วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

"พระคง" กรุวัดพระคงฤาษี จังหวัดลำพูน

"พระคง" กรุวัดพระคงฤาษี เป็นพระที่มีชื่อเสียงอีกพิมพ์หนึ่งของจังหวัดลำพูน เป็นพระยุคเดียวกับพระรอดลำพูน หรือเมือง "นครหริภุญไชย" วัดพระคงฤาษีเป็น ๑ ใน ๔ วัดสำคัญที่ประจำจตุรทิศของพระนคร ตอนสร้างเมือง เพื่อเป็นการคุ้มครองพระนครให้พัฒนาสภาพปราศภัยจากพิบัติทั้งปวง ชาวลำพูนเรียกวัดทั้ง ๔ นี้ว่า "วัดสี่มุมเมือง" มี ๑.วัดอาพัทธาราม หรือวัดพระคงฤาษี ประจำอยู่ฝ่ายทิศเหนือ (วัดนี้พบพระคงเป็นหลัก) ๒. วัดอรัญญิกรัมมการาม หรือวัดดอนแก้ว ประจำด้านทิศตะวันออก (วัดนี้พบพระสาม พระป๋วย พระบาง และพระเปิม) ๓. วัดมหาสัตตาราม หรือวัดสังฆาราม หรือวัดประตูลี้ ประจำทางทิศใต้ (วัดนี้พบพระเหลี้ยมเล็กพิมพ์นิยม พระข้าวควบ พระลือหน้ามงคล พระสิบแปด พระเหลี้ยมหม้อ) ๔. วัดมหาวนาราม หรือวัดมหาวัน ประจำทิศตะวันตก วัดนี้ที่บรรจุพระรอดที่เรารู้จักกันดี พระคงมีการแตกกรุ และมีการขุดค้นพบเจออยู่หลายครั้ง ข้อมูลจากหนังสือ"พระคง โดยทีมงานพระเมืองเหนือ" เล่าว่า "การพบพระในกรุวัดพระคงฤาษีนี้พบเรี่ยราดอยู่ตามพื้นดินบ้าง แต่ส่วนใหญ่ต้องขุดลงไปบ้าง เหตุเพราะในอดีตพระบรรจุไว้ในเจดีย์ กาลเวลาผ่านไปนับพันปีเจดีย์จึงพังทลายลงมา และมีการนำทั้งเศษอิฐเศษปูนของเจดีย์ไปถมตามบ่อต่างๆ ในบริเวณวัด พระจึงติดไปด้วยนั่นคือเหตุที่ว่าทำไมพระจึงอยู่ตามพื้นดิน" พระคงแตกกรุครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้พระทั้งสิ้น ๑๒,๘๐๐ องค์ เป็นพระคงทรงพระบางราว ๒๐๐ องค์ บริเวณที่พบคือใต้พื้นพระอุโสถ.






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น