วันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

เหรียญหลวงพ่อวัดไร่ขิง ปีพ.ศ.๒๔๖๗ เป็นเหรียญรุ่นแรกที่ทางวัดได้จัดสร้างขึ้น เหรียญเป็นทรงเสมา(คว่ำ) ด้านหน้าเป็นรูปองค์หลวงพ่อ มีรัศมีเหนือพระเศียร ด้านล่างมีข้อความ "ที่รฤก หลวงพ่อวัดไร่ขิงฯ" ส่วนด้านหลังเป็นยันต์ขมวดสี่มุม ภายในบรรจุพระคาถาไตรสรณาคมน์เต็มบท ด้านล่างมียันต์สี่ตัว อ่านว่า "พุทธะสังมิ" ซึ่งเป็นหัวใจพระคาถาไตรสรณาคมน์ ด้านล่างสุดเป็นปี พ.ศ.ที่สร้างคือ ๒๔๖๗ เหรียญหลวงพ่อวัดไร่ขิงนี้ ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในชุดเบญจภาคีเหรียญพระพุทธ ซึ่งมี เหรียญพระพุทธชินราช ปี ๒๔๖๐ เหรียญหลวงพ่อโสธร ปี ๒๔๖๐ เหรียญหลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง ปี ๒๔๖๐ เหรียญหลวงพ่อวัดบ้านแหลม ปี ๒๔๖๐ และเหรียญหลวงพ่อวัดไร่ขิง ปี ๒๔๖๗




 

วันเสาร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

พระหูยาน กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.ลพบุรี เป็นพระเนื้อชินเงิน พบครั้งแรกปี พ.ศ.๒๔๕๐ ตรงพระปรางค์องค์ประธาน พระชุดนี้จะเรียกกันทั่วไปว่าพระกรุเก่า และพบอีกครั้งปี พ.ศ. ๒๕๐๘ บริเวณเจดีย์รายหน้าพระปรางค์ (บริเวณวัดเดียวกัน) พระชุดนี้จะเรียก พระกรุใหม่ พระทั้งสองกรุจะเป็นพิมพ์เดึยวกัน สำหรับพระกรุใหม่ส่วนใหญ่จะมีคราบปรอทสีขาว ปกคลุมบนผิวพระทั้งหน้าหลัง ต่างจากกรุเก่าที่ผิวจะออกสีดำ สำหรับพระที่ลงในวันนี้เป็นพระหูยานพิมพ์ใหญ่ กรุเก่า ที่สภาพสมบูรณ์มาก





 

พระสมเด็จพิมพ์พิเศษ ปางทรมานกาย ฝีมือช่างหลวงแกะแม่พิมพ์มีความงดงามมาก จากหนังสือของ พ.ต.ต.จำลอง มัลลิกะนาวิน บันทึกไว้ว่าพระพิมพ์นี้สร้างราวพรรษาที่ ๑๔ หรือตรงกับปี พ.ศ. ๒๓๖๕ ถือเป็นพระยุคต้นของท่าน.





 

วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

พระพุทธชินราชใบเสมา หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า พระชินราชใบเสมา เป็นของกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือที่ชาวบ้านเรียกวัดใหญ่ จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน ขององค์หลวงพ่อพระพุทธชินราช พระชินราชใบเสมาจัดเป็น ๑ ใน ๕ ของชุด "พระยอดขุนพลเนื้อชิน" เป็นพระที่ได้รับความนิยมอย่างสูง ต่อเนื่องมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในหมู่ข้าราชการทหารตำรวจ พระชินราชใบเสมา เป็นพระที่สร้างแบบศิลปะอู่ทองยุคต้น พุทธลักษณะองค์พระประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย เหนืออาสนะฐานบัว 2 ชั้น ภายในซุ้มเรือนแก้ว สำหรับพระที่ลงในวันนี้เป็นพระชินราชใบเสมาพิมพ์ฐานสูง ที่มีสภาพสวยสมบูรณ์ รักเดิมยังอยู่ ตามพื้นผิวมีการงอกของเนื้อ แบบเม็ดผดเล็กๆกระจายอยู่ทั่วไป เม็ดผดนี้จะพบในพระกรุเนื้อชินเงิน เช่นพระหูยานลพบุรี และพระมเหศวร หรือพระกรุเนื้อชินเงินพิมพ์ต่างๆ เป็นจุดสังเกตพระกรุเนื้อชินเงินได้อีกทางหนึ่ง.






 

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ยุคกลาง เนื้อผงผสมข้าวสุกและดินโป่งเหลือง เนื้อข้าวสุกนั้นมีสองแบบ (เคยอธิบายไว้แล้ว) คือนำข้าวสุกมาตำเลยจนเหนียว แล้วผสมมวลสาร กับนำข้าวสุกไปตากแดดก่อน แล้วค่อยนำมาตำ เช่นพระที่ลงในวันนี้ ในปัจจุบันมีกล้องขยายกำลังสูง จึงทำให้เห็นสิ่งต่างๆได้ง่ายขึ้น ซึ่งได้ขยายไว้ให้ดูตามภาพแล้ว แม้นเนื้อพระจะแก่ข้าวสุกก็ยังเกิดคราบของ แคลไซต์ให้เห็นเช่นกัน.







 

หลวงพ่อดิ่ง คังคสุวัณโณ วัดบางวัว หรือวัดอุสภาราม จังหวัดฉะเชิงเทรา ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ ที่มีผู้คนนับถือมากท่านหนึ่งในยุคนั้น นอกจากเหรียญปั้มของหลวงพ่อดิ่งปี พ.ศ.2481 แล้ว ท่านยังได้สร้างลิงไม้แกะ ซึ่งแกะมาจากรากพุดซ้อน (ชอนไปทางทิศตะวันออก) เป็นรูปลิงนั่งตอหางวนเป็นฐานกลมเป็นรูปลิงอ้าปาก ในมือกุมอาวุธ กระบอง ตรีหรือพระขรรค์ แล้วเคลือบด้วยขี้ผึ้ง หรือทาน้ำมันจันทร์ไว้เพื่อเป็นการรักษาเนื้อไม้ ลิงของท่านเด่นทางแคล้วคลาด คงกระพัน สำหรับลิงที่ลงไว้วันนี้ เป็นลิงกุมกระบอง ด้านหลังมีจารยันต์นะ ใต้ฐานจารยันต์พุฒซ้อน หลวงพ่อดิ่งมรณภาพเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2495 อายุ 76 ปี พรรษาที่ 55



 

วันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

พระรอดพิมพ์ใหญ่ฐานพับวัดมหาวัน เป็น ๑ ในพระชุดเบญจภาคีที่มีอายุการสร้างมากที่สุดคือประมาณ ๑,๒๐๐ปี เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๑๓๑๓ พระนางจามเทวี พร้อมข้าราชบริพารได้เสด็จจากเมืองลพบุรี (เมืองละโว้ในสมัยนั้น) มาสร้างแคว้นหริภุญไชยและเป็นกษัตริย์องค์แรก แห่งราชวงศ์จามเทวี ท่านทรงให้ฤๅษี ๔ ตนเป็นผู้สร้างพระขึ้น เพื่อเป็นสื่อหรือเครื่องหมายของการขยายอาณาจักรหริภุญไชย เป็นขวัญกำลังใจให้ทหาร และเป็นการสืบอายุพระศาสนา พระรอดเป็นพระเครื่องขนาดเล็กที่มีความสวยงามในด้านศิลปมาก พุทธศิลปเป็นศิลปะผสมระหว่าง ลพบุรี/ ทวาราวดี และลังกา โดยฝีมือช่างหลวง พระรอดนั้นมีหลากพิมพ์ และหลายสี เป็นพระที่มีความแกร่งมาก แต่มีความฉ่ำนุ่มดูซึ้งตาอยู่ในองค์พระ การสังเกตพระรอดพื้นฐานนั้น ต้องมีความเหี่ยวและความฉ่ำในเนื้อพระเป็นหลัก ผิวพระต้องไม่ตึง และพระบางองค์จะปรากฏรอยเสี้ยนไม้ของแม่พิมพ์ให้เห็น แบบพระผงสุพรรณ และพระนางพญา เพราะพระโบราณจะใช้ไม้มงคลมาแกะแม่พิมพ์แล้วกดออกมาเป็นพระต้นแบบ เมื่อได้พระต้นแบบแล้วก็จะนำไปถอดพิมพ์อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ได้แม่พิมพ์จำนวนมากพอที่จะสร้างพระจำนวนมาก เพราะฉะนั้นถ้าพระองค์ใดมีรอยเสี้ยนไม้บนองค์พระ ก็จะช่วยในการพิจารณาได้ง่ายขึ้น