วันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

พระลีลากำแพงขาว กรุวัดบรมธาตุ จ.กำแพงเพชร ตามปกติพระลีลากำแพงขาว เป็นพระเนื้อชินเงิน มักมีฝ้าขาว (ผิวปรอท) จับบนผิวพระจนดูขาวทั้งองค์จึงเรียก "พระลีลากำแพงขาว" แต่สำหรับพระที่ลงวันนี้เป็นพระเนื้อแก่ตะกั่ว จึงเกิดสนิมแดง ทั่วองค์พระดูเป็นธรรมชาติ เท่าที่ศึกษามาพระกรุแต่ละกรุ มักสร้างบรรจุไว้หลายเนื้อในพิมพ์เดียวกัน เช่นเนื้อชินแก่เงิน เนื้อชินแก่ตะกั่ว เนื้อสัมฤทธิ์ เนื้อตะกั่ว และเนื้อดินเป็นต้น บางเนื้อสร้างมาก บางเนื้อสร้างน้อย แล้วแต่กรุนั้นๆ พระลีลากำแพงขาว เป็นศิลปะสุโขทัยดูอ่อนช้อยลอยเบา อยู่รวมกรุเดียวกับพระซุ้มกอ พระลีลาเม็ดขนุน และอีกหลากหลายพิมพ์ของกรุลานทุ่งเศรษฐี เพราะฉะนั้นพุทธคุณเหมือนกัน พระลีลากำแพงขาวมี ๒ พิมพ์คือ พิมพ์ใหญ่ความกว้างประมาณ ๒ ซ.ม. สูง ๔.๑ ซ.ม. พิมพ์เล็ก กว้าง ๑.๘ ซ.ม. สูง ๔ ซ.ม. สำหรับพระที่ลงวันนี้เป็น พิมพ์เล็ก.









 

วันนี้นำพระสมเด็จพิมพ์พิเศษมาให้ชมบางส่วน เป็นงานของราชสำนัก ช่างท่านนี้ไม่ทราบชื่อ ที่ค้นข้อมูลได้ท่านแกะแม่พิมพ์เริ่มปี พ.ศ.๒๔๐๗-๒๔๑๖ หลังที่ท่านสมเด็จโตสิ้น ๑ ปี ข้อมูลเหล่านี้ได้จากหนังสือ "ภาพ-ประวัติ พระสมเด็จโต" เขียนโดย พ.ต.ต.จำลอง มัลลิกะนาวิน ปี พ.ศ.๒๕๑๗ มีพระนอกพิมพ์มากมายให้ศึกษา.







 

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ทรงเจดีย์ พระองค์นี้เคยลงรักปิดทองมาก่อน แต่เดิมเรียกพระพิมพ์นี้ว่า "พิมพ์พระประธาน" แล้วมาเปลี่ยนชื่อกันภายหลังว่า "พิมพ์ทรงเจดีย์" ก็ไม่ผิดอะไร เพียงเล่าไว้เป็นเกล็ดเท่านั้น พระพิมพ์นี้มีหลายแม่พิมพ์ หลายขนาด หลายเนื้อ และสร้างไว้หลายวาระ สำหรับพระที่ลงวันนี้เป็นพระยุคกลาง ช่างสิบหมู่เป็นผู้แกะแม่พิมพ์ถวาย.








 

วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ปรกโพธิ์ ๙ ซึ่งมีใบโพธิ์ข้างละ ๙ ใบ ใบโพธิ์ด้านซ้ายมือองค์พระดูไม่ชัดเจน อาจมี ๑๐ ใบ เป็น ๙-๑๐ ก็ได้ สำหรับพิมพ์โพธิ์ ๙ (ที่พบมีมากกว่า ๒ พิมพ์) สร้างปี พ.ศ.๒๔๐๗ เป็นปีที่ท่านได้รับสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ ท่านทำแจกผู้ที่มาแสดงความยินดีกับท่าน (หลวงปู่คำว่ามีคนเอาของมาถวายเต็มวัด ต้องแจกจ่ายไปให้วัดอื่นๆบ้าง) พระพิมพ์ปรกโพธิ์ท่านจะทำในวาระสำคัญของท่าน โดยเฉพาะตอนได้เลื่อนสมณศักดิ์ เมื่อผงพระเหลือท่านจะแยกไว้ต่างหากสำหรับทำพระพิมพ์ปรกโพธิ์ครั้งถัดไป ไม่ปนกับส่วนผสมอื่น มีอยู่สองครั้งที่ท่านนำผงของพระพิมพ์ปรกโพธิ์มาผสมด้วย คือพระพิมพ์ไกเซอร์(องค์ใหญ่) ที่ทำถวาย ร.๕ (ไม่ใช่พิมพ์อกครุฑเศียรบาตรที่ปัจจุบันเรียกพระพิมพ์ไกเซอร์) และพระที่ทำแจกทหารที่ไปรบกับเงี้ยว เป็นพระเนื้อผงผสมว่านสบู่เลือด ขึ้นชื่อมากเรื่องคงกระพัน หลังจากที่รบได้ชัยชนะกลับมา เรียกพระพิมพ์ที่แจกรุ่นนี้ว่า "สมเด็จแดงกวนอู" เพราะตอนนั้นท่านได้เป็นสมเด็จแล้วและพระมีสีออกแดง สำหรับพระพิมพ์ปรกโพธิ์นั้น เป็นพระที่ให้ความร่มเย็นเป็นสุข ป้องกันอันตรายต่างๆ มีติดบ้านไว้สามารถคุ้มครองได้ทั้งบ้าน หลวงปู่คำบันทึกไว้เช่นนั้น.








 

วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

พระผงสุพรรณหน้าแก่ จ,สุพรรณบุรี ตามตำราว่าสร้างโดยฤๅษี ๔ ตน มีพระฤๅษีพิลาไลย์เป็นประธาน พระถูกบรรจุไว้ที่พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เปิดกรุอย่างเป็นทางการเมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๕๖ (พระมเหศวรก็พบในกรุเดียวกันนี้) พระผงสุพรรณมีทั้งเนื้อดินผสมว่าน และเนื้อชิน เรียกพระ "สุพรรณยอดโถ" พระที่ลงในวันนี้เป็นพิมพ์หน้าแก่ เนื้อพระละเอียด มีแร่ดอกมะขาม และรอยเซี่ยนไม้ตามร่องลึก เช่นเดียวกันกับพระนางพญา พระซุ้มกอ และพระรอด ตามสูตรการสร้างพระโบราณ บนผิวพระยังมีรักดำ หรือรารักให้เห็น.