วันศุกร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2560

พระรอดแห่งเมืองหริภุญไชย (ลำพูน) เป็นพระที่มีอายุเก่าที่สุดในชุดเบญจภาคี คือมีอายุประมาณ 1,200 -1,300 ปี สร้างโดยพระนางจามเทวี เป็นพระเนื้อดินเผาขนาดเล็กศิลปะแบบผสมระหว่างทวาราวดี/ลพบุรี/ลังกาที่งดงามมาก เป็นงานศิลปนูนต่ำ ช่างบางคนเรียกงานปั้นแปะหมายถึงตอนตกแต่งลายละเอียดบางส่วน จะปั้นดินแล้วบีบให้เป็นรูปทรงที่ต้องการ แล้วแปะลงไป เนื้อพระรอดแยกได้ 2 ประเภทคือเนื้อดินดิบและดินเผา เนื้อดินดิบคือทำจากดินศิลาธิคุณ ซึ่งเนื้อใกล้เคียงพระสมเด็จมาก ส่วนเนื้อดินเผาจะใช้ดินเหนียวผสมว่านและมวลสารต่างๆแล้วนำไปเผา ซึ่งจะได้พระรอดสีต่างกันตามความร้อนขณะที่เผา เรื่องของพระรอดมีรายละเอียดปลีกย่อยมากน่าศึกษา
















วันอังคารที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2560

พระพิมพ์ปรกโพธิ์ ๗-๘ เนื้อผงถ่านแม่พิมพ์(วัดระฆัง) สร้างประมาณปี พ.ศ.๒๓๘๗-๒๓๙๐ หลวงสิทธิ์เป็นผู้แกะแม่พิมพ์ ถวาย ถ้าเป็นพระพิมพ์ปรกโพธิ์ของหลวงสิทธิ์ ส่วนใหญ่จะแกะพระบาทด้านซ้ายขององค์พระตกลงมาข้างหนึ่งเสมอ ให้ลองสังเกตดู ส่วนใบโพธิ์ท่านสมเด็จฯโตจะเพิ่มขึ้นครั้งละ ๑ ใบในครั้งถัดไปเช่น ครั้งนี้ทำใบโพธิ์ ๗ใบหนึ่งข้าง ๘ ใบหนึ่งข้าง ครั้งหน้าถ้าทำพระปรกโพธิ์อีกท่านก็จะทำใบโพธิ์ข้างละ ๘ ใบเรียกว่าโพธิ์๘ ผงทำพระปรกโพธิ์ท่านจะแยกไว้สำหรับทำพระปรกโพธิ์อย่างเดียวไม่นำไปปนกับการสร้างพิมพ์อื่น (หลวงปู่คำบันทึกไว้) ส่วนเนื้อผงถ่านท่านจะเอาแม่พิมพ์ไม้ที่ชำรุดแตกหักให้ตาอ้นนำไปเผา แล้วมาบดเป็นให้ผงเพื่อเป็นส่วนผสมในพระของท่าน สำหรับพระองค์นี้ใช้เนื้อผงถ่านเป็นหลัก คือใส่เป็นจำนวนมากเป็นเนื้อพื้น ชาวบ้านยุคนั้นมักเรียกพระพิมพ์นี้ว่า "พระเทพดำ" เพราะขณะนั้นท่านครองสมณศักดิ์เป็น พระเทพกวีศรีวิสุทธินายก ยังไม่ได้เป็นสมเด็จฯ




วันเสาร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2560

ขอพูดถึงพระพิมพ์ทรงเทวดา พระพิมพ์นี้มีหลายท่านไม่รู้จัก หลวงปู่คำเล่าว่าท่านทำพระพิมพ์นี้อุทิศให้กับโยมบิดาท่าน แล้วทำไมต้องเป็นพิมพ์เทวดา? คำนี้มาจากพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่แบบเทวดา ซึ่งเกี่ยวโยงกับความเชื่อลักขณสูตรในสุตตันตปิฏกทีฆนิกายปาฏิกวรรค ระบุว่า "มหาบุรุษลักษณะ32ประการ" จะปรากฏเฉพาะพระมหาจักรพรรดิและพระพุทธเจ้าเท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงเกิดพระพุทธรูปทรงเครื่องแบบไทยตามคตินิยม คือพระพุทธรูปทรงเครื่องแบบจักรพรรดิ ที่เห็นชัดเจนและมีอิทธิพลเชิงช่างมาถึงรัตนโกสินทร์ฯ คือพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยอยุธยา หรืออีกความเชื่อหนึ่งที่ว่า พระมหากษัตริย์เปรียบดั่งเทพที่ลงมาจุติก็เป็นได้อีกเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้เกิดพระพุทธรูปทรงเครื่องแบบเทวดานี้ ก็พออนุมานได้ว่า บิดาของท่านสมเด็จโตคงไม่ใช่สามัญชนเป็นแน่



วันพฤหัสบดีที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2560

วันนี้ขอพูดถึงพระสมเด็จพิมพ์เจดีย์แบบดั่งเดิม ซึ่งหลวงปู่คำได้บันทึกไว้ พระพิมพ์เจดีย์ที่นำมาให้ชมในวันนี้น่าจะเป็นต้นแบบของพิมพ์เจดีย์ต่อๆมา (เฉพาะรูปทรงนี้) ซี่งได้พัฒนามาอีกหลายแม่พิมพ์ ในขั้นต้นท่านทำไว้๓แบบ เป็นพิมพ์ใหญ่สองพิมพ์ แกะแม่พิมพ์โดยช่างบ้านช่างหล่อ และพิมพ์เล็ก๑พิมพ์ แกะแม่พิมพ์โดยช่างหมู่บ้านลานมะเกลือ ท่านทำไว้เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๓ (ขณะนั้นท่านครองสมณศักดิ์เป็นพระเทพกวีศรีวิสุทธินายก) เพื่อบรรจุไว้ที่วัดลครทำและทำอีกครั้งแจกที่วัดบางขุนพรหมนอกหรือวัดอินทรวิหารในปัจจุบัน หลวงปู่คำได้บันทึกไว้ประมาณนี้ แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่าน่าจะทำมากกว่า๒ครั้งที่กล่าว เพราะเห็นว่าในกรุวัดสะตือก็พบพระพิมพ์นี้ แต่ผมยังไม่ได้ดูรายละเอียดว่าเป็นแม่พิมพ์ชุดเดียวกันกับของวัดลครทำหรือไม่ ส่วนพิมพ์ทรงเจดีย์ที่เราเรียกกันในปัจจุบันนั้น มาตั้งกันภายหลัง แต่เดิมพระพิมพ์ทรงเจดีย์ที่เรียกในปัจจุบัน ยุคของท่านสมเด็จโตจะเรียก"พิมพ์พระประธาน"ตามบันทึกที่เรียกชื่อพระของหลวงปู่คำ จึงนำมาเล่าสู่กันฟังเพื่อข้อมูลเหล่านี้จะได้ไม่เลือนหายไปกับกาลเวลา ส่วนเราคนปัจจุบันก็เรียกตามปัจจุบันที่สังคมส่วนรวมเข้าใจ ไม่เช่นนั้นจะสับสนเวลาสื่อสารกับผู้อื่นครับ