วันอังคารที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2561

พระร่วงนั่งหูยานเนื้อผงพุทธคุณ


วันนี้นำพระล้อพิมพ์โบราณที่ท่านสมเด็จโตได้สร้างไว้มาให้ชม พระล้อพิมพ์โบราณนี้มีอยู่มากพิมพ์ไม่สามารถรู้ได้หมด บางตำราว่าเป็นพระยุคแรกๆที่ท่านสร้าง ส่วนหลวงปู่คำบันทึกไว้ว่า พระที่มาเรียนพระเปรียญธรรมกับท่านสมเด็จโตที่วัดระฆัง เมื่อเรียนจบแล้วจะขอเนื้อผงของท่านมากดพิมพ์ โดยแต่ละคนจะหาแม่พิมพ์พระ ที่ทางบ้านตนนิยมมากดพิมพ์ เพื่อเอาไปแจกแก่ญาติโยมทางบ้านของตน บางคนก็เอาไปบรรจุไว้ตามกรุที่บ้านตน พระล้อพิมพ์โบราณเนื้อสมเด็จจึงมีมาก และมีกระจายอยู่แทบทุกภาค แต่คนที่พบเจอมักไม่รู้ที่มาที่ไป ก็จะมองข้าม ในตำราเก่าๆได้กล่าวถึงพระล้อพิมพ์โบราณไว้บ้างเหมือนกัน แต่ไม่เป็นที่ยอมรับเพราะยังไม่เข้าใจดี ในยุคปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปมาก การสื่อสารข้อมูลและอุปกรณ์ต่างๆช่วยได้มาก ไม่ว่าจะเป็นกล้องขยายกำลังสูง หรือการเช็คอายุพระจากแคลไซต์ (Calcite) ช่วยได้มากขึ้น การพิจารณาพระก็ง่ายและสะดวกมีความแม่นยำกว่าแต่ก่อนมาก ที่มีเพียงแว่นขยาย 10x เท่านั้น ส่วนผสมที่เล็กละเอียดไม่สามารถเห็นได้ด้วยกล้อง 10x ก็อาศัยเดาเอาว่าน่าจะเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ และถ้าพระปลอมเก่าเมื่อ 60-70 ปีก่อนก็มักใช้แค่ปูนพลาสเตอร์เป็นเนื้อหลัก ส่วนผสมมวลสารประกอบต่างๆที่เล็กละเอียดไม่มี เพราะไม่จำเป็นต้องใส่ กล้อง10x ส่องไม่เห็น ถ้าเจอพระปลอมเก่าที่คนรุ่นนั้นกลัวกันมาก มายุคนี้ก็สามารถแยกออกได้ไม่ยาก เพราะฉะนั้นการดูพระของคนยุคนี้จึงง่ายและสะดวกแม่นยำกว่าคนยุคเก่ามาก แต่ต้องอาศัยความรู้และความเข้าใจด้วยว่า จะส่องหาหรือดูอะไรในพระองค์นั้นๆ


วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2561

พระสมเด็จเกศไชโยพิมพ์ ๖ ชั้นอกร่อง

พระสมเด็จเกศไชโยพิมพ์ ๖ ชั้นอกร่อง เป็นพระพิมพ์แรกๆที่ท่านสมเด็จโตได้สร้างไว้ แกะแม่พิมพ์โดยช่างทำโบสถ์อ่างทอง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๗ ขณะนั้นท่านอายุ ๒๖ ปี พระพิมพ์นี้ได้ทำบรรจุกรุที่วัดไชโยวรวิหารอยุ๋ ๓ ครั้งที่มีการบันทึกไว้ แต่ที่พบเจอเข้าใจว่าที่ไม่ได้บรรรจุกรุก็มีมาก คือทำในวาระอื่นๆด้วย และทำในช่วงยุคปลายก็มี เพราะได้พบเจออยู่ พระวัดเกศบางชุด (เข้าใจว่าเป็นชุดแรกๆ) ที่มีการลบขอบสันให้เทลาดเอียงดูเรียบร้อย บางชุดก็ตัดสันตรงเหมือนพระสมเด็จทั่วไป พอสรุปได้ว่าพระพิมพ์วัดเกศนั้น ได้สร้างตั้งแต่ยุคต้นถึงยุคปลาย (ความเห็นส่วนตัวที่ได้พบเจอ) มีอยู่หลายเนื้อและหลายสภาพ มีทั้งลบสันขอบข้างและไม่ลบสันคือขอบตัดตรงปกติ พระที่ลงให้ชมวันนี้เป็นพระยุคกลางเนื้อพื้นเป็นเนื้อเปลือกหอยมุข เนื้อหนึกแกร่งมันวาว เป็นพระที่ไม่ได้บรรจุกรุ ส่วนการลงรักน้ำเกลี้ยงและปิดทองนั้น มาทำภายหลัง ซึ่งดูอายุรักทองก็หลายสิบปีมาแล้ว ไม่ได้มาปิดทองในยุคปัจจุบันนี้ ถือเป็นพระที่สภาพสมบูรณ์องค์หนึ่ง



วันเสาร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2561

พระรูปหล่อหลวงพ่อเงินวัดบางคลานพิมพ์ขี้ตา สามชาย

พระรูปหล่อหลวงพ่อเงินวัดบางคลานพิมพ์ขี้ตา สามชาย คำว่า"ขี้ตา"มาจากมีเนื้อเกินเป็นก้อน ที่ขอบตาล่างด้านซ้ายขององค์พระ พระพิมพ์นี้ช่างของวัดเป็นผู้เทหล่อที่ละองค์ โดยใช้แม่พิมพ์แบบประกบ (ต่างจากพิมพ์นิยมที่หล่อแบบช่อ) โดยเทโลหะเข้าทางฐานพระ เมื่อโลหะเย็นลงจึงนำมาถอดพิมพ์ พระพิมพ์นี้จึงมีรอยตะเข็บขอบข้าง แต่ส่วนใหญ่จะโดนแต่งลบขอบด้วยตะไบ ส่วนใต้ฐานแต่ละองค์ก็จะแตกต่างกันไป ถ้าเทโลหะมากฐานจะหนา ถ้าโลหะพอดีฐานจะบาง และมีรอยเป็นแอ่งตะปุ่มตะป่ำที่ใต้ก้นฐานองค์พระ ที่ใต้ฐานจะมีการแต่งด้วยตะไบเช่นกัน มากบ้างน้อยบ้าง บางองค์แต่งจนพื้นเรียบก็มี ส่วนเนื้อพระนั้นเป็นเนื้อโลหะผสมหลายชนิดแก่ทองเหลือง ในเนื้อพระจะมีทองคำผสมอยู่ด้วย ตามผิวพระจึงเกิดสนิมทองสีแดงให้เห็น และมีสีแก่อ่อนของสนิมตามโลหะชนิดต่างๆที่ผสมลงไปให้เห็นบนผิวพระ ต่างจากพระเลียนแบบที่จะเป็นสีโทนเดียวทั้งองค์ หรือมีแต่เนื้อทองเหลืองแล้วแต่งสีลงไป พระพิมพ์ขี้ตานี้ยังแบ่งออกเป็น ๓ พิมพ์คือ พิมพ์ ๓ ชาย ๔ ชาย และ ๕ ชาย โดยดูจากชายจีวรบนลำตัวด้านขวาขององค์พระ พระของหลวงพ่อเงินวัดบางคลาน ไม่ว่าจะเป็นพิมพ์ใดก็ตาม ล้วนเป็นที่นิยมอย่างสูงในปัจจุบัน




พระสมเด็จพิมพ์ทรงเจดีย์ วัดระฆัง

พระที่ลงวันนี้เป็นพระพิมพ์ทรงเจดีย์ วัดระฆัง สภาพผ่านการใช้เป็นพิมพ์มาตราฐานที่เล่นหากัน แกะแม่พิมพ์โดยช่างสิบหมู่ แต่เดิมพระพิมพ์นี้เรียกว่า "พิมพ์พระประธาน" ต่อมาภายหลัง ได้มาเปลี่ยนตั้งชื่อกันใหม่ว่า "พิมพ์ทรงเจดีย์" โดยให้เหตุผลว่า รูปทรง (out line) เค้าโครงของพระคล้ายเจดีย์เลยตั้งชื่อกันเสียใหม่ว่า "พิมพ์ทรงเจดีย์" จนถึงทุกวันนี้ ถ้าคนสมัยนี้ย้อนกลับไปสมัยท่านสมเด็จโตได้ แล้วบอกคนยุคนั้นว่าพระองค์นี้ชื่อ "พิมพ์ทรงเจดีย์" เขาคงแปลกใจ เพราะพิมพ์เจดีย์ในสมัยนั้นก็มีแต่เป็นอีกรูปทรงหนึ่ง พระพิมพ์นี้ทำไว้เมื่อปีพ.ศ.๒๓๗๘ (จ.ศ.๑๑๙๗) ท่านครองสมณศักดิ์เป็นพระครูปริยัติธรรม อายุ ๔๘ ปี แล้วนำพิมพ์นี้มาสร้างอีกครั้งปี พ.ศ.๒๔๑๓ เพื่อบรรจุกรุวัดบางขุนพรหมใน (จากบันทึกหลวงปู่คำ) พระที่ทำบรรจุกรุจะเป็นพระเนื้อแก่ปูน ใช้น้ำมันตังอิ๊วเป็นตัวประสานเนื้อพระ แข็งแต่เปราะ สำหรับพระองค์ที่ลงวันนี้ สร้างปีพ.ศ.๒๓๗๘ เป็นพระเนื้อผงผสมข้าวสุก ผงเกสร ผงใบลาน ผงดำ ใช้น้ำอ้อยเคี่ยวและยางไม้เป็นตัวประสาน เนื้อหนึกเหนียว สร้างที่วัดระฆัง





วันพุธที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2561

พระนางเสน่ห์จันทร์ กรุตาเถรขึงหนัง จังหวัดสุโขทัย

พระนางเสน่ห์จันทร์ กรุตาเถรขึงหนัง จังหวัดสุโขทัย เป็นพระเนื้อดินแตกกรุจากการบูรณะโบราณสถานสุโขทัย เมื่อปีพ.ศ.๒๕๐๒ที่วัดตาเถรขึงหนัง โดยกรมศิลปากรได้ขุดพบพระกรุนี้เข้าด้วยความบังเอิญ เล่ากันว่าเมื่อกรุถูกเปิดออก ได้มีกลิ่นหอมโชยอบอวลฟุ้งไปทั่วบริเวณ แม้แต่พระเครื่องก็มีกลิ่นหอมทุกองค์ สร้างความแปลกใจแก่คณะที่ขุดพบเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ ต่อมาพระพิมพ์นี้จึงถูกขนานนามว่า "พระนางเสน่ห์จันทร์" พระนางเสน่ห์จันทร์ เป็นงานศิลปสุโขทัย พุทธลักษณะเป็นพระปางมารวิชัยนั่งขัดราบบนฐานเขียง อยู่ในทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว มีขนาดสูงประมาณ ๓-๓.๒ ซ.ม. กว้าง ๒.๕ ซ.ม. เป็นพระเนื้อดินเผา ปัจจุบันเป็นพระที่มีผู้นิยมสะสมมากองค์หนึ่ง




วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2561

พระสมเด็จวัดระฆังเนื้อหินมีดโกน

 วันนี้ได้นำพระที่เคยลงไว้นานแล้วกลับมาให้ชมอีกครั้ง เพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์ พระสมเด็จวัดระฆังเนื้อหินลับมีดโกนพิมพ์ใหญ่ ดูจากแม่พิมพ์เป็นพระยุคปลาย เคยเล่าไปแล้วว่าเนื้อพระสมเด็จ ของท่านสมเด็จโต เท่าที่เคยนับมีอยู่สิบกว่าเนื้อ แต่ทุกเนื้อจะมีส่วนผสมหลักเหมือนกัน มากน้อยต่างกันเท่านั้น เปลี่ยนเฉพาะเนื้อพื้น เช่นเนื้อเทียนชัยก็ขะใช้เนื้อเทียนชัยเป็นเนื้อหลัก เนื้อชานหมากเนื้อหลักก็คือชานหมาก หรือเนื้อหินมีดโกนก็คือตัวหินมีดโกนที่นำมาบดเป็นตัวหลักเป็นต้น ผมยังไม่พบข้อมูลที่ว่าทำไมท่านถึงใช้หินลับมีดโกนมาทำพระ แต่ท่านต้องมีเหตุผลในทางที่เป็นมงคลจึงนำมาสร้าง (จะไม่ขอเดา) พระองค์ที่ลงวันนี้มีมวลสารมากและหลากหลาย มองเห็นชัดมีเศษทองคำที่เล่ากันว่าร้านทองที่บ้านหม้อนำมาถวายท่าน และเศษอัญมณีของแขกที่นำมาถวายท่านเช่นกัน เรื่องการนำของมาถวายนั้น ยังมีเศรษฐีชาวจีนได้นำตุ๊กตาหยกรูปกวนอูที่หักชำรุด มาถวายท่านสมเด็จโตเช่นกัน แล้วท่านก็ได้นำมาบดเป็นส่วนผสมพระเพราะฉะนั้นพระบางองค์ถึงพบเศษก้อนเขียวๆคล้ายหยก คนรุ่นเก่าจะเรียก "ตุ๊กตกหยกกวนอู" เชื่อว่ามีบางท่านเคยเห็น กลับมาเรื่องหินมีดโกนวันนี้ได้นำพระและแม่พิมพ์ที่เป็นหินมีดโกนมาให้ชม เป็นแม่พิมพ์ที่ใช้จริงเป็นเนื้อและสีเดียวกับพระ และได้ขยายเนื้อพระองค์นี้ให้ดูมวลสารด้วย หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆบ้างไม่มากก็น้อย และต้องขออภัยที่ใส่ตัวหนังสือบนภาพให้รำคาญตา เพราะเจอบ่อยครั้ง ที่มักถูกแอบเอาภาพและบทความไปใช้โดยไม่บอกกล่าว แต่ถ้าจะเผยแพร่เป็นความรู้โดยไม่แอบอ้างทำการค้า ยินดีครับใช้ได้ตามสะดวกครับ







วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2561

พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ปิดทองร่องชาด

พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ปิดทองร่องชาดองค์นี้เป็นพระเก่าเก็บ ไม่เคยผ่านการใช้ เป็นพระพิมพ์นิยม ผิวพระยังไม่เปิดจึงเป็นพระดูค่อนข้างยาก เมื่อขยายเนื้อขึ้นมาจะเห็นความฉ่ำของเนื้อพระ พระเก่านั้นเมื่อมองด้วยตาเปล่าจะดูแห้ง แต่เมื่อขยายดูใกล้จะเห็นความฉ่ำเสมอ ลักษณะนี้จะเป็นกับพระเก่าทุกเนื้อ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อดิน ชินหรือผง สำหรับพระองค์นี้เมื่อขยายดูเจอมวลสารไม่มากนัก (ผิวยังไม่เปิด) แต่ก็ยังพอมีให้เห็นเช่น ถ่านก้านธูป ถ่านผงใบลาน และผงอัญมณี เมื่อประมาณ 20 ปีก่อนเคยคุยเรื่องพระสมเด็จกับพ่อค้าพระท่านหนึ่ง ซึ่งมีอายุแก่กว่า แต่ก่อนที่เขาจะอธิบาย ก็เล่าถึงความลำบากในการฝากตัวเป็นศิษย์ยังกับหนังจีนกำลังภายใน ว่ายากลำบากแสนเข็น เขาบอกถึงการดูพระสมเด็จของเขาว่า อาจารย์เขาสอนมาว่า ในพระสมเด็จต้องมีโรงศพถึงจะแท้ แค่ได้ฟังเราก็มีความรู้สึกที่ไม่ดีในใจ ของเป็นมงคลทำไม่ถึงเอามาเปรียบเทียบเช่นนี้ เราก็ถามเพื่อหาความรู้ว่าคืออะไร คำตอบคือถ่านก้านธูป แล้วทำไม่ต้องเอาไปเรียกเช่นนั้น อาจคิดว่าทำให้คนสนใจและยกย่องเขามากขึ้นกระมัง จึงพยายามคิดสร้างคำศัพย์แปลกๆขึ้น โดยส่วนตัวเห็นว่าไม่สมควร ได้คุยกันครั้งเดียวก็ไม่ไปหาอีกเลย สมัยก่อนคนจะเรียนรู้เรื่องพระต้องเข้าไปหาผู้รู้รุ่นเก่า ซึ่งไม่ค่อยจะสอนใคร แต่สมัยนี้โลกเปลี่ยนไปความรู้หาได้ง่ายขึ้นมาก เทคโนโลยีก็ทันสมัย สามารถขยายดูเนื้อหาได้ชัดเจนซึ่งสมัยก่อนทำไม่ได้ บางอย่างก็อาศัยเดาเอาถูกบ้างผิดบ้าง โลกเปลี่ยนไปแล้ว ดูพระด้วยตาด้วยเหตุผล พระแท้ก็ยังมีให้เราสะสมอยู่อีกมากถ้าเราเข้าใจ






วันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2561

พระร่วงหลังรางปืนสนิมแดงพิมพ์เล็ก กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุโขทัย

พระร่วงหลังรางปืนสนิมแดงพิมพ์เล็ก กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุโขทัย ได้ถูกยกให้เป็นจักรพรรดิ์แห่งพระเนื้อชิน คู่กับพระร่วงหลังลายผ้า ลพบุรี ด้วยความงามของพุทธศิลป์และเปลี่ยมด้วยพุทธคุณ พระทั้งสองกรุนี้เป็นพระเนื้อชินเงิน แต่สภาพพระจะมีหลายแบบ แล้วแต่ว่าพระองค์นั้นเนื้อจะแก่ส่วนผสมอะไร ถ้าแก่เงินก็จะเป็นชินเงินไม่เกิดสนิมแดง ถ้าส่วนผสมองค์นั้นมีโลหะพอดีหลายชนิดก็จะเกิดสนิมหลากสี สำหรับองค์ที่นำมาให้ชมวันนี้มีส่วนผสมของตะกั่วมาก ก็จะเกิดสนิมแดงมาก เพราะฉะนั้นพระร่วงหลังรางปืน ไม่จำเป็นต้องเกิดสนิมแดงเสมอไป แต่ถ้าองค์นั้นเกิดสนิมแดง ก็จะเป็นพระดูง่ายเนื่องจากจะเกิดการแตกของเส้นใยแมงมุมให้เห็นชัดเจน ซึ่งยากแก่การปลอมเรียนแบบ ในร่องของเส้นใยแมงมุมก็จะมีสนิมไขขาวนวลแทรกอยู่ ส่วนด้านหลังก็เช่นกัน ในร่องรางปืนถูกกำหนดให้ดูตำหนิหลายแห่ง แต่เมื่อค้นภาพตามหนังสือต่างๆด้านหลังก็ไม่มีตำหนิที่ว่าทุกองค์ คือจะยึดเป็นหลักตายตัวไม่น่าจะได้ แค่เอาไว้ประกอบการพิจารณาเสริมเท่านั้น (ความเห็นส่วนตัว) การชี้ตำหนิคือการเอาพระแท้หลายๆองค์มาดู แล้วหาตำหนินั้นๆที่ตรงกัน แต่การหล่อโบราณไม่ใช่เครื่องจักร เพราะฉะนั้นจะให้เหมือนกันทุกอย่างทุกองค์ คงเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าจะนำไปขายใ้ห้ผู้รับซื้อพระอาชึพ ก็ต้องยึดตามที่เขากำหนดไว้เป็นหลัก ได้มีโอกาสสอบถามชาวบ้านเมืองศรีสัชนาลัยเรื่องการแตกกรุของพระชุดนี้ เขาว่ารุ่นพ่อรุ่นปู่ว่า พระร่วงหลังรางปืนนี้ มีบรรจุอยู่ในสิ่งก่อสร้างโดยรอบเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเจดีย์หรือใต้ฐานองค์พระ ไม่ได้มีเฉพาะที่หน้าพระปรางค์ใหญ่ที่เดียว พวกชาวบ้านจึงมีพระเหล่านี้เก็บไว้ ซึ่งแอบขุดกันตั้งแต่ยุคนั้น จะจริงหรือเท็จอย่างไรไม่ขอยืนยัน ได้ข้อมูลมาเช่นนี้ก็นำมาถ่ายทอดต่อ โดยส่วนตัวการดูพระจะดูเนื้อหาและธรรมชาติเป็นหลัก พิมพ์เป็นลอง ส่วนใครจะดูอย่างไรก็ตามถนัดเอาที่เราชอบครับ





พระร่วงยืนหลังลายผ้า จ.ลพบุรี

พระร่วงยืนหลังลายผ้า ลพบุรี เป็นพระเก่าที่ได้รับความนิยมเทียบเท่าพระร่วงหลังรางปืน จังหวัดสุโขทัย แต่พระร่วงหลังลายผ้า ลพบุรี ถูกค้นพบก่อนเมื่อปี พ.ศ. 2430 ที่บริเวณวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ และได้พบอีกสองครั้งแถวบริเวณวัดจนถึงปี พ.ศ. 2458 ส่วนการพบครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. 2515 ในเขตบริเวณแถวหน้าโรงเรียนช่างกล ลพบุรี จึงเรียกพระที่เจอชุดนี้ว่า "กรุโรงเรียนช่างกล" พระร่วงยืนหลังลายผ้านั้นมีแบบ และรูปทรงองค์พระใกล้เคียงกับพระร่วงยืนหลังรางปืน จ.สุโขทัยมาก ผิดกันที่ความคมชัดของซุ้มเรือนแก้วที่ตื้นกว่า และด้านหลังเป็นลายผ้าไม่ใช่ร่องกาบหมาก ส่วนเนื้อจะเป็นเนื้อชินเงินเหมือนกัน พระร่วงยืนหลังลายผ้านั้นแบ่งออกได้ 3 พิมพ์คือ 1.พิมพ์ใหญ่นิยม 2.พิมพ์เล็กหน้าหนู (ไม่รู้ใครช่างตั้งชื่อ ความจริงหน้าพระจะออกเรียวเล็ก) 3.พิมพ์เล็กยอดติ่ง (จะมีก้อนเนื้อเกินเป็นเม็ดเล็กๆที่ปลายยอดซุ้ม) พระที่นำมาลงในวันนี้ถือเป็นพระที่สมบูรณ์ มีคราบนวลกรุสีขาวปิดคลุมอยู่ทั่วองค์ มีตรงส่วนแขนที่ถูกสัมผัสจนนวลกรุหายไปทำให้เห็นสนิมแดงของเนื้อ ถ้าล้างนวลกรุออกหมด พระองค์นี้จะมีเนื้อสนิมแดงทั้งองค์ แต่เก็บสภาพเดิมๆไว้ดีที่สุด ก่อนจบขอคุยเรื่องวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อาจมีบางท่านที่สงสัยว่าทำไม วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จึงมีอยู่หลายแห่ง วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จะมีอยู่ตามเมืองหลักสำคัญๆ เป็นวัดหลวงในยุคนั้นๆที่บรรจุ พระบรมสารีริกธาตุ ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประดิษฐานเอาไว้ ก็จะตั้งชื่อวัดนั้นว่า
"วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ"




วันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2561

พระนางพญา

มื่อวานมีผู้ถามประวัติและเรื่องพิมพ์ของพระนางพญา วันนี้เลยขอเล่าพอสังเขป ปี พ.ศ.๒๑๐๖ พระมหาธรรมราชา ผู้ครองเมืองพิษณุโลก ได้อภิเษกเป็นพระศรีสรรเพชญ หรือเจ้าเมืองสองแคว ทรงอภิเษกสมรสกับพระวิสุทธิกษัตริย์ พระราชธิดาในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กับสมเด็จพระสุริโยทัย มีพระราชโอรส ๒ องค์คือสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กับสมเด็จพระเอกาทศรถ และพระธิดา ๑ องค์ คือ พระสุพรรณกัลยา พระมหาธรรมราชาทรงทะนุบ้านเมือง และการพระศาสนาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะที่ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือที่ชาวพิษณุโลกเรียกว่า วัดใหญ่ อันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช (ซุ้มเรือนแก้วของพระพุทธชินราชอาจจะสร้างขึ้นในยุคนี้ก็เป็นได้) วัดใหญ่นี้เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจตลอดมา ส่วนพระวิสุทธิกษัตริย์ พระชายา ทรงทะนุบำรุงและปฏิสังขรณ์วัดนางพญา ซึ่งเป็นวัดเคียงข้างกับวัดใหญ่ เหตุที่ชื่อวัดนางพญานั้น เพราะพระวิสุทธิกษัตริย์ (ผู้เป็นนางพญามหากษัตริย์) สร้างถวายเป็นพุทธบูชาอุทิศแด่พระมารดา คือสมเด็จพระสุริโยทัย และเชื่อกันว่าท่านได้สร้างพระนางพญานี้จำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์ บรรจุไว้ในพระมหาเจดีย์เพื่อสืบทอดพระศาสนาด้วย พระนางพญามีเอกลักษ์คือมีรูปทรงสามเหลี่ยม ในยุคต่อมาถ้าพระเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมก็จะเรียกว่าพระนางพญาแทบทั้งสื้น ส่วนพิมพ์นั้นแบ่งออกได้เป็น ๗ พิมพ์คือ ๑. พระนางพญา พิมพ์เข่าโค้ง ๒. พระนางพญา พิมพ์เข่าตรง ๓. พระนางพญา พิมพ์เข่าตรงมือตกเข่า ๔. พระนางพญา พิมพ์อกนูนใหญ่ ๕.พระนางพญา พิมพ์อกนูนเล็ก ๖. พระนางพญา พิมพ์สังฆาฏิ ๗.พระนางพญา พิมพ์เทวดา หรือ พิมพ์อกแฟบ เมืองพิษณุโลกมีอะไรที่น่าสนใจมากมายแฝงตัวอยู่ ใครมีโอกาสได้ไปและรู้เรื่องประวัติศาสตร์บ้าง จะไม่ผิดหวัง มีสถานที่สำคัญหลายแห่ง และผู้คนก็น่ารักครับ


วันเสาร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2561

พระนางพญาพิมพ์เข่าโค้ง กรุวัดนางพญา จ.พิษณุโลก

พระนางพญาพิมพ์เข่าโค้ง กรุวัดนางพญา จ.พิษณุโลก พระพิมพ์นี้ถือเป็นพิมพ์ที่นิยมสูงสุดของพระกรุนี้ พระองค์นี้ผ่านการใช้มามากจึงทำให้เป็นพระเนื้อจัดดูง่าย ถึงพระจะสึกไปบ้างแต่ผู้คนส่วนใหญ่ก็ยังชอบเพราะความดูง่ายนี้เอง





เหรียญที่ระลึกเบญจมหามงคล


วันเสาร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2561

พระท่ากระดาน กรุศรีสวัสดิ์

ปิดท้ายคืนนี้ด้วยพระท่ากระดาน กรุศรีสวัสดิ์อีกองค์ เป็นพระกรุวัดท่ากระดาน (กรุวัดกลาง) เช่นกัน แต่องค์นี้มีสนิมแดงปกคลุมเต็มองค์ มีคราบกรุ คราบแคลเซียม และทองที่ปิดมาแต่เดิม เป็นพระที่สวยสมบูรณณ์องค์หนึ่ง