วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2565

พระขุนแผนเคลือบ กรุวัดใหญ่ชัยมงคล นับเป็นพระเครื่องอันดับหนึ่งของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีพุทธศิลปะที่งดงาม ซึ่งจำรองมาจากพระพุทธชินราช จ.พิษณุโลก และเป็นต้นแบบของการสร้างพระขุนแผนในยุคถัดมา จนถึงปัจจุบัน มูลเหตุการสร้างหลังจาก สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำสงครามยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชา พอเสด็จกลับมายังพระนคร จึงทรงโปรดฯให้สร้าง “พระมหาเจดีย์ใหญ่” ขึ้นไว้เป็นพุทธบูชาและเป็นอนุสรณ์แห่งการสงครามในครั้งนั้นที่ “วัดป่าแก้ว” ในขณะเดียวกัน สมเด็จพระพนรัตน์ พระอาจารย์ของท่านก็ได้สร้างพระพิมพ์บรรจุไว้ในพระมหาเจดีย์หลายพิมพ์ทรง หนึ่งในนั้น คือ “พระขุนแผนเคลือบ” ที่ทรงคุณค่า และมากด้วยพุทธคุณ อันเป็นที่ปรากฏทั้งเมตตามหานิยม แคล้วคลาด คงกระพันชาตรี ทั้งเนื้อหาและพุทธลักษณะขององค์พระยังมีความงดงาม จึงเป็นพระที่น่าสะสมมากพิมพ์หนึ่ง.






 

พระขุนแผน กรุบ้านกร่างพิมพ์ห้าเหลี่ยม อกใหญ่ จ.สุพรรณบุรี เป็นพิมพ์ที่มีรูปทรงแม่พิมพ์เหมือน พระขุนแผนเคลือบ พิมพ์พระประธาน กรุวัดใหญ่ชัยมงคล จ.อยุธยา พระทั้งสองกรุนี้เชื่อกันว่าพระนเรศวรเป็นผู้ที่ทรงให้สร้างขึ้น โดยพระกรุวัดบ้านกร่างสร้างขึ้นก่อนเพื่อเตรียมตัวทำศึก พระขุนแผนพิมพ์ห้าเหลี่ยม อกใหญ่ ถือเป็นพิมพ์นิยมสูงสุดของกรุนี้ มีความงดงามของพุทธศิลปะ พุทธลักษณะ รวมถึงพุทธคุณที่เป็นเลิศครบครัน.







 

วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2565

พระร่วงยืนสองหน้า กรุศรีสัชนาลัย ปกติส่วนใหญ่ที่พบเจอจะมีพระร่วงหลังลายผ้า ลพบุรี และพระร่วงหลังรางปืน สุโขทัย นานๆครั้งที่จะเจอพระร่วงสองหน้า โอกาสพบเจอน้อยมาก พระองค์นี้ได้จากคุณตาเป็นคนสุโขทัย ถามท่านว่าของกรุไหน ท่านบอกว่า "กรุศรีสัช สวรรคโลก" แต่ไม่ได้บอกระบุว่าวัดไหน คุณตาท่านนี้ยังเล่าให้ฟังว่า พระเหล่านี้ชาวบ้านขุดกันมานมนานแล้ว ก่อนจะเปิดกรุอย่างเป็นทางการ ที่เปิดกรุนั้นเป็นเพียงส่วนที่เหลือ หลังจาที่ชาวบ้านเอาไปแล้ว ปัจจุบันคนท้องที่ก็ยังมีเก็บไว้ในครอบครอง แต่ส่วนใหญ่จะไม่บอกให้ใครรู้ ข้อมูลที่ได้มาก็เป็นเช่นนี้ เลยทำให้คิดว่าพระกรุอื่นๆก็คงเป็นเช่นเดียวกัน เชื่อว่าเรื่องพระกรุไม่มีใครจะรู้ดีไปกว่าคนพื้นที่.











 

วันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2565

พระปิดตาข้าวตอกแตก เนื้อสัมฤทธิ์ หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง หนึ่งในพระปิดตาพิมพ์ยอดนิยมของหลวงปู่เอี่ยม สันนิษฐานว่าสร้างพร้อมกับพระปิดตายันต์ยุ่งเนื้อสัมฤทธิ์ พระเนื้อสัมฤทธิ์ ท่านสร้างไว้จำนวนไม่มากเพราะสมัยนั้น ขั้นตอนการสร้างยุ่งยากมาก ส่วนใหญ่จะสร้างเป็นเนื้อตะกั่ว เพราะวิธีการสร้างจะสะดวกกว่า พระองค์นี้มีขนาดเล็กกว่าปลายนิ้วก้อยเล็กน้อย หลังอูม ด้านหลังจารยันต์ห้าเอาไว้ องค์พระสมบูรณ์สวยงาม พระปิดตาของท่านจะเด่นเรื่องแคล้วคลาด และคงกระพัน จัดเป็นพระในตำนานองค์หนึ่ง ซึ่งไม่ค่อยได้เห็นบ่อยนัก.