วันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ยุคกลาง

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ยุคกลาง พระองค์นี้เจ้าของเดิมเคลือบเทียนไว้เต็มองค์ เป็นอีกหนึ่งวิธีในการรักษาเนื้อพระของคนรุ่นเก่า ที่ยังไม่มีการเลี่ยมกรอบพระเหมือนในปัจจุบัน คนที่อยากได้พระสมเด็จของท่านสมเด็จโต แต่ไม่อยากเสียเงินเช่าหาราคาแพง พระยุคต้นและพระยุคกลาง เป็นอีกทางเลือกซึ่งพระยังมีอยู่อีกมาก ขอให้เราดูเป็นเข้าใจเนื้อ ก็จะได้พระสมเด็จของท่านมาบูชาไม่ยากนัก.




วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่เนื้อกังใส

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่เนื้อกังใส เป็นพระที่ใช้เนื้อดินจากเมือง "อันฮุย" เป็นเนื้อพื้นผสมกับมวลหลักต่างๆของท่าน ดินจากเมือง "อันฮุย" เป็นดินที่สั่งนำเข้าจากจีนเพื่อทำชามเบญจรงค์ เนื้อพระจึงดูผิวละเอียดเนียนและแกร่งถือเป็นเนื้อพิเศษไม่ใช่เนื้อหลัก พูดถึงดินที่เป็นผงผสมพระของท่านสมเด็จโต หลวงปู่คำบันทึกไว้ ๗ อย่างมี ๑. ดินเจ็ดโป่ง ๒. ดินตีนท่าเจ็ดท่า ๓. ดินเจ็ดสระ ๔. ดินกลางใจเมืองเจ็ดเมือง ๕. ดินขี้ไคลเสมา ดินขี้ไคลเจดีย์ ๖. ดินสอขาวหรือดินขาว สำหรับเขียนยันต์ตามสูตรพระเวทย์ ๗. ดินกระแจะปรุงด้วยของหอม ดินเหล่านี้จะถูกบดเป็นผงไว้ผสมพระ แต่จะให้บอกว่าชิ้นส่วนตรงไหนคือดินอะไรคงตอบยาก แม้นจะใช้กล้องขยายกำลังสูงก็ตาม ไม่เหมือนมวลสารอื่นที่ไม่ละลายตัว เช่นเม็ดคราม อิฐแดง ก้านธูป เกสรบัว หรือเม็ดกล้วยเป็นต้น.





วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ ขอบล่างฟันหนู

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ ขอบล่างฟันหนู พระองค์นี้เป็นพระยุคปลายที่ใต้เส้นซุ้มด้านล่างมีเนื้อเกิน ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม จึงเรียกพิมพ์นี้ว่า "ขอบล่างฟันหนู" พระอง.ค์นี้เป็นพระเนื้อละเอียด สีขาวครีมอมเหลือง คนรุ่นเก่าเรียก "เนื้อนมข้นหวาน" เพราะสีและเนื้อคล้ายนมข้นหวาน พระองค์นี้มีมวลสารชัดเจนกระจายอยู่ทั่วไป เป็นพระที่สมบูรณ์และดูง่ายองค์หนึ่ง 





วันพุธที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ เนื้อว่านสบู่เลือด

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ เนื้อว่านสบู่เลือด หลวงสิทธิ์เป็นผู้แกะแม่พิมพ์ถวาย แม่พิมพ์ของหลวงสิทธิ์จะได้สัดส่วน ใกล้เคียงกับงานของ หลวงวิจารณ์ จากสถิติที่ดูงานของหลวงสิทธิ์ พอสรุปแม่พิมพ์หลวงสิทธิ์ได้ดังนี้คือ เส้นซุ้มใหญ่ องค์พระได้สัดส่วน ฐานบนเป็นฐานหมอน ฐานชั้นกลางจะเป็นฐานขาโต๊ะหรือฐานคมขวาน ส่วนฐานชั้นล่างมักเป็นฐานหน้ากระดานตัดเฉียง พระยุคกลางเป็นฝีมือหลวงสิทธิ์เสียมาก ต่อเนื่องมาจนถึงยุคปลาย พระเนื้อว่านสบู่เลือดนี้ สร้างปี พ.ศ.๒๔๐๐ ท่านสมเด็จโตทำแจกเฉพาะทหารที่ไปรบกับเงี้ยวเท่านั้น (คือเน้นคงกระพัน) รบกันอยู่หลายปีจนปราบได้สำเร็จ เมื่อทหารเดินทางกลับถึงกรุงเทพฯ ปีพ.ศ. ๒๔๐๗ ปีนั้นท่านได้เป็นสมเด็จพอดี จึงพากันเรียกพระชุดนี้ว่า "สมเด็จแดงกวนอู" ตั้งแต่นั้นมา พระชุดนี้ขึ้นชื่อเรื่องคงกระพันว่าเหนียวนัก ใครมีพระพิมพ์นี้จะไม่มีวันตายโหง จึงเป็นที่ต้องการของหนุ่มๆนักเลงหัวไม้ในยุคนั้น แต่ก็หายากเพราะท่านแจกให้เฉพาะทหารที่ไปรบเท่านั้น ชาวบ้านทั่วไปท่านจะไม่ให้ ส่วนพระที่เหลือ ท่านให้พระยากลาโหมนำไปบรรจุไว้ในเจดีย์ทอง ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว ทั้งหมดตั้งแต่นั้นมา พระเนื้อนี้ที่พบเจอมักเป็นพิมพ์ใหญ่และมีอยู่หลายพิมพ์.





วันอังคารที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ เนื้อเขียวก้านมะลิ

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ บางท่านเรียก "เนื้อเขียวก้านมะลิ" พระองค์นี้เป็นพระยุคปลาย "หลวงวิจารณ์เจียรนัย" เป็นผู้แกะพิมพ์ เนื้อพระหนึกแกร่ง โดยรวมเนื้อออกสีเขียว เหตุจากการตั้งใจบดผสมหินเขียวลงไปมาก หินเขียวนี้คือเม็ดครามที่ท่านไว้ใส่เป็นส่วนผสมในเนื้อพระ จะเรียกว่าเป็นมวลสารหลักของท่านก็ได้ ให้คุณทางร่มเย็นเป็นสุข โดยปกติ เราจะเจอเม็ดครามนี้ไม่กี่เม็ดซุกซ่อนอยู่ในพระหนึ่งองค์ เม็ดครามที่เจอนั้นจะมีสองสี คืออมเขียวและอมฟ้า แต่สำหรับองค์นี้ได้บดหินเขียวจนละเอียด และใส่ไว้เป็นจำนวนมากจนเนื้อพระออกสีเขียวชัดเจน เป็นไปได้ไหมว่า ท่านทำในวาระพิเศษวาระใดวาระหนึ่ง?