วันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์กลีบบัว

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์กลีบบัว พระองค์นี้เป็นพระยุคปลาย พระพิมพ์นี้มีบรรจุไว้ที่เพดานวิหารวัดระฆังเช่นกัน พระชุดนี้ใช้น้ำอ้อยเคี่ยวและยางไม้เป็นตัวประสานแบบพระยุคต้นและยุคกลาง ใช้แป้งข้าวเหนียวกับดินโป่งเหลืองผสมกันเป็นเนื้อหลัก เนื้อพระจึงดูคล้ายพระยุคกลาง ส่วนดินโป่งเหลืองเป็นดินโป่งประเภทหนึ่งที่มีสีเหลืองในตัว จัดเป็นของดีของขลังในตัว ท่านจึงนำมาเป็นส่วนประกอบในการสร้างพระของท่านบางชุด และได้บดเป็นผงเพื่อนำมาเป็นส่วนผสม ในการปั้นเป็นแท่งดินสอสำหรับเขียนพระเวทด้วย พระองค์ใดมีส่วนผสมของดินโป่งเหลืองมาก สีจะออกเหลืองจนเห็นได้ชัด ซึ่งคนรุ่นก่อนจะเรียกเนื้อลักษณะนี้ว่า "เนื้อกล้วยหอม"




วันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

พระเนื้อผงพุทธคุณศิลปะคันธาระ

พระเนื้อผงพุทธคุณศิลปะคันธาระ เข้าใจว่าเป็นพระยุคปลายของท่านสมเด็จโต เป็นพระยุคต้นรัชกาลที่ ๕ ฝีมือช่างหลวง ทาชาดแล้วลงรักดำทับอีกชั้นหนึ่ง พระคันธาระเป็นคนละองค์กับพระคันธารราษฎร์ พระคันธารราษฎร์เป็นพระขอฝน ส่วนพระคันธาระเป็นชื่อแคว้นหนึ่งในอดีตอยู่ในบริเวณประเทศปากีสถานและอัฟกานิสถานในปัจจุบัน มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๖-๑๐ ศิลปะคันธาระเป็นแบบกรีก-โรมัน ถือเป็นศิลปะยุคแรกๆในการสร้างพระพุทธรูป มูลเหตุเมื่อครั้งพระเจ้าอเล็กซานเดอร์พยายามรุกรานอินเดียเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๓ แต่ไม่สำเร็จจึงถอยทัพกลับ แต่มีเหล่าขุนนางบางส่วนไม่ได้กลับด้วย ได้ตั้งรกรากอยู่ที่บริเวณนั้น จึงเกิดศิลปกรรมตามแบบกรีก-โรมัน ที่เรียกว่าศิลปะคันธาระ ตามชื่อเมือง ซึ่งมีรูปแบบใกล้เคียงมนุษย์โดยธรรมชาติ ไม่มีการตัดทอนเติมแต่งตามคตินิยมเช่นยุคถัดมา ถ้ากล่าวถึงในระยะแรกเริ่มการสร้างพระพุทธรูปนั้น มีทั้งสิ้น ๓ สกุลช่างได้แก่ พระพุทธรูปศิลปะคันธาระ ศิลปะมถุรา และศิลปะอมราวดี พระพุทธรูปแบบคันธาระนี้ เริ่มสร้างและมีบทบาทต่อการสร้างพระพุทธรูปในประเทศไทย ช่วงสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา เพราะช่วงนั้นเริ่มมีความก้าวหน้าในการศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดีอินเดียโดยนักวิชาการชาวตะวันตก ซึ่งได้ค้นพบพระพุทธรูปแบบคันธาระและเป็นความรู้ใหม่ จึงทำให้เกิดความนิยมของชนชั้นสูง สร้างพระพุทธรูปแบบคันธาระขึ้นในประเทศไทย





วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

พระสมเด็จตราแผ่นดิน และพระกริ่งปวเรศใต้ฐาน จปร.

พระสมเด็จตราแผ่นดิน และพระกริ่งปวเรศใต้ฐาน จปร.พระทั้งสององค์นี้สร้างในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ ของรัชกาลที่ ๕ เมื่อวันที่ ๑๖ พฤจิกายน พ.ศ.๒๔๑๖ (ถึงวันนี้ครบรอบ ๑๔๕ ปีพอดี) สำหรับพระทั้งสององค์นี้ ผู้ที่ออกแบบตราแผ่นดิน และตรา จปร.เป็นคนเดียวกัน คือหม่อมเจ้าประวิช (ต๋ง) ชุมสาย ในกรมขุนราชสีหวิกรม ออกแบบไว้เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๖ ทั้ง ๒ ตรา ผลงานของท่านมีมากมายมีทั้งงานออกแบบ งานจิตรกรรมฝาผนัง งานปูนปั้นในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท งานเครื่องทองลงยาต่างๆ จนถึงอนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ที่พระราชวังบางประอิน และที่สวนสราญรมย์ เครื่องแบบจักรีบรมมหาราชวงศ์ เสื้อยันต์เจ้า เสื้อยันต์ขุนนาง และนิพนธ์หนังสือชื่อจิตรกรรมโกศล เป็นต้นตำราแบบลายไทย และช่างไทย ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงส่วนน้อยในผลงานที่ท่านสร้างไว้ พระสมเด็จตราแผ่นดินนั้นไม่ทันท่านสมเด็จโต เพราะท่านมรณะก่อน ๑ ปี คือปี พ.ศ.๒๔๑๕


วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

พระสมเด็จบนตราพระราชลัญจกร

พระองค์นี้เป็นพระสมเด็จที่ท่านสมเด็จโตสร้าง เป็นชุดสุดท้าย (ที่ทำจำนวนมาก) ทำด้วยเนื้อแป้งข้าวเหนียว ลงรักผสมชาดปิดทอง ส่วนหนึ่งถูกเก็บไว้ที่เพดานวิหารวัดระฆัง พระชุดนี้จะมีการปิดทองไว้ด้านหลังด้วยทุกองค์ทุกพิมพ์ (ถ้าไม่ถูกล้างออก) สำหรับพิมพ์นี้เป็นตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่๕ มีพระสมเด็จอยู่ตรงกลาง สันนิษฐานว่าสร้างตอนฉลองรัชกาลที่๕ ขึ้นครองราชปี พ.ศ.๒๔๑๑ วันนี้นำมาให้ชม ๒ องค์ส่วนอีกองค์โดนล้างรักออก ทำให้เห็นเนื้อและพิมพ์ชัดเจน เป็นแม่พิมพ์คนละตัวกัน ด้านหลังมีรูปพระสมเด็จประทับเอาไว้เนื้อแตกลายสวยงาม










วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

พระสมเด็จทรงกลีบบัวเนื้อว่านผสมผง

พระสมเด็จทรงกลีบบัวเนื้อว่านผสมผง มีรูปองค์ท่านสมเด็จโตอยู่ตรงกลาง ด้านบนเป็นรูปพระพุทธ มีฉัตรประดับซ้ายและขวา (ข้างองค์พระพุทธ) ส่วนด้านข้างท่านสมเด็จโตมีพระสมเด็จฐาน ๓ ชั้นอยู่ข้างละ ๑ องค์ ด้านล่างมีตัวอักษรเขียนว่า "สมเด็จโต" พระองค์นี้มีขนาดเขื่อง ฝีมือการแกะแม่พิมพ์โดยช่างหลวง เนื้อพระบางส่วนได้ถูกแมลงแทะกินไป เพราะเป็นพระเนื้อว่าน พวกสัตว์ต่างๆชอบมาแทะกิน พระองค์นี้ใช้น้ำอ้อยเคี่ยว และยางไม้เป็นตัวประสานเนื้อพระ





วันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

พระทรงกลีบบัวหลังตราแผ่น

พระทรงกลีบบัวหลังตราแผ่น พระองค์นี้เข้าใจว่าสร้างใน งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่๒ ของรัชกาลที่๕ เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๑๖ เป็นรูปตราบนหมวกทหารเรือ ตรานี้เริ่มใช้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่๔ ส่วนเนื้อพระเป็นเนื้อข้าวสุกผสมผง ใช้น้ำอ้อยเคี่ยวและยางไม้เป็นตัวประสาน พระองค์นี้ไม่ทันท่านสมเด็จโต เพราะท่านมรณะก่อน ๑ ปี คือปี พ.ศ.๒๔๑๕ 





วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

พระท่านสมเด็จโตในรูปแบบตราพระราชลัญจกร

พระเนื้อผงพุทธคุณ ท่านสมเด็จโตในรูปแบบตราพระราชลัญจกร (พระราชลัญจกร คือตราที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้ประทับ กำกับพระปรมาภิไธยและประทับกำกับเอกสารสำคัญ ที่ออกในพระปรมาภิไธย เป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงพระราชอำนาจ และพระราชลัญจกรประจำแผ่นดินหรือประจำรัชกาลนั้น) พระที่ลงในวันนี้มีลงอยู่ในหนังสือ "พระสมเด็จวังหน้า และ หลวงพ่อเงินบางคลานพิมพ์ช่างหลวง" เขียนโดย "มัตตัญญู" (เป็นหนังสือที่ดีน่าสนใจเล่มหนึ่ง) ซึ่งได้ลงภาพเอาไว้ แต่ไม่มีข้อมูลเชิงลึกสำหรับพระพิมพ์นี้ โดยส่วนตัวเข้าใจว่าสร้างฉลองรัชกาลที่ ๕ ขึ้นครองราชปี พ.ศ.๒๔๑๑ หรือ พ.ศ.๒๔๑๖ ฉลองครองราชครั้งที่๒ เพราะ ๒ ปีนี้มีการสร้างพระไว้มากทั้งแบบและเนื้อ ด้วยในราชสำนักนับถือท่านสมเด็จโตมาก (ช่วงเวลานั้นไม่มีสมเด็จพระสังฆราชตำแหน่งว่างอยู่) จึงได้ออกแบบเอารูปองค์ท่านไว้ในตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ ๕ เข้าใจว่าเพื่อเป็นศิริมงคล ฝีมือแกะพิมพ์เป็นฝีมือช่างหลวง เนื้อองค์พระเป็นเนื้อแก่ข้าวสุกผสมผงและมวลสารอื่นๆ (อาจเป็นเนื้อแป้งข้าวเหนียวก็ได้ เพราะเนื้อข้าวสุกกับเนื้อแป้งข้าวเหนียวแยกยากจะคล้ายกัน) สำหรับตัวประสานเนื้อนั้นใช้น้ำอ้อยเคี่ยวและยางไม้เป็นตัวประสาน แบบพระยุคต้นและพระยุคกลาง ส่วนด้านหลังเป็นหลังเบี้ย พระองค์นี้เนื้อหางดงาม





วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

พระรูปเหมือนท่านสมเด็จโต

วันนี้ขอลงพระรูปเหมือนท่านสมเด็จโตต่อเนื่องจากเมื่อวาน พระองค์นี้มีขนาดเขื่อง เท่าองค์หูไหที่ลงไว้เมื่อวานนี้ แต่องค์นี้หลังเรียบ สภาพสมบูรณ์ เป็นฝีมือช่างหลวงเช่นกัน พระชุดนี้นอกจากมีเนื้อหลักเป็นเนื้อแป้งข้าวเหนียวผสมผงแล้ว ที่พบมีเนื้อว่านด้วย ซึ่งนำมาลงไว้ให้ชมเช่นกัน พระเนื้อว่านที่ลงไว้นี้ด้านหลังเป็นหูไห และมียันต์อักขระ มีรูปไก่อยู่ด้านล่าง มีอักษรย่อตัว "ก" ด้านซ้าย "ถ" ด้านขวา พระเนื้อว่านนี้ถ้าเก็บไม่ดีจะโดนหนูและแมลงมาแทะกิน พระพิมพ์เหล่านี้ปัจจุบันหาดูยากแล้ว จึงนำมาให้ชม ว่าพระของท่านสมเด็จโตลักษณะนี้ก็มีครับ









วันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

พระรูปเหมือนท่านสมเด็จโต หลังหูไห

พูดถึงพระสมเด็จของท่านสมเด็จโตนั้นมีมาก มีที่ท่านสร้างเองและลูกศิษย์ที่นับถือท่าน ขอเนื้อผงของท่านไปกดพิมพ์ แล้วนำมาให้ท่านอธิฐานจิตให้ โดยเฉพาะในราชสำนักไม่ว่าจะเป็นวังหน้า วังหลัง และจ้าวนายท่านอื่นๆ ไม่สามารถทราบได้หมด ตัวอย่างพระที่ลงวันนี้น่าจะเป็นของวังหน้า เป็นพระนูนสูงหลังหูไห มีขนาดเขื่อง เป็นพระยุคปลายข้อมูลจากหนังสือของท่าน พ.ต.ต.จำลอง มัลลิกะนาวิน ได้เขียนไว้เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖ว่า ท่านสมเด็จโต สร้างพระชุดสุดท้ายโดยใช้แป้งข้าวเหนียว เพราะสะดวกรวดเร็วกว่าใช้ปูนเปลือกหอยมาก พระชุดสุดท้ายนี้พบอยู่บนเพดานวิหารวัดระฆัง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕ แต่ไม่เป็นข่าวสู่ภายนอก ประกอบกับทางวัดได้ออกพระชุดครบรอบ ๑๐๐ ปีพอดี พระชุดเพดานวิหารวัดระฆังนั้นมีมากพิมพ์ ส่วนใหญ่จะลงรักปิดทอง สำหรับพระที่ลงในวันนี้เป็นพระเนื้อแป้งข้าวเหนียวเช่นกัน พระเนื้อนี้จะเช็คแคลไซต์ไม่ได้เพราะไม่ได้สร้างจากปูน เพราะฉะนั้นเวลาเช็คแคลไซต์ก็ต้องเข้าใจเนื้อพระด้วย พระยุคปลายนี้เนื้อหาจะใกล้เคียงกับพระยุคต้น พระเหล่านี้มีคนรู้จักไม่มากนัก ไม่มีราคาค่างวดในตลาดพระ แต่มีคุณค่าสำหรับผู้ที่ศรัทธาและสะสมผลงานของท่าน เพราะเป็นของหายากไม่ค่อยได้พบเห็นทั่วไป