใจ แต่จะให้ฟันธงเลยก็ไม่ได้เพราะไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน เก็บไว้เป็นข้อมูลในการพิจารณาก็แล้วกันครับ