วันพุธที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2557

พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ (หมักกล้วย)

พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่องค์นี้เดิมทีเป็นพระที่สมบูรณ์สวยงาม มีผู้รู้ (ไม่จริง) มาบอกว่าหมักกล้วยน้ำว้าแล้วผิวจะนุ่มสวยงาม ผู้เขียนมีพระพิมพ์นี้หลายองค์ก็เลยทดลอง เพราะไม่เคยได้ยินมาก่อนจึงอยากรู้ ก็เลยเอาพระหมักกล้วยนัำว้าไว้ ๑ คืนผลออกมาก็อย่างที่เห็นนี่แหละครับ อย่าได้เอาไปทำเชียว แต่ก็มีแง่ดีตรงที่ผิวพระหายไปทำให้เห็นมวลสารด้านในชัดเจน มีมากมายหลากหลายตามที่ขยายไว้ให้ดูในภาพล่าง 



วันจันทร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2557

พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์อกตันหูยานฐานแซมแข้งสาก

วันนี้ลงพระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์อกตันหูยานฐานแซมแข้งสากให้ชมบ้าง คำว่า"อกตัน"คือไม่มีร่องตรงกลางระหว่างท้องกับหน้าอก ส่วนคำว่า"แข้งสาก"นั้นมาจาก พระชงฆ์ (ขา) ของพระซึ่งรูปทรงคล้ายสากตำข้าวจึงเรียกกันว่า"แข้งสาก" พระองค์นี้เป็นพระเนื้อหนึกแกร่งลงรักปิดทองมาแต่เดิมโดยใช้รักดำทาแล้วปิดทอง มาถึงปัจจุบันรักได้แห้งแตกระแหงหลุดร่อนตามกาลเวลา สภาพพระโดยรวมสวยพองาม



พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์อกร่องหูยานฐานแซม แข้งซ้อน

พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์อกร่องหูยานฐานแซม แข้งซ้อน องค์นี้เนื้อโดยรวมดูแห้ง ส่วนตามพื้นผนังมีคราบแป้งหรือคราบขาวเต็มผนัง แต่ในความแห้งนั้น เมื่อขยายดูเนื้อจะมีความฉ่ำนุ่มในตัว มีรอยแตกรานตามผนังรอยแตกแบบนี้เรียก รอยแตกแบบท้องนา คือมีเส้นที่ค่อนข้างลึกยิ่งถ้าเป็นพระยุคต้นบางองค์จะแตกเส้นลึกมาก ส่วนด้านหลังมีรอยแตกรานผสม พระองค์นี้จัดเป็นพระที่มีสภาพสมบูรณ์องค์หนึ่ง




วันเสาร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2557

พระสมเด็จวัดระฆัง เนื้อชินเงิน

พระองค์นี้เป็นพระวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่อกร่องเกศทะลุซุ้ม (นิยม) เนื้อชินเงิน ซึ่งเคยเล่าไว้แล้วว่าท่านสมด็จโตนั้น ท่านได้สร้างพระไว้หลากพิมพ์ หลายเนื้อมาก แต่ปัจจุบันจะรู้จักเล่นหากันเฉพาะเนื้อผงพิมพ์ของ หลวงวิจาร เจียรนัย เท่านั้น ผู้เขียนก็จะพยายามนำพระและพิมพ์ต่างๆมาให้ชมกัน ตามแต่โอกาส เพราะพระเหล่านี้คนส่วนใหญ่จะไม่รู้จัก และไม่ทราบรวมทั้งหาชมยาก หรือบางท่านอาจมีอยู่ในครอบครองแต่ไม่ทราบว่าใครสร้างก็จะได้ทราบ ส่วนพิมพ์นิยมนั้นสามารถหาดูได้ทั่วไป ส่วนเนื้อหาข้อมูลต่างๆนั้นก็ขอให้ดูและอ่านอย่างมีสติ ไม่จำเป็นต้องเชื่อทั้งหมด ผู้เขียนเพียงพยายามนำเสนอในสิ่งที่เจอ สิ่งที่ทราบมาเล่าสู่กันฟัง ให้เป็นอีกมุมมองหนึ่งตามประสาคนที่นับถือท่านสมเด็จโต และรักสะสมสิ่งที่ท่านสร้างไว้ด้วยศรัทธา






ได้ถ่ายบทความจากหนังสือ ภาพ-ประวัติ พระสมเด็จโต เขียนโดย พ.ต.ต.จำลอง มัลลิกะนาวิน หน้า๕๒ ตีพิมพ์ประมาณปี พ.ศ.๒๕๑๗

วันพุธที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2557

พระสมเด็จพิมพ์พิเศษเนื้อหินเขียว

พระองค์นี้เป็นพิมพ์เดียวกับองค์เมื่อวาน แต่เป็นเนื้อหินเขียวมีน้ำหนักมากกว่าเนื้อผงทั่วไป เนื้อนี้คนส่วนใหญ่จะไม่เคยเห็นและไม่รู้จัก เนื้อหินเขียวนี้เท่าที่ค้นข้อมูลได้
จากหนังสือ พระสมเด็จวังหน้า และ หลวงพ่อเงินฯ พิมพ์ช่างหลวงเขียนโดย "มัตตัญญูู" ข้อมูลว่าเนื้อหินเขียวนี้ได้มาจากลังกา ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ในปีพ.ศ.๒๓๕๗ ท่านได้ส่งสมณฑูตไปลังกา ทางลังกาได้ถวายหินเขียวพร้อมไม้โพธื์ต้นที่สืบต่อมาจากต้นที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้มาด้วย แต่ไม่มีบันทึกว่า ท่านสมเด็จโตท่านได้ของ ๒ สิ่งนี้มาได้อย่างไร พูดถึง "ไม้ไก่กุก" ในพระสมเด็จนั้นความจริงคือไม้โพธิ์ที่ได้มาจากลังกานี้เอง ส่วนพระพิมพ์นี้น่าจะเป็นของในวังสร้าง


ที่วงสีขมพูไว้คือผงพุทธคุณ ซึ่งมีกระจายอยู่ทั่วไป พระของท่านสมเด็จโตนั้นไม่ว่าจะเป็นเนื้อใดก็ตามจะต้องมีผงพุทธคุณเสมอ


วันอังคารที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2557

พระสมเด็จพิมพ์พิเศษ ฝีมือช่างหลวง

พระสมเด็จพิมพ์พิเศษ ฝีมือช่างหลวง โดยปกติท่านสมเด็จโตจะไม่ทำพระรูปเหมือนของท่าน มีแต่ลูกศิษย์ที่นับถือท่านได้แกะพิมพ์แล้วขอผงท่านมากดพิมพ์แล้วนำไปให้ท่านปลุกเสกให้อีกครั้ง ที่บอกว่าฝีมือช่างหลวงเพราะทางในวัง
มีช่างฝีมือดีพร้อมที่จะแกะพิมพ์หรือสร้างงานศิลปแขนงต่างๆ และพระองค์นี้ก็แกะพิมพ์ได้สัดส่วนสวยงาม ที่สำคัญพระองค์นี้เดิมได้ลงชาดมาก่อนแล้วโดนล้างออกแต่ยังเห็นที่ยังติดหลงเหลืออยู่บางส่วน ชาดนั้นในสมัยก่อนจะใช้สำหรับเจ้าเท่านั้น จึงพอสันนิษฐานได้ว่าพระองค์นี้น่าจะสร้างในวัง เนื้อพระเป็นเนื้อข้าวสุกผสมผงดูหนึกนุ่มตาและมีความเหี่ยวย่นในตัวเป็นสิ่งที่บอกถึงอายุพระ





พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ทายางไม้

พระพิมพ์ใหญ่พิมพ์นี้เป็นพิมพ์นิยม (อกผาย) ที่ได้ทายางไม้เอาไว้เพื่อรักษาเนื้อพระ และยังไม่เคยผ่านการใข้มาเลยเป็นพระที่สภาพสมบูรณ์ ส่วนมวลสารเห็นกระจายอยู่ทั่วไปหรือเรียกว่ามวลสารลอย โดยเฉพาะผงพุทธคุณเห็นชัดเจนอยู่หลายจุด.





มีดหมอหลวงพ่อเดิมทำจาก งาและเขา

มีดเล่มนี้ได้ให้ผู้รู้ช่วยดูให้ ๒ ท่านซึ่งเป็นผู้เฒ่า บอกตรงกันว่าเป็นของหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ ซึ่งใบมีดที่เป็นงานั้นได้นำชิ้นงามาค่อยๆเหลาให้บาง เพราะสมัยก่อนนั้นไม่มีเครื่องมือทุ่นแรงเหมือนสมัยนี้ ส่วนด้ามนั้นน่าจะเป็นเขากวาง ขนาดของมีดประมาณมีดปอกผลไม้
ด้ามปลายมีด ปิดด้วยงาแกะเป็นรูปหัวเม็ดทรงมันปิดท้าย โคนด้ามใช้เชือกปอถักพันไว้ ใบมีดจารอักขระทั้ง ๒ ด้าน รอยต่อระหว่างใบมีดกับด้ามใช้ชันโรงอุดไว้ มีดเล่มนี้ผู้เขียนได้มอบให้กับผู้ใหญ่ที่นับถือไปแล้วเมื่อเร็วๆนี้ วันนี้นำมาให้ชมกันว่าแบบนี้ก็มีเหมือนกัน ซึ่งหาชมยากมาก ของแบบนี้ควรอยู่กับผู้รู้จะได้ข่วยกันอนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ชมกันสืบไป







วันศุกร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2557

ต่างพิมพ์แต่ช่างคนเดียวกัน

พระ ๒ องค์นี้เป็นฝีมือช่างคนเดียวกัน มีพระปรกโพธิ์บางพิมพ์ที่เอาแม่พิมพ์เกศบัวตูมมาแกะใบโพธิ์เพิ่ม เป็นพระปรกโพธิ์

พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ปรกโพธิ์ ๗

พระพิมพ์ปรกโพธิ์องค์นี้เรียกพิมพ์ปรกโพธิ์ ๗ คือมีใบโพธิ์ข้างละ ๗ ใบ สร้างพร้อมกับพระพิมพ์เกศบัวตูมองค์ก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นเนื้อเนื้อเดียวกันและลงรักแบบเดียวกัน




พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์เกศบัวตูม

พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์เกศบัวตูม องค์นี้เป็นพระเนื้อปูนแกร่งลงรักทั้งหน้า-หลัง รักค่อนข้างหนาและแห้ง ตามอายุที่สร้างคือประมาณปี พ.ศ.๒๔๐๗