วันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์เกศบัวตูม พระองค์นี้เป็นพระยุคปลาย มีคราบแคลไซต์ให้เห็นชัดเจน พิมพ์นี้เป็นพิมพ์ที่เล่นหากันคือ เป็นพระยุคปลาย และมีเส้นแซมที่ฐานสองเส้น บางท่านถือเป็นกฏว่าพิมพ์เกศบัวตูมต้องมีเส้นแซมที่ฐานสองเส้น อันนี้ก็แล้วแต่ว่าใครจะเก็บแบบไหน โดยส่วนตัวที่พบเห็น พระพิมพ์นี้มีหลายแม่พิมพ์ ทำสืบเนื่องมาตั้งแต่ยุคต้นถึงยุคปลาย ที่พบมากเป็นยุคกลาง และยุคปลาย เส้นแซมเส้นเดียวก็มี ไม่มีเส้นแซมเลยก็มี อยากให้พิจารณาที่เนื้อ และดูธรรมชาติความเก่าขององค์พระจะดีกว่า เราจะได้พระที่ท่านสมเด็จโตสร้างไว้มาบูชา.










 

วันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

พระวัดเกศพิมพ์ใหญ่ ๗ ชั้น พระพิมพ์นี้ที่พบสร้างไว้หลายวาระ สร้างตั้งแต่ยุคต้น คือประมาณปี พ.ศ. ๒๓๕๙ จนถึงยุคปลาย คือหลังปี พ.ศ. ๒๔๐๗ - ๒๔๑๕ พระวัดเกศพิมพ์ใหญ่ ๗ ชั้นนั้นมี ๙ พิมพ์ (จากบันทึกหลวงปู่คำ) สำหรับพระที่ลงวันนี้เป็นพระยุคปลาย ที่สภาพสมบูรณ์มากแทบจะ ๑๐๐% คราบแป้ง ผสมแคลไซต์ปกคลุมปิดเต็มทั่วองค์พระ เวลาจับต้องระวังไม่ให้สัมผัสโดนคราบแป้ง (กลัวผิวช้ำ) เสียดายที่ลืมถ่ายภาพขยายเนื้อให้ชม แต่ก็คงไม่เห็นมวลสารมากนัก เพราะคราบแป้ง และแคลไซต์ปกคลุมปิดผิวหมด ถึงอย่างไรก็ตามยังพอเห็นการม้วนตัวด้านในซุ้มอยู่บ้าง ที่พอจะบอกถึงอายุพระได้.





 

วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ทรงเจดีย์ สภาพสมบูรณ์ยังไม่เคยผ่านการใช้มาก่อน (มีเจ้าของแล้ว).






 

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ยุคปลาย เป็นพระที่ยังไม่ผ่านการใช้ เข้าใจว่าน่าจะสร้างปี พ.ศ.๒๔๑๑ ปีที่ฉลองรัชกาลที่ ๕ ขึ้นครองราช พระชุดนี้มีจำนวนพอสมควรเท่าที่พบเห็น มีอยู่ในรังของนักอนุรักษ์บางท่าน ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ และคิดไม่ถึงว่าจะมีพระสภาพนี้หลงเหลืออยู่มาถึงปัจจุบัน ซึ่งบางท่านโชคดีได้เจอแต่ดูไม่เป็นคิดว่าเป็นพระใหม่ หรือพระสนาม (พระปลอม) เลยผ่านไปอย่างน่าเสียดาย ความจริงแล้วพระชุดนี้น่าเก็บหรือนำมาบูชาติดตัว เพราะเราจะได้เป็นคนแรกที่บูชาพระองค์นี้ขึ้นคอ (หมายถึงพระชุดนี้) ที่ท่านสมเด็จโตเมตตาสร้างไว้ชนรุ่นหลัง.