วันอังคารที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2563

พระสมเด็จพิมพ์ใหญ่ กรุเก่าวัดบางขุนพรหม

พระสมเด็จพิมพ์ใหญ่ กรุเก่าวัดบางขุนพรหม ถ่ายภาพไว้นานแล้วเพิ่งมีโอกาสนำมาให้ชม.




วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2563

พระขุนแผนเนื้อผงยาจินดามณี ของหลวงปู่บุญวัดกลางบางแก้ว

พระขุนแผนเนื้อผงยาจินดามณี ของหลวงปู่บุญวัดกลางบางแก้ว ปิดทองล่องชาด หลังจารยันต์เฑาะว์ รูปแบบล้อพระขุนแผนหน้าเหลี่ยมอกใหญ่ กรุบ้านกร่าง.




เบี้ยแก้หลวงปู่บุญวัดกลางบางแก้ว

เบี้ยแก้หลวงปู่บุญวัดกลางบางแก้ว พอกด้วยเนื้อผงยาจินดามณี มีพระพุทธชินราชสะดุ้งกลับประทับด้านล่าง ปิดทองล่องชาด สมบูรณ์สวยงามมาก วันนี้มีภาพมาให้ชม ของจริงมีคนนิมนต์ไปแล้ว.




วันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2563

พระขุนแผนไข่ผ่าซีก กรุวัดพระรูป จังหวัดสุพรรณบุรี

พระขุนแผนไข่ผ่าซีก กรุวัดพระรูป จังหวัดสุพรรณบุรี พระองค์นี้ยังไม่เคยลง วันนี้เลยนำมาให้ชม เป็นพระที่ผ่านการใช้มาพอสมควร พระกรุนี้ไม่ค่อยได้พบเจอบ่อยนัก พระขุนแผนไข่ผ่า และแตงกวาผ่า เป็นพระที่ใช้แม่พิมพ์เดียวกัน มีหลายขนาด อยู่ที่การตัดของแต่ละองค์ เพราะเป็นงานทำมือไม่ใช่เครื่องจักร เพราะฉะนั้นในลายละเอียดขององค์พระและลวดลายต่างๆจะใกล้เคียงกัน มีจุดให้สังเกตอยู่หลายจุด แต่จุดแรกเลยที่เขาดูกันคือ "ตราเบนซ์" มีลักษณะเป็นเส้นสามแฉกแบบดาว คล้ายโลโกของรถเบนซ์ จะอยู่ข้างพระเพลาด้านขวาองค์พระ จุดนี้ถือเป็นจุดที่นิยมไว้ดูกัน ในเมื่อเรารู้ พวกโรงงานปลอมพระก็รู้เหมือนกัน และรู้จุดอื่นๆด้วย เพราะฉะนั้นควรดูองค์รวมเป็นหลัก ทั้งเนื้อและธรรมชาติความเก่า ยิ่งพระอายุหลายร้อยปีแบบนี้ ธรรมชาติดูไม่ยาก.







วันศุกร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2563

พระรอดพิมพ์ใหญ่กรุวัดมหาวัน

พระรอดพิมพ์ใหญ่กรุวัดมหาวัน พระองค์นี้เป็นพระที่สร้างในยุคสมัยของพระนางจามเทวี มีความเหี่ยว ความแกร่ง และลายมือให้พิจารณาชัดเจน พระรอดนั้นมีมากพิมพ์ หลากเนื้อ และหลายสี หลายยุค น่าศึกษาค้นคว้าเช่นเดียวกับพระสมเด็จ ที่มีเรื่องราวมากมายให้ค้นหา.





พระร่วงยืนกรุถ้ำมหาเถร ลพบุรี

พระร่วงยืนกรุถ้ำมหาเถร ลพบุรี เนื้อชินเงินหลังลายผ้า มีรูปแบบลักษณะใกล้เคียงกับพระร่วงหลังลายผ้า กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรีมาก แต่พระกรุวัดพระศรีฯ ส่วนใหญ่จะเป็นพระเนื้อชินสนิมแดงคือแก่ตะกั่ว ถ้ำมหาเถรอยู่ที่ตำบลสามร้อยยอด อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี กรุแตกเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖ โดยมีผู้ลักลอบทำลายพระพุทธรูปปางไสยาสน์ ภายในถ้ำเพื่อหาสมบัติสิ่งของมีค่า จึงได้พบพระกรุนี้ซึ่งมีพระพิมพ์ต่างๆ รวมทั้งพระร่วงยืนพิมพ์นี้ ซึ่งเป็นพิมพ์ที่นิยมที่สุด พระร่วงยืนชุดนี้ส่วนใหญ่เป็นพระผิวปรอท มีอยู่สามพิมพ์คือพิมพ์ใหญ่ฐานสูง พิมพ์ใหญ่ฐานเตี้ย และพิมพ์เล็ก.



วันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563

พระสมเด็จสองหน้า

พระสมเด็จองค์ที่ลงนี้ เป็นพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ชายจีวรเส้นลวด ๑ ด้าน และอีกด้านเป็นพระสมเด็จบางขุนพรหมพิมพ์ฐานคู่ พระทั้งสององค์หัก เจ้าของเดิมเป็นพระสงฆ์ ท่านจึงนำมาทากาวประกบกันไว้ จะได้แข็งแรง เลยเป็นพระสองหน้าอย่างที่เห็น ผมได้มานานมากแล้วตอนบวชพระอยู่ที่จังหวัดจันทร์บุรี สำหรับพระสมเด็จวัดระฆังองค์นี้เป็นพระยุคกลาง เนื้อแกร่งมีความเหี่ยวย่นดีมาก ส่วนพระบางขุนพรหมพิมพ์ฐานคู่ เป็นพระเนื้อแก่ปูนสุกไม่ได้ลงกรุ ลงรักปิดทองล่องชาดแบบงานช่างหลวง พระสมเด็จเนื้อผงพุทธคุณนั้น ถึงจะหักกี่ชิ้นก็ยังมีพุทธคุณเหมือนเดิม มีเจ้าอาวาส (จำชื่อวัดไม่ได้) อยู่ที่จังหวัดจันทรบุรี ท่านเล่าให้ฟังว่า ตอนเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ที่บ้านมีพระสมเด็จอยู่หนึ่งองค์ มีพี่น้องสามคน เลยหักแบ่งกันไปคนละชิ้นไว้ป้องกันตัว ตอนที่เล่าท่านก็ยังเก็บไว้อยู่ ในบันทึกของหลวงปู่คำก็ได้เขียนไว้ว่า พระสมเด็จเนื้อผงถึงจะหักเป็นชิ้นเล็กๆ ก็ยังใช้ได้ไม่เสื่อม แต่ถ้าเป็นเนื้อดินหักแล้วเสื่อม ท่านว่าไว้อย่างนั้น มีหลายท่านที่นำพระสมเด็จหักไปให้ช่างแกะเป็นองค์พระใหม่ เป็นพระคะแนนไว้ใช้ติดตัวอยู่เหมือนกัน.







พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์เกศบัวตูมสังฆาฏิ

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์เกศบัวตูมสังฆาฏิ พระองค์นี้เป็นพระยุคต้น มีเส้นสังฆาฏินูนชัดเจน ปลายสังฆาฏิแยกออกเป็นสองเส้นคล้ายหางนกแซงแซว มีเส้นอาสนะหนึ่งเส้นใต้หน้าตัก ฐานบนเป็นฐานหมอน ฐานกลางเป็นฐานขาโต๊ะ ฐานล่างเป็นฐานหน้ากระดานมุมตัดเฉียง วงแขนเล็ก เส้นซุ้มผ่าหวายเล็ก เนื้อพระอยู่ในกลุ่มเนื้อละเอียด มีความแห้งดีมาก น่าเสียดายที่พระองค์นี้หัก แล้วต่อเอาไว้ พระพิมพ์นี้เพิ่งเห็นองค์แรก ยังไม่พบองค์ที่สอง ถือเป็นพระนอกพิมพ์ที่เนื้อถึง พยายามเทียบเคียงฝีมือช่างจากภาพในหนังสือ "สมเด็จโต" มีที่ใกล้เคียงเป็นฝีมือของ "พระประดิษฐ์ บ้านช่างหล่อ" ที่ดูแล้วใกล้เคียงที่สุด โดยส่วนตัวจะชอบพระประเภทนี้่ เพราะหาดูยาก และโอกาสที่จะเป็นพระโรงงานนั้น แทบไม่มีเลย.







วันพุธที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563

พระสมเด็จวัดเกศเจ็ดชั้น

พระสมเด็จวัดเกศเจ็ดชั้นองค์นี้ เป็นพระยุคต้นลักษณะเป็นแบบ "พิมพ์นิ้วมือ" (นิ้วโป้ง) ถ้าทรงป้อมกว่านี้ก็จะเรียก "พิมพ์เล็บมือ" นายทองช่างทำโบสถ์ติดกระจกหน้าบันอยู่อ่างทอง เป็นผู้แกะพิมพ์ แล้วนายชัย ตาของท่านสมเด็จโตเป็นผู้นำมาถวาย อยู่ราวปี พ.ศ. ๒๓๕๙ นายทองได้แกะแม่พิมพ์ถวายท่านอยู่หลายพิมพ์ ส่วนใหญ่จะเป็นพิมพ์ท้องร่อง ฐานเจ็ดชั้น พระพิมพ์นี้สร้างที่วัดระฆัง แล้วจึงนำไปบรรจุไว้ที่วัดเกศในช่วงแรกๆ ส่วนพระที่กดพิมพ์ที่วัดเกศก็มีในช่วงถัดมา ข้อมูลเหล่านี้ได้มาจากการบันทึกของ "หลวงปู่คำ" เจ้าอาวาสวัดอัมรินทร์ ผู้อยู่ในเหตุการณ์สร้างพระสมเด็จในครั้งนั้น.




วันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2563

พระรอดกรุวัดมหาวันพิมพ์ใหญ่

พระรอดกรุวัดมหาวันพิมพ์ใหญ่ บางท่านเรียกพระพิมพ์นี้ว่า "พิมพ์เศียรพริกไทย" พระองค์นี้เป็นพระยุคต้น มีอายุประมาณ ๑,๓๐๐ ปี สภาพผ่านการใช้จนสึก แต่ในร่องลึกก็ยังคงเห็นเสี้ยนไม้ของแม่พิมพ์อยู่ ในการสร้างพระรอดนั้น ต้นแบบแม่พิมพ์แกะจากไม้ เช่นเดียวกับพระสมเด็จยุคต้นๆ หลังจากได้แม่พิมพ์แล้วก็เอามากดเป็นองค์พระ แล้วใช้ดินถอดพิมพ์อีกครั้ง จะเอาจำนวนแม่พิมพ์กี่ชิ้นก็ถอดพิมพ์จากองค์ต้นแบบตามจำนวนที่ต้องการ แล้วนำไปเผาก็จะได้แม่พิมพ์สำหรับกดสร้างพระ พระผงสุพรรณ พระนางพญา หรือพระเก่ากรุโบราณก็คงทำเช่นนี้ทั้งสิ้น ในองค์พระจึงมีลายเสี้ยนทิ้งไว้ให้เราได้ดูพิจารณา.