วันเสาร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2566

พระตรีกาย หรือพระโมคคัลลาน์ - สารีบุตร เนื้อชินศิลปลพบุรีไม่ทราบกรุ พยายามค้นหาพระพิมพ์นี้แต่ไม่พบ องค์พระประธานเป็นพระนาคปรก แบบพระพิมพ์นารายณ์ทรงปืน ถ้าใครทราบชื่อพิมพ์ที่ถูกต้อง ช่วยบอกด้วยครับ จะขอบพระคุณยิ่ง ความเป็นธรรมชาติของพระองค์นี้ดีดูง่าย มีบางท่านเข้าใจว่าสนิมแดงบนพระเนื้อชินนั้นเกิดจากการเอารักจีนมาทา (ทำเทียมเรียนแบบ) พระเนื้อชินสนิมแดงเกิดจากปรอท (ไม่ใช่ตะกั่ว สนิมตะกั่วสีดำ) สนิมแดงคือออกไซด์ของปรอท เวลาเกิดจะค่อยๆเกิดจึงมีหลากสีที่เกิดก่อน และเกิดหลัง ส่วนรักจีนจะมีสีเฉดเดียว ที่เห็นหลายสีคือน้ำหนักเข้มอ่อนเกิดจากการทา ความหนาบางของรัก และมักพบเม็ดชาดจอแสในรักจีนเป็นจุดสีแดง เพราะรักจีนเกิดจากการเอาชาดสีแดงผสมยางรัก จึงแตกต่างกับสนิมแดงเพราะจะขยายภาพดูยังไงก็จะไม่พบจุดแดงของเม็ดชาด มีคนกล่าวว่าดูพระหลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูงให้สังเกตจุดแดง แสดงว่าพระองค์นั้นได้ลงรักจีนเอาไว้.














 

วันศุกร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2566

พระปิดตาหลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เป็นพระปิดตาเนื้อผงคลุกรักยอดนิยม ไม่แพ้พระปิดตาเนื้อผงคลุกรักของหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ จ.ชลบุรี และเป็นหนึ่งในชุดเบญจภาคีพระปิดตาเนื้อผงอีกด้วย หลวงปู่เอี่ยมท่านสร้างของดีไว้ ๒ อย่างคือ ตะกรุดโสฬสมงคล และพระปิดตาเนื้อผงคลุกรัก สำหรับพระที่ลงในวันนี้ รักที่ทาไว้ยังสมบูรณ์มาก ทำให้ไม่เห็นเนื้อในเลย รักมีความแห้งเหี่ยวดีมาก มีแคลไซต์เกิดขึ้นทั่วองค์ หนาบ้าง บางบ้าง รักที่ลงเป็นรักสองชั้นคือ ลงรักน้ำเกลี้งครั้งแรกพอแห้งดีแล้ว ลงรักสมุกทับอีกครั้ง รักจึงมีความคงทนจนถึงทุกวันนี้.











 

วันพฤหัสบดีที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2566

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ (พิมพ์ชายจีวรบาง) พระองค์นี้เป็นฝีมือช่างหลวงยุคปลาย เนื้อปูนสุกผสมปูนดิบ เนื้อพระค่อนข้างหยาบเล็กน้อย เป็นพระที่ผ่านการใช้มาพอสมควร แตกรานทั้งสองด้าน ซึ่งเซียนรุ่นก่อนสอนว่า พระสมเด็จวัดระฆังจะแตกรานเฉพาะด้านหน้าเท่านั้น ด้านหลังจะไม่แตก ถ้าเจอพระสมเด็จที่แตกรานด้านหลังให้ตีเก๊ได้เลย ซึ่งความเป็นจริงแล้วการแตกโดยธรรมชาติ จะกำหนดไม่ได้ว่าจะให้แตกเฉพาะด้านหน้าเท่านั้น ที่แตกเฉพาะด้านหลังอย่างเดียวก็มี เพราะฉะนั้นจะยึดเอาการแตกราน มากำหนดความเก๊แท้ของพระไม่ได้.











 

วันพุธที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2566

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ เนื้อดินสอเหลืองยุคปลาย แกะแม่พิมพ์โดยช่างสิบหมู่ ดินสอเหลือง หรือดินโป่งเหลือง เป็นดินโป่งประเภทหนึ่งที่มีสีเหลืองตามธรรมชาติ จัดเป็นของขลังประเภทหนึ่ง เป็นของดีในตัวเอง ท่านสมเด็จโตท่านได้นำดินโป่งเหลืองนี้มาเป็น ส่วนประกอบในการสร้างพระของท่าน โดยใช้เป็นส่วนผสมในการทำผง เพื่อปั้นเป็นแท่งดินสอสำหรับเขียนคาถา แล้วลบเอาผงไปทำผงวิเศษต่อไป นอกจากนี้ท่านยังนำดินโป่งเหลืองไปใช้ เป็นส่วนผสมทำผงเพื่อสร้างองค์พระอีกด้วย เนื้อครกใดมีส่วนผสมของดินโป่งเหลืองมาก เนื้อพระก็จะออกสีเหลืองจัด อย่างเช่นองค์ที่ลงให้ชมในวันนี้เป็นต้น.










 

วันอังคารที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2566

พระสมเด็จวัดเกศ พิมพ์ใหญ่ ๗ ชั้นนิยม ท่านสมเด็จโตได้สร้างพระพิมพ์นี้ตั้งแต่ยุคต้น จนถึงยุคปลาย พระพิมพ์นี้ตามบันทึกของหลวงปู่คำว่า นายทองช่างทำโบสถ์ติดกระจกหน้าบันอยู่อ่างทอง เป็นผู้แกะแม่พิมพ์ถวาย เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๔ และท่านได้สร้างพระพิมพ์นี้ที่วัดระฆัง นำไปบรรจุกรุไว้ที่วัดไชโยวรวิหาร และที่ไม่บรรจุกรุก็มี ท่านทำไว้อีกหลายวาระ สำหรับพระองค์ที่ลงในวันนี้เป็นพระยุคปลาย เนื้อหนึกนุ่ม ใช้น้ำมันตั้งอิ๊วเป็นตัวประสาน.