พระเนื้อผงพุทธคุณศิลปะคันธาระ เข้าใจว่าเป็นพระยุคปลายของท่านสมเด็จโต เป็นพระยุคต้นรัชกาลที่ ๕ ฝีมือช่างหลวง ทาชาดแล้วลงรักดำทับอีกชั้นหนึ่ง พระคันธาระเป็นคนละองค์กับพระคันธารราษฎร์ พระคันธารราษฎร์เป็นพระขอฝน ส่วนพระคันธาระเป็นชื่อแคว้นหนึ่งในอดีตอยู่ในบริเวณประเทศปากีสถานและอัฟกานิสถานในปัจจุบัน มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๖-๑๐ ศิลปะคันธาระเป็นแบบกรีก-โรมัน ถือเป็นศิลปะยุคแรกๆในการสร้างพระพุทธรูป มูลเหตุเมื่อครั้งพระเจ้าอเล็กซานเดอร์พยายามรุกรานอินเดียเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๓ แต่ไม่สำเร็จจึงถอยทัพกลับ แต่มีเหล่าขุนนางบางส่วนไม่ได้กลับด้วย ได้ตั้งรกรากอยู่ที่บริเวณนั้น จึงเกิดศิลปกรรมตามแบบกรีก-โรมัน ที่เรียกว่าศิลปะคันธาระ ตามชื่อเมือง ซึ่งมีรูปแบบใกล้เคียงมนุษย์โดยธรรมชาติ ไม่มีการตัดทอนเติมแต่งตามคตินิยมเช่นยุคถัดมา ถ้ากล่าวถึงในระยะแรกเริ่มการสร้างพระพุทธรูปนั้น มีทั้งสิ้น ๓ สกุลช่างได้แก่ พระพุทธรูปศิลปะคันธาระ ศิลปะมถุรา และศิลปะอมราวดี พระพุทธรูปแบบคันธาระนี้ เริ่มสร้างและมีบทบาทต่อการสร้างพระพุทธรูปในประเทศไทย ช่วงสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา เพราะช่วงนั้นเริ่มมีความก้าวหน้าในการศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดีอินเดียโดยนักวิชาการชาวตะวันตก ซึ่งได้ค้นพบพระพุทธรูปแบบคันธาระและเป็นความรู้ใหม่ จึงทำให้เกิดความนิยมของชนชั้นสูง สร้างพระพุทธรูปแบบคันธาระขึ้นในประเทศไทย |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น