วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

"พระคง" กรุวัดพระคงฤาษี จังหวัดลำพูน

"พระคง" กรุวัดพระคงฤาษี เป็นพระที่มีชื่อเสียงอีกพิมพ์หนึ่งของจังหวัดลำพูน เป็นพระยุคเดียวกับพระรอดลำพูน หรือเมือง "นครหริภุญไชย" วัดพระคงฤาษีเป็น ๑ ใน ๔ วัดสำคัญที่ประจำจตุรทิศของพระนคร ตอนสร้างเมือง เพื่อเป็นการคุ้มครองพระนครให้พัฒนาสภาพปราศภัยจากพิบัติทั้งปวง ชาวลำพูนเรียกวัดทั้ง ๔ นี้ว่า "วัดสี่มุมเมือง" มี ๑.วัดอาพัทธาราม หรือวัดพระคงฤาษี ประจำอยู่ฝ่ายทิศเหนือ (วัดนี้พบพระคงเป็นหลัก) ๒. วัดอรัญญิกรัมมการาม หรือวัดดอนแก้ว ประจำด้านทิศตะวันออก (วัดนี้พบพระสาม พระป๋วย พระบาง และพระเปิม) ๓. วัดมหาสัตตาราม หรือวัดสังฆาราม หรือวัดประตูลี้ ประจำทางทิศใต้ (วัดนี้พบพระเหลี้ยมเล็กพิมพ์นิยม พระข้าวควบ พระลือหน้ามงคล พระสิบแปด พระเหลี้ยมหม้อ) ๔. วัดมหาวนาราม หรือวัดมหาวัน ประจำทิศตะวันตก วัดนี้ที่บรรจุพระรอดที่เรารู้จักกันดี พระคงมีการแตกกรุ และมีการขุดค้นพบเจออยู่หลายครั้ง ข้อมูลจากหนังสือ"พระคง โดยทีมงานพระเมืองเหนือ" เล่าว่า "การพบพระในกรุวัดพระคงฤาษีนี้พบเรี่ยราดอยู่ตามพื้นดินบ้าง แต่ส่วนใหญ่ต้องขุดลงไปบ้าง เหตุเพราะในอดีตพระบรรจุไว้ในเจดีย์ กาลเวลาผ่านไปนับพันปีเจดีย์จึงพังทลายลงมา และมีการนำทั้งเศษอิฐเศษปูนของเจดีย์ไปถมตามบ่อต่างๆ ในบริเวณวัด พระจึงติดไปด้วยนั่นคือเหตุที่ว่าทำไมพระจึงอยู่ตามพื้นดิน" พระคงแตกกรุครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้พระทั้งสิ้น ๑๒,๘๐๐ องค์ เป็นพระคงทรงพระบางราว ๒๐๐ องค์ บริเวณที่พบคือใต้พื้นพระอุโสถ.






วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

พระขุนแผนพิมพ์ห้าเหลี่ยมอกใหญ่ กรุวัดบ้านกร่าง จังหวัดสุพรรณบุรี

"พระขุนแผนพิมพ์ห้าเหลี่ยมอกใหญ่" เป็นพิมพ์ที่นิยมสูงสุดของพระกรุวัดบ้านกร่าง จังหวัดสุพรรณบุรี พระพิมพ์นี้มีลักษณะพิมพ์ทรงเหมือนกับ พระขุนแผนเคลือบ กรุวัดใหญ่ชัยมงคล จังหวัดอยุธยา จึงสันนิฐานกันว่าน่าจะเป็นพระยุคเดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน เพราะฝีมือช่างเป็นศิลปสกุลช่างเดียวกัน เนื้อของพระกรุบ้านกร่างมีกรวดทราย ผสมอยู่ในเนื้อพระทั่วไป บางท่านก็เรียก "พระธาตุ" เอกลักษณ์ของพระกรุนี้คือรอยว่านหลุด ซึ่งมีลักษณะเป็นหลุมตื้นๆทรงยาวอยู่ตามผิวพระ และมีรารักสีดำซีด ให้เห็นมากน้อยแล้วแต่ พระแต่ละองค์ สำหรับพระที่ลงให้ชมในวันนี้ ได้ผ่านการใช้สัมผัสมาจึงทำให้ผิวพระที่อยู่ด้านบนมีความฉ่ำ ส่วนพื้นที่อยู่ต่ำมีความนวลดูงามตา จัดเป็นพระที่งามสมบูรณ์องค์หนึ่ง







วันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

พระรอดกรุวัดมหาวันพิมพ์ใหญ่ จังหวัดลำพูน

พระรอดกรุวัดมหาวันพิมพ์ใหญ่ เนื้อเขียวหินครก จังหวัดลำพูน พระรอดมีอยู่หลายพิมพ์ หลายเนื้อ และในปัจจุบันมีออกมาหลายวัด แต่ที่เป็นต้นแบบเลยคือของกรุวัดมหาวัน ฝีมือช่างหลวงยุคต้น ที่สร้างสมัยพระนางจามเทวี พระรอดองค์นี้เป็นพระยุคต้น เนื้อแกร่งสีออกเขียวเหลือบฟ้า คราบฝ้าที่พื้นผนังพระติดแน่น อาจารย์บางท่านว่ามีส่วนผสมของหิน ส่วนอีกอาจารย์บอกว่าเป็นพระแก่ไฟ จะทฤษฎีไหนก็ตาม ขอให้พระองค์นั้นแท้เป็นใช้ได้ครับ.




วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์เกศบัวตูม

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์เกศบัวตูม พระองค์นี้เป็นพระยุคปลาย (นิยม) เป็นพระที่ผ่านการใช้มาพอสมควร ผิวเปิดทำให้เห็นมวลสารต่างๆกระจายอยู่ทั่วองค์พระ ตามผนังมีแคลไซต์สีขาว (บางท่านเรียกคราบแป้ง) ตามเส้นขอบซุ้มมีการหดตัวและม้วนตัว จัดเป็นพระที่ดูง่ายองค์หนึ่ง.





วันอังคารที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

พระกำแพงลีลาเม็ดขนุน จังหวัดกำแพงเพชร

พระกำแพงลีลาเม็ดขนุน จังหวัดกำแพงเพชร เป็นศิลปะแบบสุโขทัยเป็นพระกรุเดียวกับพระกำแพงซุ้มกอ ในอดีตพระกำแพงลีลาเม็ดขนุน ได้รับความนิยมสูงกว่าพระกำแพงซุ้มกอ ได้ถูกจัดให้อยู่ในชุดเบญจภาคี แต่ด้วยความหายากและมีรูปทรงที่ยาว ไม่ค่อยเข้าชุดกับพระพิมพ์อื่นในชุด จึงได้เปลี่ยนเเอาพระกำแพงซุ้มกอมาเข้าชุดแทน พระกำแพงลีลาเม็ดขนุนมีอยู่ ๒ พิมพ์ คือพิมพ์ใหญ่ และพิมพ์เล็ก เป็นพระเนื้อดินละเอียดผสมว่าน และยังพบเนื้อชินเงิน เนื้อว่านหน้าเงินและหน้าทองอีกด้วย ส่วนพระเนื้อดินผสมว่านที่พบมีอยู่ ๔ สีคือ สีแดง สีเหลือง สีเขียว และสีเขียวอมดำ (สีพระที่ลงให้ชมวันนี้) ด้านพุทธคุณ พระสกุลกำแพงเพชร ล้วนเด่นด้านโภคทรัพย์ เมตตามหานิยม และแคล้วคลาด.




วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

พระนางพญาพิมพ์เข่าโค้ง จังหวัดพิษณุโลก

พระนางพญากรุวัดนางพญานี้ เป็นพระยอดนิยมอันดับหนึ่งของเมืองพิษณุโลก และเป็นหนึ่งในพระชุดเบญจภาคี พระนางพญาพิมพ์เข่าโค้งถือเป็นพิมพ์ที่นิยมสูงสุด รองลงมาจะเป็นพิมพ์เข่าตรง พิมพ์อกนูนใหญ่ พิมพ์สังฆาฏิ พิมพ์อกนูนเล็ก และพิมพ์เทวดาอกแฟบตามลำดับ เนื้อพระจะปรากฏกรวด แร่ ทรายปะปนอยู่กับแร่ดอกมะขาม เอกลักษณ์ของพระนางพญานั้น คือรอยตอกตัดทั้งสามด้าน ซึ่งในร่องรอยตัดนั้น จะทิ้งริ้วรอยธรรมชาติไว้ให้พิจารณาในพระแต่ละองค์ ส่วนเนื้อพระนั้นแบ่งออกได้เป็น ๓ กลุ่มคือ ๑.ชนิดเนื้อละเอียดปนหยาบ ๒.เนื้อหยาบและ ๓.เนื้อแก่แร่ พระนางพญานั้นได้รับสมญานามว่า "ราชินีแห่งพระเครื่อง"





วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

พระรอดพิมพ์ใหญ่กรุวัดมหาวัน จังหวัดลำพูน

พระรอดพิมพ์ใหญ่กรุวัดมหาวัน จังหวัดลำพูน เป็น ๑ ในชุดพระเบญจภาคีที่มีอายุมากที่สุด คือประมาณ ๑,๓๐๐ ปี สร้างโดยพระนางจามเทวี พระรอดเป็นพระที่มีขนาดเล็ก แต่มีพุทธศิลปที่ละเอียดงดงามมาก เนื้อพระรอดนั้น มีทั้งเนื้อละเอียด และเนื้อละเอียดปนหยาบ มีความแกร่งสูง สีของพระรอดมีผู้รวบรวมไว้มีมากกว่า ๓๐ สี สำหรับพระรอดที่ลงไว้นี้เป็นพระรอดเนื้อละเอียด มีความเหี่ยวย่นของเนื้อพระชัดเจน ตามร่องผนังมีรอยเซี่ยนไม้ บนองค์พระปรากฏลายนิ้วมือบางส่วน แต่ด้านหลังมีรอยนิ้วมืออยู่เต็ม สำหรับพิมพ์ของพระรอดนั้น ได้แบ่งออกเป็น ๕ พิมพ์คือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก พิมพ์ต้อ และพิมพ์ตื้น.




วันพุธที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ทรงเจดีย์

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ทรงเจดีย์ พระองค์นี้เป็นพระเนื้อผงปูนสุก ผสมปูนดิบ อยู่ในกลุ่มพิมพ์และเนื้อนิยมองค์หนึ่



เขี้ยวเสืออ้าปาก หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย จ.สมุทรปราการ

เขี้ยวเสืออ้าปาก หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย จ.สมุทรปราการ ในตำรากล่าวไว้ว่า ช่างที่แกะเสือให้หลวงพ่อปานนั้น มีอยู่สองสำนัก (ไม่นับช่างชาวบ้านทั่วไป) คือสำนักของช่างนิล และช่างมา ส่วนใหญ่ช่างจะแกะเขียวขนาดใหญ่ที่กลวง เป็นเสืออ้าปาก และแกะเขี้ยวขนาดเล็กหรือเศษเขี้ยว เป็นเสือหุบปาก สำหรับเสืออ้าปากตัวที่ลงในวันนี้ มีขนาดตามความยาวของฐานประมาณ ๑.๒ ซ.ม. สูงประมาณ ๑.๕ ซ.ม. ฝีมือการแกะประณีตสวยงาม รอยจารคมชัด เนื้อเขี้ยวฉ่ำใสดั่งเทียน จัดเป็นเขี้ยวเสือที่สวยงามสมบูรณ์ตัวหนึ่ง.