วันอังคารที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

พระองค์นี้เป็นพระพิมพ์ใหญ่อกวีเกศทะลุซุ้ม แม่พิมพ์หลวงวิจารณ์เช่นกัน อยู่ในกลุ่มเนื้อหนึกนุ่ม เห็นแถบสังฆาฏิพาดทับพระอุระค่อนข้างชัด มีคราบแป้งโรยพิมพ์กระจายอยู่ทั่วไป (เข้าใจว่าเป็นคราบแคลเซี่ยมมากกว่า) พระองค์นี้จัดว่าเป็นพระที่มีสภาพสมบูรณ์องค์หนึ่ง





วันจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่อกวี

พระสมเด็จวัดระฆังองค์นี้เป็นพระพิมพ์ใหญ่อกวี แกะแม่พิมพ์โดยหลวงวิจารณ์อีกพิมพ์หนึ่ง ซึ่งดูครั้งแรกคล้ายพิมพ์อกกระบอกแต่เมื่อดูด้านข้างจึงรู้ว่าเป็นอกวี เส้นซุ้มใหญ่เกศทะลุซุ้ม พระองค์นี้สภาพสมบูรณ์เนื้อหนึกแก่ข้าวสุก มีมวลสารต่างๆกระจายอยู่ทั่วไป ซอกแขนด้านในมีการม้วนตัว พื้นผนังองค์พระมีการยุบตัวตามกาลเวลา



พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่เนื้อผงในลาน

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่เกศทะลุซุ้มเนื้อผงในลานองค์นี้ เป็นพระยุคปลาย ฝีมือแกะพิมพ์โดย
หลวงวิจารณ์เจียรนัย เนื้อพระเป็นเนื้อผงใบลานดิบคือ นำคัมภีร์ใบลานเก่าที่ชำรุดมาเผาไฟพอเกรียมแล้วเอาน้ำดับไม่ให้ไหม้หมด ส่วนใบลานที่ไหม้หมดจนเป็นขี้เถ้าจะเรียกใบลานสุก แล้วเอาเถ้าใบลานนั้นมาตำให้ละเอียดผสมกับมวลสารอื่นๆ ที่พบเห็นมีทั้งคราบไข และไม่มีคราบไขบนเนื้อพระ หลวงปู่คำว่าพระผงใบลานไม่ต้องปลุกเสกก็ได้เพราะเป็นคัมภีร์ หรือคัมภีร์พระเวทย์ศักดิ์สิทธิ์ในตัวอยู่แล้ว พระเนื้อนี้มีจำนวนไม่มาก




วันอาทิตย์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

พระนาคปรกเนื้องาแกะหลวงพ่อเดิม

วัตถุมงคลประเภทงาแกะ เป็นวัตถุมงคลที่สร้างชื่อเสียงให้กับหลวงพ่อเดิมอย่างมาก และเป็นที่รู้จักพร้อมความต้องการของบุคคลทั่วไป ซึ่งท่านได้สร้างไว้หลายรูปแบบ มีทั้งสิงห์ หรือ สิงหราช รูปนางกวัก พระปิดตา และพระประจำวันทั้งเจ็ดเป็นต้น
ส่วนพระที่ลงไว้นี้เป็นพระนาคปรก ซึ่งเป็นพระประจำวันเสาร์ ขนาด 2x4 ซ.ม.โดยประมาณ ด้านหลังเห็นรอยจารเลือนรางเกิดจากการสัมผัสและผ่านการใช้มายาวนาน ตามซอกและร่องมีรอยลานและการเกิดแคลเซี่ยมตามผิว ซึ่งบอกถึงอายุพระว่าไม่ใช่งาใหม่ซึ่งคนโบราณจะใช้งากำจัดและงากำจายมาสร้าง ไม่ได้ฆ่าช้างเอางาเช่นปัจจุบัน งากำจัดคืองาที่หักคาต้นไม้ในขณะที่ช้างยังมีชีวิตอยู่ ถือเป็นของหายากคนโบราณเชื่อว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ในตัว ถ้านำติดตัวไปที่ใดจะเป็นมหาเสน่ห์และมหาอำนาจ ส่วนงากำจายคืองาที่แตกหักขณะที่ต่อสู้กันเอง เศษหรือชิ้นส่วนงานี้เชื่อกันว่าป้องกันเสนียด จัญไร คุณไสย์ กันสิ่งชั่วร้ายต่างๆ แม้ไม่ผ่านการปลุกเสก คนโบราณจึงนำงาทั้งสองชนิดนี้มาสร้างวัตถุมงคลและเครื่องรางต่างๆ


วันเสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ปรกโพธิ์

พระสมเด็จพิมพ์ปรกโพธิ์องค์นี้เป็นฝีมือการแกะพิมพ์ของ"หลวงวิจารณ์ เจียรนัย" ช่างทองหลวงในยุคนั้น และเป็นผู้แกะพิมพ์ที่เราในยุคนี้เรียกกันว่าพิมพ์นิยม พระพิมพ์ปรกโพธิ์นี้เท่าที่ค้นข้อมูลได้ท่านสมเด็จโตจะทำในวาระพิเศษ เช่นทำแจกฉลองพัดยศ และเนื้อที่ทำพระปรกโพธิ์ท่านก็จะแยกเก็บไว้ต่างหากสำหรับทำพระปรกโพธิ์เท่านั้น แต่มีพระอยู่สองพิมพ์ที่ท่านนำผงพระปรกโพธิ์ไปผสมด้วย คือ"พิมพ์ไกเซอร์" ทำถวาย ร.๕ (ที่เราพบกันทั่วไปนั้นไม่ใช่ เป็นพระล้อพิมพ์ไกเซอร์ ซึ่งคนโบราณเรียก"เศียรบาตรอกครุฑ") อีกพิมพ์ที่ท่านนำผงพระปรกโพธิ์ไปผสมคือ"พระสมเด็จแดงกวนอู" ท่านทำแจกเฉพาะทหารที่ไปรบกับเงี้ยวเท่านั้น ส่วนเรื่องใบโพธิ์นั้นเท่าที่พบข้อมูลท่านทำครั้งแรกแจกในงานฉลองพัดยศ ปีพ.ศ.๒๓๘๓ ครองสมณศักดิ์เป็นพระครูปริยัติธรรม อายุ๕๒ปี เป็นโพธิ์๕-๖ คือมีใบโพธิ์๕ใบ๑ข้าง ๖ใบ๑ข้าง ครั้งถัดมาท่านจะเพิ่มใบโพธิ์มากขึ้นครั้งละ ๑ ใบ ส่วนช่างแกะพิมพ์พระปรกโพธิ์นั้นมีหลายคน ช่วงแรกเป็นช่างต่อเรืออู่บางขุนพรหมนอก ถัดมาก็มีหลวงสิทธิ์และนายเจิม วงศ์ช่างหล่อ ช่วงสุดท้ายมีหลวงวิจารณ์มาช่วยแกะพิมพ์เพิ่ม หลังจากที่ท่านได้เป็นสมเด็จแล้ว




วันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

พระสมเด็จบางขุนพรหมพิมพ์ฐานคู่

ในบันทึกหลวงปู่คำเล่าว่า"มีเจ้าคณะภาคเหนือได้ถามท่านโตว่าเวลาที่ท่านโตทำการปลุกเสกพระของท่านนั้น พระคุณท่านโตได้นิมนต์พระกี่รูปที่ทำการปลุกเสกพระพิมพ์ของพระคุณท่าน ท่านโตได้ตอบว่าฉันไม่เคยนิมนต์พระรูปไหนเลย มีหลวงพี่คำกับขรัวตาพลอยเท่านั้นที่คอยช่วยให้ครบ ๓ รูปเท่านั้นที่ฉันนิมนต์ ทุกปีฉันนิมนต์ท่านมาฉันเพลบ้างฉันเช้าบ้างนั่นเป็นการทำบุญส่วนตัว มีครั้งหนึ่งที่ทำพระบรรจุกรุวัดวะรามะตาราม (วัดบางขุนพรหมใน) ได้นิมนต์พระถึง ๙ รูปมาช่วยเบิกเนตรแล้วสวดชยันโต สวดบรรจุกรุอีก นี่คือการนิมนต์พระมากที่สุดในชีวิตฉัน จึงต้องหาพระที่เป็นพระจริงๆที่บริสุทธิ์สมกับพระภิกษุ" ในบันทึกได้บันทึกพระทั้ง ๙ รูปดังนี้ ๑ ท่านสมเด็จพระพุฒจารย์โต ๒ พระครูใบฏีกา (หลวงตาพลอย) วัดระฆัง ๓ ปลัดโฮ้ วัดระฆัง ๔ พระราชธรรมวาจา (ท่านจันทร์) วัดทรงประมูล ๕ พระราช (ปู่คำ) วัดอัมรินทร์ ๖ พระครูพิพัฒน์ (ท่านเป้ง) วัดลครทำ
๗ พระเทพกวีศรีสุนทร (ท่านเซ่ง) วัดแจ้งหรือวัดอรุณ ๘ พระธรรมเมธี (รอด) วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส)
๙ พระธรรมากร (คง) วัดสะแก สรุปได้ว่าท่านสมเด็จโตทำพระของท่าน ท่านจะปลุกเสกรูปเดียวมีเพียงครั้งเดียวที่ท่านนิมนต์พระมาช่วยถึง ๙ รูปคือพระกรุบางขุนพรหม ส่วนพระที่ลงไว้วันนี้เป็นพระสมเด็จพิมพ์ฐานคู่กรุเก่า