วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

พระปิดตาของหลวงพ่อแก้ว นับเป็นต้นแบบของพระปิดตาเนื้อผงหลายสำนักในเมืองชลบุรีสืบมา เช่น พระปิดตาหลวงปู่ภู่วัดนอก พระปิดตาหลวงปู่เจียม วัดกำแพง พระปิดตาหลวงพ่อโต วัดเนินสุธาวาส และพระปิดตาหลวงปู่ครีพ วัดอุทยานนที (วัดสมถะ) เป็นต้น เนื่องด้วยพระปิดตาของหลวงพ่อแก้ว โด่งดังเรื่องเมตตามหานิยม และโชคลาภเป็นที่กล่าวขานกันมาหลายชั่วอายุคน และเป็นพระที่หายาก พระของท่านมีหลายพิมพ์ สำหรับพิมพ์ปั้นก็เป็นหนึ่งในนั้น ตามตำราว่าพระปิดตาพิมพ์ปั้นนั้น ส่วนใหญ่ท่านสร้างที่วัดปากทะเล และสร้างที่วัดเครือวัลย์ก็มี สำหรับพระที่ลงวันนี้สร้างที่วัดเครือวัลย์ เป็นเนื้อผงคลุกรัก และทารักทับอีกครั้ง ถึงปัจจุบันรักที่ทาหลุดร่อนไปมาก มีหลงเหลือไว้ให้เห็นในบางส่วน ซึ่งดูเหี่ยวแห้ง และย่นเป็นธรรมชาติ องค์พระมีขนาดเขื่องเล็กน้อย จัดเป็นพระที่มีธรรมชาติสวยงามองค์หนึ่ง.











 

วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

รูปหล่อหลวงพ่อเงิน วัดท่ามะไฟ ต.ท่าเสา อ.โพทะเล จ.พิจิตร เป็นวัดเก่าที่หลวงพ่อเงินท่านอุปถัมย์ เช่นเดียวกับวัดท่าตะโก วัดขวาง และวัดท้ายน้ำ พระชุดนี้หลวงพ่อเงินได้สร้างก่อน พระพิมพ์ขี้ตา และพิมพ์นิยม แต่ไม่ค่อยมีใครทราบ ซึ่งสร้างไว้ราวปี พ.ศ. ๒๔๒๐ เป็นพระเนื้อโลหะหล่อโบราณแก่ทองเหลือง มีขนาดเขื่องพิมพ์ใหญ่ขนาดหน้าตัก ประมาณ ๓ นิ้ว พิมพ์กลาง และพิมพ์เล็กขนาดจะลดหลั่นลงมา ส่วนราคานั้นไม่สูงเหมือนพิมพ์นิยม ราคาต่างกันมากใครที่อยากได้หลวงพ่อเงินแต่ติดที่ราคาสูงมาก พระรูปหล่อวัดท่ามะไฟเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ของคนที่อยากได้หลวงพ่อเงินไว้บูชา.








 

วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

พระร่วงหลังลายผ้า กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.ลพบุรี เป็นพระเนื้อชินตะกั่วสนิมแดง พระร่วงหลังลายผ้า กับพระร่วงหลังรางปืน ด้านหน้า มีพุทธลักษณะองค์พระใกล้เคียงกัน ต่างกันที่ด้านหลัง พระร่วงหลังลายผ้านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อชินสนิมแดง เนื้อชินเงินมีจำนวนน้อย อายุการสร้างมากกว่า ๘๐๐ ปี พระร่วงหลังลายผ้ามีอยู่สองพิมพ์คือ พิมพ์ใหญ่ และพิมพ์เล็ก ซึ่งได้ถูกยกย่องให้เป็น หนึ่งในจักรพรรดิ์พระเครื่องเนื้อชินสนิมแดง เพชรน้ำเอกแห่งเมืองละโว้.







 

วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

พระร่วงหลังรางปืน กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุโขทัย พระร่วงยืนนั้นมีหลายกรุ ไม่ต่ำกว่า ๒๐ กรุ กระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆเช่น จ.สุพรรณบุรี จ.สิงห์บุรี จ.ชัยนาท จ.กำแพงเพชร และจ.กาญจนบุรีเป็นต้น แต่สำหรับพระร่วงหลังรางปืนที่นิยมสูงสุดคือ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุโขทัย และถ้าเป็นพระร่วงหลังลายผ้า ต้องกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.ลพบุรี พระทั้งสองกรุนี้ได้รับความนิยมสูงสุด สำหรับพระที่นำมาลงในวันนี้มีสภาพสมบูรณ์ มีคราบสนิมออกไซด์สีขาวปกคลุมเกือบทั่วองค์ ดูคล้ายคราบแคลไซต์ เห็นสนิมแดงบางจุดที่เกิดขึ้นในเนื้อพระ มีเศษทองเปลวหลงอยู่แต่เป็นทองใหม่ที่ปิดภายหลังที่ออกจากกรุ ช่วงเวลาที่ผ่านมา เชื่อกันว่าพระเหล่านี้มีจำนวนน้อยโดยเฉพาะ พระร่วงหลังรางปืน กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุโขทัย ที่มีสภาพสวยสมบูรณ์มีเพียงยี่สิบกว่าองค์ จึงทำให้พระกรุนี้มีราคาถึงเลขเจ็ดหลัก แต่จากการสอบถามคนในพื้นที่ และที่พบเจอพระเหล่านี้มีจำนวนพอสมควร ไม่ได้มีน้อยอย่างที่เราได้รับรู้กันมา เพราะคนในพื้นที่รุ่นปู่เขา ขุดกรุเหล่านี้กันมานานแล้ว ก่อนที่จะเปิดกรุเป็นทางการ พระเหล่านี้จึงตกทอดอยู่กับชาวบ้านพอสมควร แต่ไม่มีใครอยากเปิดเผย นอกจากคนที่จำเป็นต้องเอาออกมาแรกเปลี่ยนเป็นเงินด้วยความจำเป็น ซึ่งราคาคนธรรมดาอย่างเราๆสามารถเก็บได้ ใครเจอและได้ไว้ก็ถือเป็นโชคของคนนั้นที่ได้บูชาของดี ในราคายุติธรรม