วันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2561

พระร่วงยืนหลังลายผ้า จ.ลพบุรี

พระร่วงยืนหลังลายผ้า ลพบุรี เป็นพระเก่าที่ได้รับความนิยมเทียบเท่าพระร่วงหลังรางปืน จังหวัดสุโขทัย แต่พระร่วงหลังลายผ้า ลพบุรี ถูกค้นพบก่อนเมื่อปี พ.ศ. 2430 ที่บริเวณวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ และได้พบอีกสองครั้งแถวบริเวณวัดจนถึงปี พ.ศ. 2458 ส่วนการพบครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. 2515 ในเขตบริเวณแถวหน้าโรงเรียนช่างกล ลพบุรี จึงเรียกพระที่เจอชุดนี้ว่า "กรุโรงเรียนช่างกล" พระร่วงยืนหลังลายผ้านั้นมีแบบ และรูปทรงองค์พระใกล้เคียงกับพระร่วงยืนหลังรางปืน จ.สุโขทัยมาก ผิดกันที่ความคมชัดของซุ้มเรือนแก้วที่ตื้นกว่า และด้านหลังเป็นลายผ้าไม่ใช่ร่องกาบหมาก ส่วนเนื้อจะเป็นเนื้อชินเงินเหมือนกัน พระร่วงยืนหลังลายผ้านั้นแบ่งออกได้ 3 พิมพ์คือ 1.พิมพ์ใหญ่นิยม 2.พิมพ์เล็กหน้าหนู (ไม่รู้ใครช่างตั้งชื่อ ความจริงหน้าพระจะออกเรียวเล็ก) 3.พิมพ์เล็กยอดติ่ง (จะมีก้อนเนื้อเกินเป็นเม็ดเล็กๆที่ปลายยอดซุ้ม) พระที่นำมาลงในวันนี้ถือเป็นพระที่สมบูรณ์ มีคราบนวลกรุสีขาวปิดคลุมอยู่ทั่วองค์ มีตรงส่วนแขนที่ถูกสัมผัสจนนวลกรุหายไปทำให้เห็นสนิมแดงของเนื้อ ถ้าล้างนวลกรุออกหมด พระองค์นี้จะมีเนื้อสนิมแดงทั้งองค์ แต่เก็บสภาพเดิมๆไว้ดีที่สุด ก่อนจบขอคุยเรื่องวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อาจมีบางท่านที่สงสัยว่าทำไม วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จึงมีอยู่หลายแห่ง วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จะมีอยู่ตามเมืองหลักสำคัญๆ เป็นวัดหลวงในยุคนั้นๆที่บรรจุ พระบรมสารีริกธาตุ ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประดิษฐานเอาไว้ ก็จะตั้งชื่อวัดนั้นว่า
"วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ"




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น