เมื่อวานมีผู้ถามประวัติและเรื่องพิมพ์ของพระนางพญา วันนี้เลยขอเล่าพอสังเขป ปี พ.ศ.๒๑๐๖ พระมหาธรรมราชา ผู้ครองเมืองพิษณุโลก ได้อภิเษกเป็นพระศรีสรรเพชญ หรือเจ้าเมืองสองแคว ทรงอภิเษกสมรสกับพระวิสุทธิกษัตริย์ พระราชธิดาในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กับสมเด็จพระสุริโยทัย มีพระราชโอรส ๒ องค์คือสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กับสมเด็จพระเอกาทศรถ และพระธิดา ๑ องค์ คือ พระสุพรรณกัลยา พระมหาธรรมราชาทรงทะนุบ้านเมือง และการพระศาสนาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะที่ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือที่ชาวพิษณุโลกเรียกว่า วัดใหญ่ อันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช (ซุ้มเรือนแก้วของพระพุทธชินราชอาจจะสร้างขึ้นในยุคนี้ก็เป็นได้) วัดใหญ่นี้เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจตลอดมา ส่วนพระวิสุทธิกษัตริย์ พระชายา ทรงทะนุบำรุงและปฏิสังขรณ์วัดนางพญา ซึ่งเป็นวัดเคียงข้างกับวัดใหญ่ เหตุที่ชื่อวัดนางพญานั้น เพราะพระวิสุทธิกษัตริย์ (ผู้เป็นนางพญามหากษัตริย์) สร้างถวายเป็นพุทธบูชาอุทิศแด่พระมารดา คือสมเด็จพระสุริโยทัย และเชื่อกันว่าท่านได้สร้างพระนางพญานี้จำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์ บรรจุไว้ในพระมหาเจดีย์เพื่อสืบทอดพระศาสนาด้วย พระนางพญามีเอกลักษ์คือมีรูปทรงสามเหลี่ยม ในยุคต่อมาถ้าพระเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมก็จะเรียกว่าพระนางพญาแทบทั้งสื้น ส่วนพิมพ์นั้นแบ่งออกได้เป็น ๗ พิมพ์คือ ๑. พระนางพญา พิมพ์เข่าโค้ง ๒. พระนางพญา พิมพ์เข่าตรง ๓. พระนางพญา พิมพ์เข่าตรงมือตกเข่า ๔. พระนางพญา พิมพ์อกนูนใหญ่ ๕.พระนางพญา พิมพ์อกนูนเล็ก ๖. พระนางพญา พิมพ์สังฆาฏิ ๗.พระนางพญา พิมพ์เทวดา หรือ พิมพ์อกแฟบ เมืองพิษณุโลกมีอะไรที่น่าสนใจมากมายแฝงตัวอยู่ ใครมีโอกาสได้ไปและรู้เรื่องประวัติศาสตร์บ้าง จะไม่ผิดหวัง มีสถานที่สำคัญหลายแห่ง และผู้คนก็น่ารักครับ |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น