วันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2564
พระสมเด็จวัดเกศ ๖ ชั้นอกตลอดเนื้อผงผสมข้าวสุก และเปลือกหอยมุก ช่างทำโบสถ์อ่างทอง เป็นผู้แกะพิมพ์ถวาย พระองค์นี้ลงรักน้ำเกลี้ยงมาแต่เดิม ต่อมาผู้ที่ได้ครอบครองนำพระมาลงรักสมุกปิดทองใหม่ หลังจากผ่านการใช้มาช่วงหนึ่งรักทองได้หลุดล่อนตามสภาพที่เห็น ซึ่งถ้าคนไม่เข้าใจเห็นทองใหม่ก็คิดว่าพระใหม่ เลยพลาดโอกาสที่จะได้เป็นเจ้าของ.
วันเสาร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2564
พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ปรกโพธิ์ ๘-๙ คือมีใบโพธิ์ ๘ ใบหนึ่งข้าง และ ๙ ใบหนึ่งข้าง ตามตำราว่าท่านสมเด็จโตทำพระพิมพ์ปรกโพธิ์แจกคราวได้รับพัดยศในแต่ละครั้ง และจะเพิ่มใบโพธิ์ครั้งละ ๑ ใบในครั้งถัดไป ส่วนเนื้อพระที่ทำก็จะแยกไว้ต่างหากสำหรับทำพระพิมพ์ปรกโพธิ์เท่านั้น พระพิมพ์ปรกโพธิ์ส่วนใหญ่หลวงสิทธิ์เป็นผู้แกะแม่พิมพ์ถวาย และมีนายเจิม วงศ์ช่างหล่อ ช่างสิบหมู่ หลวงวิจารณ์ แกะไว้บ้างแต่น้อย สำหรับพระที่ลงในวันนี้เป็นงานของหลวงสิทธิ์ ทำไว้ราวปี พ.ศ. ๒๓๙๘ - ๒๔๐๑ มีการจุ่มน้ำว่านไว้แทนการลงรัก พระองค์นี้ยังไม่เคยผ่านการใช้มาก่อน จึงมีสภาพสวยสมบูรณ์อย่างที่เห็น พระพิมพ์ปรกโพธิ์เป็นพระที่ให้ความร่มเย็นเป็นสุข (หลวงปู่คำว่าไว้เช่นนั้น)
พระขุนแผนพิมพ์ห้าเหลี่ยม อกใหญ่ กรุวัดบ้านกร่าง อำเภอศรีประจันต์ ถือเป็นพระกรุที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของจังหวัดสุพรรณบุรี สร้างในสมัยอยุธยาตอนกลาง สันนิษฐานกันว่า พระชุดนี้สร้างโดยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อครั้งเดินทัพมาที่เมืองสุพรรณเพื่อสู้รบกับกองทัพพม่า พระกรุนี้มีอยู่มากพิมพ์เช่น พระขุนแผน พิมพ์ห้าเหลี่ยม อกใหญ่ พระขุนแผน พิมพ์ห้าเหลี่ยมอกเล็ก พระขุนแผน พิมพ์ทรงพลใหญ่ พระขุนแผน พิมพ์ทรงพลเล็ก, พระพลายเดี่ยว พระพลายคู่ เป็นต้น มีผู้รวบรวมพิมพ์ไว้ว่ามีทั้งหมด ๓๐ กว่าพิมพ์ สำหรับพิมพ์ที่นิยมอันดับต้นๆคือพิมพ์ห้าเหลี่ยม อกใหญ่ ด้านพุทธคุณเด่นทางแคล้วคลาดคงกระพัน และด้าน"เสน่ห์"มหานิยม สำหรับเนื้อเป็นเนื้อดินผสมว่าน มีแร่และกรวด (พระธาตุ) มาก เมื่อใช้กล้องกำลังสูงขยายดูเนื้อได้พบว่ามีอัญมณีผสมอยู่ด้วย ถือเป็นพระกรุเก่าที่นิยมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน.
วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2564
พระพิมพ์ยืนปรกโพธิ์กรุเจดีเล็กบางขุนพรหม จากบันทึกหลวงปู่คำพอสรุปได้ว่าพระพิมพ์นี้สร้างมากกว่าสองวาระ ช่างต่อเรืออู่บางขุนพรหมนอกเป็นผู้แกะพิมพ์ถวาย ราวปี พ.ศ. ๒๓๖๐ ท่านทำแจกในงานสร้างกุฏิโยมบิดา และมารดา (เป็นศาลสร้างโดยก่ออิฐถือปูนลักษณะเป็นห้องสร้างไว้ที่วัดอินทรวิหารปัจจุบันศาลนี้ไม่อยู่แล้ว) ใครเอาทราย ปูนหิน และน้ำอ้อยที่ผสมปูนขาวฉาบฝาผนังห้องมาให้ ก็จะได้รับพระพิมพ์นี้หนึ่งองค์ แล้วทำอีกครั้งตอนฉลองกุฏิ หลวงปู่คำว่า "พระพิมพ์ยืนปรกโพธิ์นี้มีอานุภาพสูงป้องกันไฟได้ ดูแต่นายเงี๊ยบซึ่งถูกไฟเผาทั้งตัวแต่ไม่เผาถึงหนังเลย" นายเงี๊ยบเป็นคนจีนที่ท่านอุปการะไว้ให้อยู่ที่วัดอินทร แล้วให้พระพิมพ์นี้ติดตัว นายเงี๊ยบเอาผ้าเย็บเป็นถุงใส่พระคล้องคอไว้ วันหนึ่งเป็นคืนที่หนาวจัดนายเงี๊ยบได้ก่อไฟไว้ใกล้ๆกระท่อมแล้วก็ขึ้นนอน พอตอนดึกได้มีลมพัดอย่างแรงพัดเอาเศษไฟที่ก่อไว้เข้าไปในกระท่อมที่มีเศษไม้ที่นายเงี๊ยบผ่าเอาไว้สำหรับต้มน้ำให้ท่านโต เศษเปลวไฟได้ก่อให้เกิดไฟไหม้กระท่อมนายเงี๊ยบ ไฟลุกติอหลังคาจากแล้ว แต่นายเงี๊ยบยังนอนคลุมโปงอยู่ไม่รู้สึกตัว พระและเณรเห็นต่างก็มาช่วยกันดับไฟ เห็นนายเงี๊ยบเอามือปิดหน้ากระโดดออกมาไฟก็ยังติดเสื้อนายเงี๊ยบอยู่ พระที่เอาน้ำมาสาดกระท่อมเห็นนายเงี๊ยบไฟลุกทั้งตัวก็เอาน้ำสาดนายเงี๊ยบให้ไฟดับ ตอนเช้าวันนั้นท่านโตได้ให้เด็กวัดไปซื้อกางเกงจีนให้นายเงี๊ยบ ๓ ชุด พระที่เห็นนายเงี๊ยบโดนไฟไหม้วันนั้นอย่างน้อยก็ต้องไหม้ไปทั้งตัว นี่นายเงี๊ยบเพียงแต่ผิวหนังแดงเป็นผื่นเท่านั้นเอง ใคร ๆ ก็ไปขอพระพิมพ์นี้มาไว้ที่บ้านไว้บูชากันอันตราย หลวงปู่คำยังได้บันทึกไว้อีกว่า "ต่อมาพระพิมพ์นี้ท่านเจ้าคุณพรหมมาได้มายืมพิมพ์ไปพิมพ์พระที่วัดบางขุนพรหมใน และขอเนื้อผงไปสองบาตรเอาไปพิมพ์แล้วพระพิมพ์นี้ก็อยู่วัดบางขุนพรหมใน ท่านโตพิมพ์พระพิมพ์นี้ยังเป็นท่านโตเท่านั้น" เพราะฉะนั้นพระพิมพ์นี้มีทั้งบรรจุกรุ และไม่บรรจุกรุ ส่วนพระที่บรรจุไว้ในเจดีย์เล็กตั้งแต่เมื่อไรไม่ได้บันทึกไว้.
วันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2564
พระพิมพ์ห้าเหลี่ยมกรุวัดสามปลื้ม วัดสามปลื้มหรือ วัดจักรวรรดิราชาวาส เป็นวัดที่สร้างมาแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานี เรียกกันว่า "วัดนางปลื้ม" บ้าง หรือ"วัดสามปลื้ม"บ้าง ในปี พ.ศ.๒๓๔๓ (สมัยร.๑) เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่วัดสามปลื้ม ตลอดลงไปถึงตลาดน้อย ต่อมาในช่วงร.๒ได้เริ่มปฏิสังขรณ์วัดสามปลื้ม มาแล้วเสร็จในรัชกาลที่๓ แล้วถวายเป็นพระอารามหลวง เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๖๘ พร้อมกับพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดจักรวรรดิราชาวาส วรมหาวิหาร" สำหรับพระที่พบกรุนี้จากบันทึกว่าพบ ๓ ครั้ง โดยครั้งแรก ประมาณราวปี พ.ศ.๒๔๐๐ โดยพบอยู่ในซากพระเจดีย์ และใน ปีพ.ศ.๒๔๑๔ และ พ.ศ.๒๔๘๓ เมื่อมีการรื้อองค์พระเจดีย์ จากประสบการณ์ส่วนตัวพระกรุนี้ ที่พบน่าจะมีการบรรจุกรุมากกว่า ๑ ครั้งเพราะพระที่พบมีสองเนื้อคือเนื้อคล้ายผิวถั่วลิสงคั่ว ลงรักปิดทอง ดูแห้งแข็งแต่เปราะแตกหักง่าย และเนื้อหนึกแกร่งแบบองค์ที่ลงในวันนี้ สำหรับเนื้อที่ลงในวันนี้ใกล้เคียงกับเนื้อพระสมเด็จของท่านสมเด็จโตมาก แม้เศษพระเมืองกำแพงเพชรก็มีผสมอยู่ในเนื้อ หรือว่าพระชุดนี้ส่วนหนึ่งเป็นพระที่ท่านสมเด็จโตสร้างไว้ (เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวเท่านั้น)
วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2564
พระปิดตาเนื้่อผงผสมว่านคลุกรักหลวงพ่อครน ปุณณสุวัณโณดท่านเป็นพระไทย อดีตเจ้าอาวาสวัดอุตตมาราม (บางแซะ) อดีตเจ้าคณะใหญ่รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ท่านมีวาจาสิทธิ์และเป็นที่เคารพของชาวพุทธศาสนิกชนคนมาเลเซีย และสิงคโปร์อย่างสูงจนถึงปัจจุบัน ท่านเริ่มสร้างพระราวปี พ.ศ.๒๔๘๐ มรณภาพในวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2505 สิริอายุได้ 88 ปี พรรษาที่ 67 สำหรับพระที่ลงในวันนี้ที่พิเศษตรงมีผ้าจีวร มาห่มคลุมพระปิดตาก่อนลงรัก.
พระสมเด็จบางขุนพรหมพิมพ์สามเหลี่ยมหน้าหมอน(กรุพระเจดีย์เล็ก) หรือบ้างก็เรียกพิมพ์หมอนขวาน แตกกรุเมื่อปี่ พ.ศ.๒๕๐๘ โดยการถูกลักลอบขุดที่เจดีย์เล็ก บริเวณในวัดบางขุนพรหมนั่นเอง ตอนแตกกรุออกมาใหม่ๆก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าเป็นของท่านสมเด็จโตหรือไม่ แต่ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าเป็นของท่านสมเด็จโตสร้างไว้ ในบันทึกของหลวงปู่คำก็ได้มีบันทึกไว้ว่าพระพิมพ์นี้สร้างปี พ.ศ.๒๔๑๓ ปีเดียวกับพระที่บรรจุไว้ในเจดีย์ใหญ่ แต่ไม่ได้บอกว่าใครเป็นผู้แกะพิมพ์ สำหรับพระองค์นี้ลงรักปิดทองมาแต่เดิม มีคราบน้ำมันตังอิ๊วหนาผสมปนกับคราบกรุ ดูสวยพองาม.
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)