วันเสาร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2564

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์เส้นด้าย พระพิมพ์นี้เมื่อหลายสิบปีก่อนเป็นที่ถกเถียงกันว่า ของวัดระฆังไม่มี มีแต่ของกรุวัดบางขุนพรหม แต่ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่า ของวัดระฆังทำพิมพ์นี้ไว้ก่อนแล้ว แต่มีจำนวนไม่มาก จากบันทึกหลวงปู่คำว่า พระพิมพ์เส้นด้ายเวลากดพิมพ์เนื้อมักติดคาอยู่ในร่องแม่พิมพ์ เพราะมีเส้นที่เล็ก ทำให้กดพิมพ์พระไม่สะดวกต้องนำแม่พิมพ์ไปล้างบ่อย เลยไม่นิยมนำพิมพ์นี้มาสร้าง พระพิมพ์นี้ของวัดระฆังจึงมีน้อย เมื่อคนไม่ค่อยได้พบเห็นเลยสรุปว่าของวัดระฆังไม่มี.




 

วันอังคารที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2564

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์พิเศษ พระพิมพ์นี้สร้างก่อนท่านมรณะภาพ ๔ เดือนถือว่าเป็นพิมพ์สุดท้่ายของท่านสมเด็จโต องค์พระเป็นรูปท่านเจ้าประคุณสมเด็จ มีพัดยศทั้งสองข้าง มีซุ้มผ่าหวายครอบองค์พระ ด้านล่างเขียนว่า "สมเด็จโต" ตามบันทึกหลวงปู่คำเล่าว่า "ขุนพิทัก (นายแก้ว) เป็นผู้เอาแม่พิมพ์มาถวาย แต่ท่านโตไม่ยอมรับ และพูดว่า อาตมาจะทำพระแจกต้องเป็นรูปพระปฏิมากร ไม่ใช่เอารูปฉันไปแจก ขุนพิทักษ์ก็ไม่ยอมบอกว่าจะเอาไปแจกลูกหลาน โดยขอผงพระที่ปลุกเสกแล้วมากดพิมพ์เอง ท่านเจ้าประคุณไม่รู้จะทำอย่างไร เลยเอาแม่พิมพ์มาวางที่ถาดที่ใส่ผงผสมไว้แล้ว ขุนพิทักษ์ขอให้เณรช่วยพิมพ์พระได้ไป ๑๐๐ กว่าองค์ ผู้ที่มาในวันนั้นจะได้รับแจกพิมพ์รูปเหมือนทุกคน พวกบ้านช่างหล่อได้ไป ๔๐ กว่าองค์ พิมพ์พระได้ประมาณ ๒๐๐ องค์ เผอิญผงติดแม่พิมพ์แคะไม่ออก จึงให้ลูกน้องที่ติดตามเอาไปล้าง แม่พิมพ์ตกลงมาแตก ท่านเจ้าประคุณทราบก็ชอบใจและพูดว่า ฉันไม่เต็มใจให้พิมพ์รูปฉันแม่พิมพ์จึงตกแตก" ส่วนเรื่องประสบการณ์พระพิมพ์นี้หลวงปู่คำยังได้บันทึกไว้ว่า "มีเรื่องเล่าว่าพระพิมพ์นี้ผู้ที่ได้ไปก็เอาไปบูชาและติดตัวไว้ป้องกันอันตราย มีลูกน้องท่านขุนพิทักษ์ ชื่อหมื่นณรงค์เป็นผู้เอาแม่พิมพ์ไปล้างน้ำและตกแตก จึงได้ขอแม่พิมพ์เก็บไว้ป้องกันตัว ต่อมาขุนพิทักษ์ได้ให้หมื่นณรงค์ไปจับพวกอั้งยี่ที่สำเพ็ง ที่ก่อกวนตามร้านค้าเพื่อรีดไถเอาเงิน ได้พาตำรวจไป ๕ นาย พบหัวหน้าอั้งยี่ชื่อนายเล้ง จึงได้ขอเชิญตัวมาที่โรงพักแต่นายเล้งไม่ยอมไปกลับสั่งให้ลูกน้องรุมทำร้าย ส่วนนายเล้งเอาดาบฟันท่านหมื่นณรงค์หลายครั้งแต่ไม่เข้า ท่านหมื่นใช้ไม้กระบองตีนายเล้งหัวแตกเลือดสาดหมดสติไป พวกลูกน้องต่างก็หนีเอาตัวรอดแต่จับมาได้ ๑๒ คน นายตำรวจได้ถามหมื่นณรงค์ว่ามีอะไรดี หมื่นณรงค์จึงหยิบเอาแม่พิมพ์รูปเหมือนให้ดูเป็นที่โจษขาน และเป็นที่ต้องการของคนทั่วไป พวกนักเลงหัวไม้จะหาบูชากันมาก แต่หาไม่ค่อยได้เพราะมีน้อย พระพิมพ์นี้ผู้ที่นำไปใช้ได้ผลดีไม่ว่าจะเป็น ไม้ หอก และของมีคมทั้งหลายก็ไม่ระคายผิวแม้แต่น้อย จึงเป็นพิมพ์ที่หายากมากที่สุด" ทั้งหมดคัดลอกมาจากบันทึกหลวงปู่คำ (จากหนังสือสมเด็จโต) เอามาให้อ่านเป็นเกล็ดเล็กน้อย อย่าคิดว่าพระพิมพ์แปลกๆแบบนี้ไม่มีปลอมนะครับ เมื่อเรารู้จัก นักปลอมก็ย่อมรู้เช่นกันมีปลอมออกมาหลายปีแล้วครับต้องระวัง เมื่อหลายปีก่อนเห็นแม่ค้าแถวบางรักแขวนพระพิมพ์นี้แต่เป็นพระใหม่ เลยถามว่าได้มาอย่างไร แม่ค้าตอบว่าทำบุญที่วัดอะไรจำไม่ได้แล้วก็ได้พระองค์นี้มา แสดงว่าทางวัดได้เอาพระพิมพ์นี้มาถอดพิมพ์และสร้างขึ้นมาใหม่ไว้แจกหรือให้เช่าบูชาเช่นกันแต่แยกได้ง่ายเพราะเป็นพระใหม่ในยุคนี้.







 

วันจันทร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2564

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่เนื้อผงถ่านแม่พิมพ์ พระเนื้อนี้ท่านจะเอาแม่พิมพ์ไม้ที่แตกหักชำรุดมาบดเป็นผง แล้วนำมาสร้างพระ ผสมกับมวลสารหลักต่างๆ เนื้อพระจะออกสีดำเป็นมันเล็กน้อย ต่างจากพระเนื้อผงใบลาน พระเนื้อนี้ที่พบเจอส่วนใหญ่จะเป็นพระยุคกลาง พระยุคปลายก็พบบ้างแต่น้อย หลวงปู่คำเล่าว่าพระเนื้อนี้เด่นทางคงกระพัน






 

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ยุคต้น พระองค์นี้ไม่ใช่พิมพ์นิยมแต่เป็นพระแท้ดูง่าย ถ้าคนที่อยากได้พระสมเด็จที่ท่านสมเด็จโตสร้าง เพื่อพึ่งพุทธคุณ อยากแนะนำให้เก็บพระลักษณะนี้ เพราะเป็นพระที่แท้และดูง่าย ราคาหาสะสมได้ไม่ยาก (แต่พระอาจจะหายากสักหน่อย) ถ้าเก็บเพื่อเก็งกำไรไม่แนะนำเพราะขายไม่ได้ราคา พระองค์นี้เป็นพระเนื้อปูนเปลือกหอยมุขผสมข้าวสุก ที่บอกว่าเป็นพระยุคต้นเพราะยังไม่ใช้น้ำมันตังอิ๊วเป็นตัวประสาน ถ้าใช้น้ำมันตังอิ๊วพระจะไม่รานขนาดนี้ ส่วนที่ว่าแท้ดูง่ายเพราะการเกิดของเนื้อตามร่องที่แตกราน การเกิดของเนื้อพระจะเกิดทีละหนึ่งโมเลกุลซึ่งเล็กมาก ต้องใช้เวลากี่ปีเนื้อพระถึงจะเกิดขึ้นเต็มร่อง จนงอกนูนขึ้นมาคล้ายแผลเป็น สิ่งเหล่านี้บอกถึงอายุพระ จึงนับว่าพระองค์นี้เป็นพระเก่าแท้ดูง่าย.












 

วันอาทิตย์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2564

พระร่วงหลังลายผ้า พิมพ์ใหญ่ฐานเตี้ย กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.ลพบุรี เนื้อชินตะกั่วสนิมแดง เป็นพระที่มีพุทธศิลปงดงามคู่กับพระร่วงหลังรางปืน จ.สุโขทัย ซึ่งพระร่วงหลังลายผ้าของ จ.ลพบุรีมีอายุมากกว่า การดูพิจรณาพระเนื้อชิ้นตะกั่วสนิมแดง โดยส่วนตัวจะดูธรรมชาติของความเก่าก่อน ว่าเกิดขิ้นเป็นธรรมชาติ ดูรักว่ายังมีหลงเหลืออยู่บ้างหรือไม่ เพราะพระกรุโบราณแทบทั้งหมดมักจะลงรักไว้เพื่อเป็นการรักษาเนื้อพระ ดูชั้นของสนิมแดงจะต้องไม่ใช่สีโทนเดียวทั้งหมด สนิมแดงแต่ละจุดควรมีการไล่น้ำหนักสีอย่างเป็นธรรมชาติ (เพราะสนิมไม่ได้เกิดพร้อมกันทีเดียว) ดูการแตกลายใยแมงมุม และการแตกลายมุ้งหรือลายตะข่ายที่กลมกลืนกัน ถ้าทุกอย่างดูเป็นธรรมชาติก็จะมั่นใจว่าใช่ (ซึ่งอาจจะไม่ใช่ก็ได้ในสายตาท่านอื่น) จะไม่นำพระของเราไปแห่ เพราะทุกคนต่างเกิดไม่ทันทั้งสิ้น ถ้าเรามั่นใจเราก็เก็บ ในฐานะที่ตัวเองจบศิลป ทำงานเกี่ยวกับศิลปมาตลอดชีวิต ใครปลอมพระได้ขนาดนี้ซึ่งตัวเองไม่มีปัญญา ก็ยินดีที่จะจ่ายให้เป็นค่าฝีมือด้วยความเต็มใจครับ.










 

วันศุกร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2564

วันนี้ 17 เมษายน ตรงกับวันเกิดของท่านสมเด็จโต ท่านเกิดวันพฤหัส ขึ้น12ค่ำ เดือน 5 ปีวอก จ.ศ.1150 ตรงกับวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2331 จึงขอนำพระที่ท่านสร้างไว้มาลงให้ชม พระองค์นี้เป็นพระพิมพ์ฐานแซมวัดระฆังยุคปลาย สภาพผ่านการใช้จึงทำให้พระดูง่ายขึ้น มีหลายสิ่งที่บอกถึงความเก่า เช่นการยุบตัวม้วนตัว การงอกของเนื้อที่อายุต่างกัน การเกิดเนื้อที่ซ่อมแซมตามร่องรอยแตกราน และการเกิดแคลไซต์ ซึ่งสมัยก่อนเมื่อเห็นคราบขาวๆบนผิวพระ เราก็จะเรียกกันว่า "คราบแป้งโรยพิมพ์" แต่ปัจจุบันเมื่อมีเครื่องมือที่ดีขึ้น และผู้ที่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาทำการศึกษาเนื้อพระสมเด็จมากขึ้น จึงแยกได้ว่าสิ่งที่เรียกว่า "คราบแป้ง" นั้นแท้จริงคือแร่ อะราโกไนท์ (Aragonite) ผสมปนกับแร่ แคลไซต์ (Calcite) ซึ่งเกิดจากแคลเซี่ยมจากปูนเปลือกหอย ที่เป็นส่วนผสมหลักของเนื้อพระ จึงทำให้เกิดฝ้าขาวๆคล้ายคราบแป้ง ในปัจจุบันมีวิธีที่จะตรวจพระแท้ได้มากและง่ายขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา แต่เราก็ต้องมีองค์ความรู้ประกอบด้วย ถ้ามีเครื่องมือดีแต่ไม่มีความรู้ ก็จะไม่เกิดประโยขน์ตามที่ต้องการ





 



วันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2564

พระปิดตาหลวงปู่ยิ้มพิมพ์สังกัจจายน์ พระปิดตาของท่านมีพิมพ์ชะลูด พิมพ์ยืดคอขวด และพิมพ์สังกัจจายน์ พระผงของท่านนอกจากมวลสารต่างๆที่ท่านสะสมเป็นเวลาสามปีแล้ว ข้อมูลจากหนังสือ"ย้อนถิ่นกำเนิด หลวงปู่เฒ่ายิ้ม จันทโชติ" จัดพิมพ์โดย "ตระกูลบัวขม" ได้บันทึกไว้ว่าในพระปิดตาของท่านมีผงพุทธคุณของ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) สังฆราชองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระราชทานให้หลวงปู่กลิ่นซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่านมา ๑ กะลา และผงพุทธคุณของท่านสมเด็จโต ๑ กะลาได้ตกทอดมาถึงท่าน นอกจากนั้นยังได้ผงจากหลวงปู่จีน วัดท่าลาดเหนือ ผงจากหลวงพ่อแก้ว วัดปากทะเล และยังผงพระเก่าที่แตกหักจากกรุพระของจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งหลวงพ่อเนียมนำมามอบให้ พอสรุปได้ว่าพระปิดตาของท่านสร้างด้วยวัตถุมงคลมากมาย ในหนังสือยังได้บันทึกว่าท่านแจกพระปิดตาให้แก่ศิษย์ของท่าน ๓ ครั้ง คือ ครั้งแรกท่านมอบให้ หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ เพื่อให้นำไปจำหน่ายจ่ายแจก นำรายได้ไปสร้าง วัดเสด็จ ครั้งที่ ๒ ท่านมอบให้ หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม นำไปแจกให้บรรดาลูกศิษย์ท่านเนื่องในโอกาสที่ท่านได้รับตำแหน่ง พระอุปัชฌาย์ ครั้งที่ ๓ ท่านได้มอบพระให้กับ หลวงปู่ศุขวัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท มากถึงพันกว่าองค์ วัตถุประสงค์ที่มอบให้นั้นไม่ได้ระบุไว้ชัดเจน ขอกล่าวถึงหลวงปู่กลิ่นพระอุปัชฌาย์ของท่าน ซึ่งเป็นปรมาจารย์ที่เรืองเวทย์ มีบรรดาอริยะสงฆ์ที่เป็นศิษย์ของท่านในยุคนั้นคือ ๑.หลวงปู่เนียม วัดน้อย ๒.หลวงปู่ม่วง วัดบ้านทวน ๓.หลวงปู่ปาน วัดบางเหี้ย ๔.หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก ๕.หลวงปู่สุ่น วัดบางปลาหมอ ๖.หลวงปู่ศุข วัดมะขามเฒ่า ๗.หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว ๘. หลวงพ่อเฒ่ายิ้ม วัดหนองบัว พระอุปัชฌาย์กลิ่น เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๐๑ มรณะภาพปี พ.ศ. ๒๔๑๘ รวมสิริอายุ ๑๑๗ ปี.







 

พระสมเด็จองค์นี้เป็นเนื้อดิน พิมพ์เล็ก ที่เรียกพิมพ์เล็กเพราะมีขนาดเท่าพระคะแนน แต่พระคะแนนของท่านสมเด็จโตนั้นจะมีขนาดใหญ่กว่าพิมพ์ธรรมดาข้างละก้านไม้ขีดเรียกคะแนนร้อย ส่วนคะแนนพันก็จะใหญ่กว่าคะแนนร้อยข้างละก้านไม้ขีด คะแนนหมื่นจะใหญ่กว่าคะแนนพันข้างละก้านไม้ขีด ข้อมูลนี้จากบันทึกของ "หลวงปู่คำ" พระองค์นี้ท่านตั้งใจทำให้เล็ก อาจไว้แจกเด็ก และผู้หญิงก็เป็นได้ พระเนื้อดินนั้นทำยากกว่าเนื้อผงซึ่งเคยอธิบายไว้แล้ว การใส่ผงพุทธคุณในเนื้อดินนั้นมี ๒ แบบคือผสมมวลสารและผงพุทธคุณลงไปในเนื้อเลย และการโรยผงพุทธคุณไว้ด้านหลังแล้วนำดินมาปิดทับอีกครั้ง ด้านหลังจะนูน พระองค์นี้เป็นแบบที่ ๒ คือโรยผงพุทธคุณไว้ด้านหลัง




 

วันอังคารที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2564

พระหลวงพ่อปาน พิมพ์ไก่หางพวง เป็นพิมพ์ที่นิยมสูงสุดของชุดพระพิมพ์ขี่สัตว์ทั้งหลายซึ่งมี สัตว์พาหนะ ๖ ชนิดคือ ไก่ ครุฑ หนุมาน ปลา เม่น และนก หลวงพ่อปานแห่งวัดบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ท่านเกิดปีพ.ศ. ๒๔๑๘ มรณะภาพปี พ.ศ. ๒๔๘๑ พระที่ท่านสร้างเป็นเนื้อดินเผาทรงสี่เหลี่ยมมุมมน ด้านบนขอบขององค์พระจะบรรจุผงพุทธคุณเอาไว้ แล้วปิดรูด้วยปูน เหมือนเป็นยาให้ผู้คนไว้ใช้ยามเจ็บป่วยในยุคนั้น เพราะสมัยนั้นยังไม่มีอนามัยหรือโรงพยาบาลเช่นในปัจจุบัน พระของท่านนอกจากดีเด่นทางรักษาโรคภัยไข้เจ็บแล้ว ผู้คนก็ยังมักนิยมนำมาทำน้ำมนต์ประพรมสินค้า เพื่อให้ขายของดีอีกด้วย คือเด่นทางเมตตาด้วยเช่นกัน หลวงพ่อปานท่านมีชื่อเสียงเรื่องย้นต์เกราะเพชร และได้ถ่ายทอดวิชานี้ให้กับหลวงพ่อฤษีลิงดำลูกศิษย์ของท่าน จนหลวงพ่อฤษีลิงดำก็โด่งดังเรื่องยันต์เกราะเพชรเช่นกัน