วันอังคารที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2561

พระปิดตาหลวงปู่เอี่ยมเท่าที่พบเห็นมีทั้งรักไทยที่มีสีดำเรียกว่า รักสมุก และรักจีนที่มีสีออกแดงหรือเรียกว่า รักชาด โดยการนำยางรักมาเคียวกับชาดจอแส รักจีนเป็นรักที่สั่งตรงมาจากประเทศจีน ซึ่งมีคุณภาพดีและเป็นที่นิยมใช้ในยุคนั้น เวลาใช้เขาจะนำรักจีนที่มีสีแดง มาผสมกับรักสมุกตามส่วนที่ต้องการ ก็จะได้รักสีดำอมแดง คล้ายสีลูกหว้าสุกหรือสีตากุ้งสีแดงเข้ม ส่วนความเข้มอ่อนก็แล้วแต่ สูตรของแต่ละคน รักจีนได้ยกเลิกการนำเข้าต้นสมัยรัชกาลที่๔ ราวปีพ.ศ.๒๓๙๗-๒๓๙๘ เหตุที่เขียนถึงเรื่องรัก เพราะเราสามารถพิจารณาพระที่ สร้างในยุคนั้นได้โดยการดูและพิจารณาจากรักได้อีกทางหนึ่ง




พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ทรงเจดีย์

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ทรงเจดีย์องค์นี้ หลวงสิทธื์เป็นผู้แกะพิมพ์ถวาย เนื้อหนึกเหนียว และเคยลงรักน้ำเกลี้ยงมาก่อน




วันพุธที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2561

การสร้างพระกรุวัดบางขุนพรหม



วันนี้ขอเล่าเรื่องการสร้างพระกรุวัดบางขุนพรหม โดยคัดลอกบางส่วนมาจากหนังสือ "สมเด็จโต" เป็นบันทึกของหลวงปู่คำ ผู้อยู่ในเหตุการณ์ โดยท่านได้บันทึกไว้ดังนี้ ...นายด้วง เสมียนตราหน้าพระราชวัง เป็นผู้บูรณะวัดวะรามะตาราม ได้ไปขอร้องท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ให้ช่วยทำพระบรรจุกรุเจดีย์ให้ ในราว จ.ศ. ๑๒๓๒ หรือ พ.ศ. ๒๔๑๓ แล้วท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็ได้ช่วยทำพระลงกรุบรรจุเจดีย์ตั้งแต่นั้นมาจนเสร็จ
วัดวะรามะตาราม เป็นวัดที่ชาวรามัญได้สร้างไว้ นายเดชเป็นผู้บูรณะวัดแต่ยังไม่เสร็จได้เสียชีวิตก่อน ต่อมานายด้วงเป็นเสมียนตราในพระราชวังภายใน ได้บูรณะต่อจนเสร็จเรียบร้อย มาปรึกษาท่านโตว่าได้สร้างวัดและเจดีย์เสร็จแล้ว ยังไม่มีอะไรบรรจุไว้ในเจดีย์ จีงอยากให้มีอะไรบรรจุไว้ในเจดีย์ ท่านโตจึงได้เรียกขรัวตาพลอยมาถามว่า พระที่ทำแจกมีเหลือบ้างหรือเปล่า ให้เอาไปบรรจุในเจดีย์ให้หมด ขรัวตาพลอยบอกว่ามีแต่ไม่มาก ท่านโตบอกให้นายด้วงหาเปลือกหอยกาบมากๆ เอามาเผาแล้วตำให้ละเอียดเป็นผงปูนเปลือกหอย แล้วเอาแม่พิมพ์ที่เหลืออยู่จากวัดระฆัง วัดบางขุนพรหมนอกและวัดอื่นๆมาเพื่อกดพิมพ์ ต่อมาอีกหนึ่งเดือน นายด้วงก็ได้นิมนต์และกราบเรียนว่า ทุกอย่างได้จัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว เลยให้เด็กไปนิมนต์หลวงปู่คำให้ไปฉันเพลที่วัดวะรามะตาราม (วัดบางขุนพรหมใน) ในวันรุ่งขึ้น
พอวันรุ่งขึ้นท่านโตได้ให้ขรัวตาพลอยและปลัดโฮ้เอาผงวิเศษไปด้วย โดยใส่ถุงข้าวไป ๕ ถุง ผงเกษร ผงใบลาน ผงดำ อย่างละ ๑ ถุง พอได้เวลาพระฉันเพลแล้ว พระก็ได้ทำพิธีปลุกเสก ท่านโตได้เอาผงวิเศษ ผงเกสร ผงปูนเปลือกหอย ผงใบลาน ผงดำมาผสมกันในบาตร แล้วผสมด้วยน้ำมันตังอิ๊ว ต่อมาอีก ๒ วันนำเอาผงที่ผสมไว้แล้วมาให้ชาวบ้านช่วยกดพิมพ์พระ มีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย เวลาพิมพ์พระถ้าเป็นผู้หญิงทำ พระจะสวยงามตัดขอบพระด้วยมีดเจียนหมากแล้วยกแม่พิมพ์ออก ขอบเนื้อพระจะเป็นสันเหลี่ยม ผู้กดพิมพ์ส่วนใหญ่จะใช้นิ้วมือลูบที่คมสันให้มนแทบทุกองค์ ถ้าเป็นผู้ชายกดพิมพ์พระ เวลาตัดขอบพระบางคนใช้ก้านธูปกรีดขอบพระแล้วยกแม่พิมพ์ออก แต่ไม่ได้แต่ขอบพระจึงคม บางคนก็ใช้เล็บยาวแทนมีด การผสมผงพระถ้าผู้ใดทำละเอียดผสมผงเข้ากันจนทั่ว เนื้อพระก็จะละเอียดสวยงามเรียบร้อย บางคนผสมหยาบผงไม่เข้ากัน เนื้อพระก็จะหยาบไม่สวยงามแลเห็นเป็นจุดเป็นก้อนทั่วองค์พระตะปุ่มตะป่ำ ขอบพระจะไม่เรียบร้อย หรือเว้าแหว่งไปบ้าง เพราะตัดขอบพระด้วยก้านธูปและเล็บมือ ถ้าผู้หญิงทำพระจะออกมาสวยงามและเรียบร้อย ถ้าผู้ชายทำพระจะไม่ค่อยสวยและหยาบ พระบรรจุกรุนี้มีทั้งเนื้อหยาบและเนื้อละเอียด พอกดพิมพ์พระเสร็จแล้ว ก็แจกพระให้กับผู้มาช่วยทำพระทุกคน ที่หลือก็เอามาบรรจุเจดีย์ก่อเป็น ๔ ช่อง ก่อและปิดเสร็จเรียบร้อยเป็นอันเสร็จพิธี แล้วมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดบางขุนพรหมใน (ต่อมาอีก ๓๐ ปีได้บูรณะโบสถ์แล้วมาเปลี่ยนชื่อเป็น วัดใหม่อมตรสจนปัจจุบัน) จากบันทึกพอสรุปได้ว่า พระกรุวัดบางขุนพรหมมีหลากหลายพิมพ์ และน่าจะมีพิมพ์อื่นที่นอกเหนือจากพิมพ์หลักที่เล่นหากันอยู่ พระที่ไม่บรรจุกรุก็มี เพราะหลังจากทำเสร็จก็ได้แจกแก่ผู้มาช่วยงานทุกคน คงมีจำนวนพอสมควร พระกรุนี้มีทั้งเนื้อหยาบและละเอียด การตัดขอบข้างก็มีหลายลักษณะไม่ตายตัวตามบันทึก และมีพระของวัดระฆังมาปนอยู่ด้วย ที่เราเรียกกันว่าพระสองคลอง เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นว่าพระบางขุนพรหมจะต้องมีคราบกรุเสมอไป แต่พระที่ไม่มีคราบกรุจะเป็นพระที่มีจำนวนน้อยเท่านั้น

วันจันทร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2561

พระสมเด็จวัดระฆังเนื้อกระดาษ

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่นิยมเนื้อกระดาษ สาเหตุที่เรียกเนื้อกระดาษมาจากความขาวขององค์พระ ที่ขาวเหมือนกระดาษขาว ไม่มีส่วนผสมของกระดาษแต่อย่างใด ถ้ามีก็คงเป็นกระดาษสา เพราะคนโบราณจะใช้กระดาษสาผสมปูน พระชุดนี้ได้สร้างในสมัยท่านสมเด็จโตหรือเป็นพระที่ท่านสมเด็จโตได้อธิฐานจิต เมื่อทำเสร็จในทุกขั้นตอนแล้ว ได้นำบรรจุลงหีบเหล็กปิดตาย เวลาผ่านมาถึงยุคปัจจุบันได้พบและเปิดหีบนี้ออก สภาพพระจึงยังคงเหมือนพระใหม่ ที่มีความสมบูรณ์แทบจะ100%อย่างที่เห็น เพราะไม่โดนแสงแดดและอากาศเลย แต่ในเนื้อพระจะมีความแห้งจัด ไม่เหมือนพระที่สร้างใหม่ยังคงมีความชื้นในเนื้อพระสูง

วันอาทิตย์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2561

เหรียญสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี (เนื้อชินเงิน)

๗ มกราคม ๒๕๖๑ เป็นวันครบรอบ ๑๕๓ ปีวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงถือโอกาสนำเหรียญ เก่าเจ้าฟ้าจุฑามณี ซึ่งเป็นพระนามเดิมของท่านมาลงอีกครั้ง เพื่อระลึกถึงท่านในวันนี้



วันเสาร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2561

พระกริ่งปวเรศ

พระกริ่งปวเรศ ในอดีตที่ผ่านมาถือว่าเป็นพระในตำนานหายากยิ่งนัก กล่าวกันว่ามีเพียงไม่กี่สิบองค์ จนผู้คนหันไปเก็บพระกริ่งของวัดสุทัศน์แทน ซึ่งสร้างหลังพระกริ่งปวเรศ แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้อ้างว่ามีพระกริ่งปวเรศอยู่ในครอบครอง รวมๆกันแล้วเป็นร้อยองค์ ทำให้วงการพระเครื่องเริ่มตั้งคำถามว่า ของใครแท้ ของใครเทียม ในยุคปัจจุบันการสื่อสารเปิดกว้าง ข้อมูลต่างๆได้หลั่งไหลสู่ประชาชน ทำให้ได้ทราบข่าวสารข้อมูลมากขึ้น จึงเข้าใจได้ว่าพระกริ่งปวเรศนั้นได้สร้างไว้หลายวาระ พร้อมพระชัยวัฒน์ มีจำนวนพอสมควร ในขณะเดียวกันมือทำพระปลอมก็ได้ผลิตออกมาตอบสนองความต้องการ ของผู้ที่อยากครอบครองแบบทันเหตุการณ์เช่นกัน ซึ่งผู้ทำปลอมก็มีหลายระดับฝีมือ ใครอยากสะสมพระกริ่งปวเรศควรศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เสียก่อน แล้วค่อยสะสมจะได้ไม่เสียใจภายหลัง






วันพฤหัสบดีที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2561

พระสมเด็จพิมพ์ปรกโพธิ์กรุวัดบางขุนพรหม พระองค์นี้เป็นพระกรุเก่าเนื้อหนึกแกร่ง มีการยุบตัวของด้านข้างจนมุมเป็นชายธงยื่นออกมาเป็นมุมแหลม ส่วนด้านหลังมีลักษณะการงอกของปูน สิ่งเหล่านี้จะต้องใช้เวลาอันยาวนานถึงเกิดขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่บอกถึงอายุพระได้