วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2565
พระที่ลงวันนี้เป็นพระปิดตาหลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง ลงรักจีน มีบางท่านว่าพระหลวงปู่เอี่ยมต้องเป็นรักจีนเท่านั้น ส่วนบางท่านว่าต้องเป็นรักสมุก หรือรักดำเท่านั้น เหตุผลคือสมัยนั้นรักจีนหายาก ส่วนใหญ่จะมีใช้ในราชสำนัก วัดสะพานสูงอยู่ห่างไกลไม่มีโอกาสได้ใช้รักจีน เท่าที่สะสมพระปิดตาของหลวงปู่เอี่ยมมา มีทั้งรักไทย และรักจีนครับ ขอให้ดูอายุของรักให้เก่าเป็นธรรมชาติตามอายุพระเป็นใช้ได้ แต่ถ้าเป็นรักจีนก็จะช่วยให้การพิจารณาได้ง่ายขึ้น.
วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2565
พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ พิมพ์กลาง หลังแบบ เนื้อแก่ว่าน ลงรักจีนผสมรักน้ำเกลี้ยง พระปิดตาหลวงพ่อแก้วเนื้อนี้พบน้อยกว่าเนื้อกะลา ไม่ค่อยได้พบเห็น ด้วยเหตุนี้จึงต้องอาศัย ครูบาอาจารย์ผู้ชำนาญท่านอื่นช่วยพิจารณาไม่ใช่ดูแท้อยู่คนเดียว จึงนำพระเนื้อนี้ไปให้อาจารย์ ๓ ท่านช่วยตรวจสอบพิจารณา ซึ่งผ่านทั้ง ๓ ท่าน (พร้อมออกใบรับรอง) และมีความเห็นว่าอาจจะเก่ากว่าเนื้อกะลาที่เล่นหากัน โดยดูจากรัก และธรรมชาติของเนื้อ ที่พิเศษคือ พระชุดนี้ฝังตะกรุดทองคำไว้ด้านล่างฐาน ๓ ดอก ได้นำไปตรวจค่าทองคำของตะกรุด สำหรับองค์ที่ลงนี้มีค่าทองคำ ๖๔.๒๗% ซึ่งค่าทองคำของแต่ละองค์จะไม่เท่ากัน พระชุดนี้ได้เก็บรักษาเอาไว้นานแล้ว เห็นว่าควรจะนำมาเผยแพร่ให้คนทั่วไปได้รู้ หรือใครมีอยู่จะได้ทราบข้อมูลและเก็บรักษาไว้ พระเนื้อนี้มีหลายพิมพ์ และตะกรุดทองที่ฝังก็มีจำนวนต่างกัน ตั้งแต่ ๑ ดอกขึ้นไปถึงหลัก ๑๐ ดอก (ที่ไม่ฝังตะกรุดก็มี) แล้วจะนำมาให้ชมในโอกาสต่อไป.
วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2565
พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ พิมพ์ใหญ่ หลังแบบ พระองค์นี้มีสภาพสมบูรณ์ ลงรักปิดทองมาแต่เดิม ยังมีทองติดหลงเหลือให้เห็นเป็นบางส่วน รักที่ลงเป็นรักจีนผสมรักน้ำเกลี้ยง รักทาไว้หลายครั้งจนหนา เมื่อใช้กล้องขยายส่องดู จะเห็นความแห้งเหี่ยวของรักดูเป็นธรรมชาติ ซึ่งรักใหม่ทำไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ สามารถบ่งบอกถึงอายุของพระองค์นั้นๆได้.
วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2565
วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2565
วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2565
พระพิมพ์เศียรโล้นสะดุ้งกลับปรกโพธิ์ เนื้อผงยาจินดามณีปิดทองล่องชาด ของหลวงปู่บุญวัดกลางบางแก้ว พระพิมพ์นี้ส่วนใหญ่เป็นเนื้อผงผสมว่าน เนื้อผงยาจินดามณีพบน้อย ยิ่งปิดทองล่องชาดด้วยแทบจะไม่พบเห็นบ่อยนัก พระพิมพ์นี้เป็นพิมพ์ที่ีนิยมเล่นหาในกลุ่มนักสะสม จึงมีราคาสูงกว่าพิมพ์อื่นมาก มีเรื่องเล่าจากหนังสือ "หลวงปู่บุญ" ทางวัดกลางบางแก้วเป็นผู้จัดทำเล่าเรื่องของ พลเรือโท พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา (เป็นพระโอรสพระองค์แรกในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์) เมื่อคณะราษฎร์ได้ยึดอำนาจเรียบร้อยแล้วจึงได้สั่งการให้ข้าหลวงประจำจังหวัดนครปฐมเข้ารายงานตัว (คือตัวท่าน) ท่านทรงวิตกกังวลพระทัย จึงรีบไปหาหลวงปู่บุญกลางดึก หลวงปู่บุญทราบเรื่อง ก็ทำน้ำพระพุทธมนต์ถวาย พร้อมกับถวายพระพิมพ์เศียรโล้นสะดุ้งกลับ ให้นำติดตัวและบอกว่า "ไม่ต้องวิตกกังวลใดๆ เรื่องที่ร้ายจะกลายเป็นดี" สุดท้ายพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ปลอดภัยและรัฐบาลใหม่ก็ได้สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในรัชกาลที่ ๘ หลังจากนั้นท่านได้เสด็จมาเยี่ยมดูแลทุกข์สุขของหลวงปู่บุญเป็นเนืองนิตย์ตราบจนหลวงปู่มรณภาพ โดยส่วนตัวจึงคิดว่า พระเครื่องของหลวงปู่บุญบางส่วนที่มีการลงรักปิดทองล่องชาด ซึ่งมีความประณีตงดงามคงจะด้วยเหตุนี้ และพระหรือวัตถุมงคลบางชิ้นที่มีตราจักรก็มี ซึ่งตราจักรจะใช้ได้เฉพาะเชื้อพระวงศ์เท่านั้น.
วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2565
พระชัยวัฒน์พิมพ์ชะลูด สร้างโดยหลวงปู่บุญวัดกลางบางแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เป็นพระเนื้อโลหะหล่อช่อ สร้างไว้เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๔ ขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งเจ้าคณะหมวด อายุ ๕๓ ปี พรรษาที่ ๓๑ พระองค์นี้เป็นองค์ที่อยู่บนยอดสุดของช่อ ซึ่งมีฐานบัวสองชั้นและจะมีตัวเลข ๑๑๘ (หมายถึง รศ.๑๑๘) ที่ฐานล่าง แต่สำหรับองค์นี้เห็นแค่เลข ๘ เลือนลางไม่ชัดเจน ใน ๑ ช่อจะมีแค่ ๑ องค์ (องค์ธรรมดาจะเป็นฐานเตี้ย) พระชุดนี้จะมีอยู่สองเนื้อ คือเนื้อออกกระแสทองเหลือง บางองค์ที่ทาหรดาลสีเหลืองทับไว้ก็มี และเนื้่อกลับดำ (มีส่วนน้อยกว่า) สำหรับองค์ที่ลงวันนี้เป็นเนื้อกลับดำและทาชาดปิดทองไว้แต่เดิม นับจากปีที่สร้าง ถึงปีนี้ (พ.ศ.๒๕๖๕) นับอายุพระได้ ๑๒๑ ปีแล้ว ซึ่งเป็นพระเก่าที่น่าเก็บสะสมอีกพิมพ์หนึ่ง.
วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2565
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)