วันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2562

พระร่วงนั่งสนิมแดง

พระร่วงนั่งสนิมแดง ไม่ทราบกรุมีสนิมแดงเต็มองค์สวยงาม หลังลายผ้า มีขนาดความกว้าง ๒.๗ สูง ๔.๗ ซ.ม.โดยประมาณ ลักษณะคล้ายพระร่วงนั่ง กรุดอนกระโดน จังหวัดชัยนาท ดูงามดีจึงนำมาให้ชมครับ

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์พิเศษ "พิมพ์เล็บมือ"

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์พิเศษ "พิมพ์เล็บมือ" พระพิมพ์นี้ที่พบเจอมีอยู่หลายพิมพ์เหมือนกัน ค้นข้อมูลทีได้มา ท่านได้สร้างไว้เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๖ คือทำตอนอายุครบ ๓ รอบ และทำแจกเทศน์มหาชาติตอนออกพรรษาในปีเดียวกัน และทำบรรจุไว้ที่วัดปากบาง ในปีพ.ศ.๒๓๖๑ขณะนั้นท่านเป็นพระลูกวัดธรรมดา สำหรับพระองค์นี้เป็นพระยุคกลาง แต่ไม่พบประวัติการสร้าง เป็นพระพิมพ์ที่พบเจอน้อย เลยนำมาให้ชม





วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2562

พระลือโขง หรือพระจามเทวี ซุ้มเรือนแก้ว กรุวัดกู่เหล็ก จังหวัดลำพูน

พระลือโขง หรือพระจามเทวี ซุ้มเรือนแก้ว กรุวัดกู่เหล็ก จังหวัดลำพูน เป็นพระเนื้อดินผสมว่าน ยุคเดียวกับพระรอดกรุวัดมหาวัน แต่หายากกว่าเพราะมีการพบเจอจำนวนไม่มาก องค์พระมีขนาดเขื่องและมีพุทธศิลป์ที่งดงามมาก เป็นศิลปแบบหริภุญไชย พระชุดนี้แตกกรุเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๒ พระกรุนี้มีสองสีคือ เนื้อสีเหลืองและเนื้อสีเขียว พระที่นำมาให้ชมในวันนี้เป็นพระเนื้อเขียว ซึ่งสภาพยังไม่ค่อยสวยสมบูรณ์นัก แต่ก็ยังคงความงามไว้ให้เห็น พระลือโขงชุดนี้เชื่อกันว่าเด่นทาง เมตตามหานิยม โชคลาภ จัดป็นพระที่หาชมยากองค์หนึ่ง







วันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2562

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์พิเศษ

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์พิเศษ เป็นทรงสี่เหลี่ยมชิ้นฟัก ใหญ่กว่าพระคะแนนเล็กน้อย ลักษณะซุ้มเหมือนซุ้มพระวัดเกศพิมพ์เข่าบ่วง พระองค์นี้เป็นพระเนื้อหยาบ ใช้ยางไม้และน้ำอ้อยเคี่ยวเป็นตัวประสาน เห็นเป็นพิมพ์แปลกตาเลยนำมาลงให้ชม





วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2562

พระผงสุพรรณพิมพ์หน้าแก่ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี

พระผงสุพรรณกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพระเนื้อดินละเอียดผสมว่าน และเกสรดอกไม้ จัดเป็นกลุ่มพระเนื้อดินดิบ (ผ่านการบ่มไฟอ่อน) ที่พบเจอมีอยู่ ๓ พิมพ์ คือพิมพ์หน้าแก่ พิมพ์หน้ากลาง และพิมพ์หน้าหนุ่ม สำหรับพระที่ลงในวันนี้เป็น พระผงสุพรรณพิมพ์หน้าแก่ ที่แปลกกว่าองค์อื่นคือ มีการลงรรักปิดทอง พระกรุส่วนใหญ่จะมีการลงรักมาแต่เดิมอยู่แล้ว ที่เราเรียกกันว่า "รารัก" แต่ไม่ค่อยพบที่ยังมีทองปิดเหลืออยู่ให้เห็น สำหรับพระองค์นี้เข้าใจว่า ลงกรุสองครั้ง คือเมื่อแตกกรุออกมาครั้งแรก มีการนำพระมาปิดทอง แล้วเอากลับไปบรรจุกรุที่ใดที่หนึ่งไว้ จนแตกกรุอีกครั้งเป็นครั้งที่สอง จึงเห็นพระในสภาพนี้ อันนึ้สันนิษฐานจากสภาพพระ ผิดถูกอย่างไรต้องขออภัยด้วยครับ



วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2562

พระหลวงพ่อปาน พิมพ์ไก่โบราณเนื้อผง วัดบางนมโค

พระหลวงพ่อปาน พิมพ์ไก่โบราณเนื้อผง วัดบางนมโค พระชุดนี้เป็นพระชุดแรกๆที่ท่านสร้าง เป็นผงพุทธคุณล้วน บ้างก็เรียกผงวิเศษ ผสมทราย เป็นพระยุคต้นที่เรียกกันว่า "พิมพ์โบราณ" ตามตำราว่าผงนี้ท่านจะทำผงแยกของสัตว์แต่ละชนิด ทำอยู่ในโบสถ์ 7วัน7คืนโดยไม่ออกจากโบสถ์เลย นี้คือผงที่หนึ่ง ผงที่สองคือผงที่ท่านเขียนจากยันต์เกราะเพชร (วิชานี้ท่านได้ถ่ายทอดให้หลวงพ่อฤษีลิงดำ) ผงที่สามคือผงวิเศษ 5 ประการประกอบด้วย ผงอิทธิเจ ผงปถมัง ผงมหาราช ผงตรีนสิงเห และผงพุทธคุณ (ผงวิเศษ 5 ประการนี้เป็นผงที่ท่านสมเด็จโตใช้ทำพระของท่าน) การทำผงต่างๆยาก และต้องใช้เวลากับความอุตสาหะอย่างสูง ภายหลังท่านจึงนำผงนี้มาบรรจุไว้ในพระเนื้อดินของท่าน เพื่อให้ได้พระปริมาณมาก และทั่วถึงกับความต้องการของชาวบ้านในยุคนั้น พระชุดแรกนี้สร้างในปี พ.ศ.2451 มีพระเนื้อผงกับพระเนื้อดิน พระเนื้อดินจะอุดผงไว้ที่ขอบด้านล่าง ในปีพ.ศ.2460 ท่านได้ทำแม่พิมพ์พระขึ้นใหม่ มี 6 พิมพ์หลัก และสวยงามกว่าพระชุดแรกโดยอุดผงไว้ที่ขอบด้านบน คือพิมพ์ต่างๆที่เราเล่นหากันอยู่ในปัจจุบันนี้.




พระหลวงพ่อปาน พิมพ์หนุมานหาวเป็นดาวเป็นเดือน วัดบางนมโค

พระหลวงพ่อปาน พิมพ์หนุมานหาวเป็นดาวเป็นเดือน วัดบางนมโค พระพิมพ์หนุมานของหลวงพ่อปานนี้ ยังแยกออกเป็นอีกหลายพิมพ์ มี พิมพ์หนุมานใหญ่ทรงเครื่อง (ลึกและตื้น) หนุมานใหญ่ไม่ทรงเครื่อง พิมพ์หนุมานฐานสามชั้น พิมพหนุมานฐานสองชั้น พิมพ์หนุมานยันต์แถวเดียว และพิมพ์หนุมานหาวเป็นดาวเป็นเดือน พระหลวงพ่อปานมีทั้งเนื้อหยาบและเนื้อละเอียด พระที่ลงในวันนี้เป็นพระเนื้อละเอียดผ่านการใช้และลงรักมา มีสภาพสวยพองาม




วันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2562

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่สังฆาฏิ

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่สังฆาฏิ พระองค์นี้เป็นพระยุคปลายตอนต้น เหตุที่บอกยุคปลายตอนต้นคือ มีคราบของน้ำมันตังอิ๊วและคราบของน้ำอ้อยเคี่ยวปนกัน ถ้าพระยุคกลางจะใช้น้ำอ้อยเคี่ยวกับยางไม้ เป็นตัวประสานเนื้อ (ไม่มีน้ำมันตังอิ๊ว) ส่วนพระยุคปลายจะใช้น้ำมันตังอิ๊วอย่างเดียวหรืออาจมีน้ำว่านผสม จึงบอกเป็นพระยุคปลายตอนต้นด้วยเหตุนี้ พระองค์นี้เป็นฝีมือช่างหลวงแกะแม่พิมพ์ เห็นเส้นสังฆาฏิชัดเจน เนื้อพระเป็นพระเนื้อละเอียดแก่ข้าวสุก ดูหนึกเหนียว คนรุ่นก่อนจะเรียกพระเนื้อนี้ว่า "เนื้อขนมเข่ง" เพราะลักษณะของเนื้อจะคล้ายเนื้อขนมเข่งนั่นเอง.




วันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2562

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ทรงเจดีย์

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ทรงเจดีย์ พระพิมพ์นี้เดิมทีเรียก "พิมพ์พระประธาน" แล้วคนรุ่นหลังมากำหนดกันใหม่ว่า "พิมพ์ทรงเจดีย์" เหตุผลคือ พระพิมพ์นี้ถ้าลากเส้นจากมุมฐานสองข้างไปที่ปลายเกศ จะเป็นรูปสามเหลี่ยม เลยตั้งชื่อขึ้นใหม่ว่า "พิมพ์ทรงเจดีย์" พระพิมพ์นี้มีแม่พิมพ์อยู่หลายแม่พิมพ์ ท่านสร้างไว้หลายวาระตั้งแต่ยุคต้นถึงยุคปลาย เพราะฉะนั้นใครมีพระพิมพ์นี้อยู่ แต่ดูแล้วว่าเป็นพิมพ์ทรงเจดีย์เหมือนกัน แต่ทำไมพระถึงไม่เหมือนกัน ก็อาจเป็นคนละแม่พิมพ์ก็ได้ และการชี้ตำหนิพระตามหนังสือ เราก็ต้องดูด้วยว่าพระองค์ที่เขาเอามาชี้นั้น เป็นพิมพ์อะไรด้วยจะได้ไม่หลง สำหรับพระที่เอามาลงในวันนี้เป็นพระยุคกลางที่ท่านสร้าง มีคราบน้ำว่านและน้ำอ้อยเคี่ยวเป็นจ้ำตามพื้น มีรอยหนอนด้น มีการแตกราน การเกิดปูนใหม่และคราบขาวของแคลไซต์ปรกคลุมผิวอยู่ สำหรับพระพิมพ์นี้จะมีตุ่มที่กลางเกศ เป็นความตั้งใจของช่างที่จะแกะให้เกิด ไม่ใช่ตำหนิ มีศัพย์ที่ใช้เรียกแต่ผมจำไม่ได้ พระบูชาสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์บางองค์ก็จะมีเกศลักษณะนี้ ซึ่งได้นำมาลงไว้ให้ชมเช่นกัน





วันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2562

พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์เส้นด้ายรางน้ำ

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์เส้นด้ายรางน้ำ พระพิมพ์เส้นด้ายจะมีลักษณะเส้นทุกส่วนเล็กแบบเส้นขนมจีน ยกเว้นลำตัว พระพิมพ์เส้นด้ายตามบันทึกหลวงปู่คำว่ามีอยู่ ๑๕ พิมพ์ พิมพ์ส่วนใหญ่จะเป็นของวัดบางขุนพรหม ของวัดระฆังมีแต่น้อย พระที่ลงในวันนี้เป็นแม่พิมพ์ของหลวงวิจารณ์ เจียรนัย สร้างที่วัดระฆัง เนื้อผงผสมข้าวสุก ผงเกสร ผงใบลาน ผงดำ ใช้น้ำมันตังอิ๊วเป็นตัวประสาน สร้างไว้ จ.ศ.๑๒๓๑ หรือ ปี พ.ศ.๒๔๑๒ สำหรับคำว่า"เส้นด้ายรางน้ำ"นั้น เรียกตามแบบโบราณ คือฐานล่างสุดจะเป็นเส้นคู่ ถ้าฐานล่างเป็นฐานทึบแบบพิมพ์ทั่วไป จะเรียก "เส้นด้ายฐานหน้ากระดาน"



วันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2562

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่อกวี

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่อกวี พระองค์นี้เป็นเนื้อข้าวสุกผสมปูนสุก (เปลือกหอยมุกเผา) เป็นพระสภาพผ่านการใช้มาพอสมควร จึงทำให้เห็นมวลสารต่างๆได้ชัดเจนขึ้น ตามพื้นมีรอยคราบน้้ำว่านเป็นจ้ำๆกระจายอยู่ทั่วไป ถือว่าเป็นพระที่ดูง่ายองค์หนึ่ง