วันอาทิตย์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

พระสมเด็จพิมพ์ใหญ่ลงรักปิดทอง พระชุดนี้เริ่มมีผู้สนใจกันมากขึ้น เพราะปิดทองคำเปลวอย่างหนา และองค์พระส่วนใหญ่สภาพสวยสมบูรณ์ พระชุดนี้มีมากพิมพ์ ไม่ทราบว่าสร้างไว้วาระใด แต่หลังปี พ.ศ.๒๔๐๗ เพราะมีแม่พิมพ์ของหลวงวิจารณ์อยู่ด้วย (เช่นองค์ที่ลงไว้วันนี้) พระชุดนี้มีการรวบรวมพิมพ์ต่างๆมาสร้างไว้ หลากหลายพิมพ์ แม้แต่พิมพ์ของวัดเกศก็มี ด้านหลังองค์พระมีหลายแบบ เช่นหลังเรียบ หลังสังขยา หลังกระดาน และหลังตราพระราชลัญจกร ร.๔ ผมมีพระชุดนี้อยู่บ้าง เลยนำพระที่ลงไว้วันนี้ไปล้างรักออกเพื่อดูเนื้อในว่าเป็นพระแท้ หรือพระสนาม (โรงงาน) เนื้อในเป็นเนื้อแบบของวัดระฆัง คือผงผสมข้าวสุก มวลสารมีน้อย แต่ก็ยังมีให้เห็น ความแกร่งของเนื้อพระดี เช็คแคลไซต์ด้วยกรด ขึ้นฟองใหญ่สองชั้น และฟองอยู่นาน หมายความว่าพระมีอายุเก่า พอสรุปได้ว่าพระชุดนี้เป็นพระเก่าที่ทันท่านสมเด็จพระพุฒาจารย์โต ยังมีสภาพสวยสมบูรณ์มาก (๓าพพระที่ล้างแล้วอาจดูไม่ชัดนัก เพราะใช้กล้องในโทรศัพย์ถ่าย)









 

วันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

พระเนื้อว่านรูปท่านสมเด็จพระพุฒาจารย์โตองค์นี้ เป็นพิมพ์หูไหงานช่างสิบหมู่ ที่พบเจอมีเนื้อว่าน และเนื้อผงพุทธคุณ ฝีมืองานประณีตเรียบร้อย คำว่า "หูไห" เรียกตามลักษณะไหจีนโบราณที่มีหู พระรูปแบบหูไหด้านหลังจะอูมนูนโค้ง เจาะรูไว้ ๒ รูเชื่อมต่อกัน ไว้สำหรับคล้องเชือกนำติดตัว (สมัยนั้นยังไม่มีการเลี่ยมใส่กรอบพระ) พระหูไหที่เจอมี ๓ ขนาดโดยประมาณ เพราะขนาดจะไม่เท่ากันพอดีเปะ เนื่องจากเป็นงานทำมือที่ละชิ้น (Handmade) ๑.ขนาดสำหรับคนใช้ติดตัวมีขนาดเล็ก ๒.สำหรับแขวนคอม้าศึก มีขนาดประมาณกำปั้น ๓.สำหรับแขวนคอช้างศึก มีขนาดประมาณผลส้มโอ (ผมเคยเก็บไว้ แต่มีคนขอไปแล้วเลยไม่มีโอกาสนำมาให้ชม.)




 

พระประธานเนื้อว่านพิมพ์ทรงเทวดา (วัดระฆัง) "พระพิมพ์นี้ท่านสร้างอุทิศให้แด่โยมบิดาซึ่งเป็นใหญ่เป็นโต ตั้งใจจะทำให้เหมือนพระทรงเครื่องอยุธยา" (คัดข้อความมาจากหนังสือ "สมเด็จโต") พระเนื้อนี้น้ำหนักเบาเหมือนโฟม ลอยน้ำได้ พระเนื้อว่านต้องเก็บรักษาให้ดี เพราะพวกสัตว์ต่างๆชอบมาแทะกิน เหมือนรู้ว่าเนื้อนี้เป็นยา พระเนื้อว่านท่านสร้างไว้จำนวนไม่มาก เท่าที่พบเจอก็มีอยู่หลายพิมพ์.


 

วันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

พระนางพญาพิมพ์เข่าโค้ง พระนางพญาสร้างโดย สมเด็จพระวิสุทธิกษัตริย์ และสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นพระเนื้อดินเผา ผสมว่าน เกสร และแร่ต่างๆ เป็นศิลปะสมัยอยุธยา พุทธลักษณะทรงนั่งปางมารวิชัย อยู่ในรูปทรงสามเหลี่ยม มีหลายขนาด แยกตามพิมพ์ที่พบมี พิมพ์เข่าโค้ง พิมพ์เข่าตรง พิมพ์สังฆาฏิ พิมพ์ทรงเทวดา พิมพ์อกนูนใหญ่ พิมพ์อกนูนเล็ก (ในแต่ละพิมพ์ยังแยกออกอีกหลายบล๊อก) ส่วนสีมีหลายสีเช่น สีแดง สีเขียว สีพิกุลแห้ง สีอิฐ สีเขียวหินครกเป็นต้น ในปัจจุบันมีการเปิดเผยข้อมูลของคนพื้นที่มากขึ้น ข้อมูลหลายอย่างต่างจากตำราที่เราเคยรู้ ซึ่งน่าสนใจเพราะเป็นคนพื้นที่โดยตรงย่อมรู้ข้อมูลดีๆที่ไม่มีในตำรา ใครสนใจหาดูได้ใน You Tube ครับ.







 

วันพฤหัสบดีที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

พระสมเด็จพิมพ์ใหญ่กรุวัดบางขุนพรหม (กรุใหม่) วันนี้ขอนำบันทึกของหลวงปู่คำ ที่เขียนเรื่องการทำพระบรรจุกรุวัดบางขุนพรหมมาให้อ่าน หลวงปู่คำผู้บันทึกได้อยู่ในเหตุการณ์ทำพระครั้งนี้ และเป็น๑ใน๙ องค์ที่ทำพิธีเบิกเนตรพระชุดนี้บรรจุกรุ คัดลอกมาบางส่วน " นายด้วง เสมียนตราหน้าพระราชวัง เป็นผู้บูรณะวัดวะรามะตาราม ได้ไปขอร้องท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ให้ช่วยทำพระบรรจุกรุเจดีย์ให้ในราว จ.ศ. ๑๒๓๒ หรือ พ.ศ. ๒๔๑๓ แล้วท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็ได้ช่วยทำพระลงกุบรรจุเจดีย์ตั้งแต่นั้นมาจนเสร็จ วัดวะรามะตาราม เป็นวัดที่ชาวรามัญได้สร้างไว้ นายเดชเป็นผู้บูรณะวัดแต่ยังไม่เสร็จได้เสียชีวิตก่อน ต่อมานายด้วงเป็นเสมียนตราในพระราชวังภายใน ได้บูรณะต่อจนเสร็จเรียบร้อย มาปรึกษาท่านโตว่าได้สร้างวัดและเจดีย์เสร็จแล้ว ยังไม่มีอะไรบรรจุไว้ในเจดีย์จึงอยากให้มีอะไรบรรจุไว้ในเจดีย์ ท่านโตจึงได้เรียกขรัวตาพลอยมาถามว่า พระที่ทำแจกมีเหลือบ้างหรือเปล่า ให้เอาไปบรรจุในเจดีย์ให้หมด ขรัวตาพลอยบอกว่ามีแต่ไม่มาก ท่านโตบอกให้นายด้วงหาเปลือกหอยกาบมาก ๆ เอามาเผาแล้วตำให้ละเอียดเป็นผงปูนเปลือกหอย แล้วเอาแม่พิมพ์ที่เหลืออยู่จากวัดระฆัง วัดบางขุนพรหมนอกและวัดอื่น ๆ มาเพื่อกดพิมพ์ ต่อมาอีกหนึ่งเดือน นายด้วงก็ได้นิมนต์และกราบเรียนว่าของทุกอย่างดได้จัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว เลยให้เด็กไปนิมนต์หลวงปู่คำให้ไปฉันเพลที่วัดวะรามะตาราม (วัดบางขุนพรหมใน) ในวันรุ่งขึ้น พอวันรุ่งขึ้นท่านโตได้ให้ขรัวตาพลอย และปลัดโฮ้เอาผงวิเศษไปด้วย โดยใส่ถุงข้าวดไป ๕ ถุง ผงเกษร ผงใบลาน ผงดำ อย่างละ ๑ ถุง พอได้เวลาพระฉันเพลแล้วพระก็ได้ทำพิธีปลุกเสก ท่านโตได้เอาผงวิเศษ ผงเกษร ผงปูนเปลือกหอย ผงใบลาน ผงดำมาผสมกันในบาตร แล้วผสมด้วยน้ำมันตั่งอิ๊ว ต่อมาอีก ๒ วันนำเอาผงที่ผสมไว้แล้วมาให้ชาวบ้านช่วยกดพิมพ์พระ มีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย เวลาพิมพ์พระถ้าเป็นผู้หญิงทำ พระจะสวยงามตัดขอบพระด้วยมีดเจียนหมากแล้วยกแม่พิมพ์ออก ขอบเนื้อพระจะเป็นสันเหลี่ยม ผู้กดพิมพ์พระส่วนใหญ่จะใช้นิ้วมือลูบที่คมสันให้มนแทบทุกองค์ ถ้าเป็นผู้ชายกดพิมพ์พระเวลาตัดขอบพระ บางคนใช้ก้านธูปกรีดขอบพระแล้วยกแม่พิมพ์ออก แต่ไม่ได้แต่งขอบพระจึงคม บางคนใช้เล็บยาวแทนมีด การผสมผงพระถ้าผู้ใดทำละเอียดผสมผงเข้ากันจนทั่ว เนื้อพระก็จะละเอียดสวยงามเรียบร้อย บางคนผสมหยาบผงไม่เข้ากัน เนื้อพระก็จะหยาบไม่สวยงามแลเห็นเป็นจุดเป็นก้อนทั่วองค์พระ ตะปุ่มตะป่ำขอบพระจะไม่เรียบร้อย หรือเว้าแหว่งไปบ้างเพราะตัดขอบพระด้วยก้านธูปและเล็บมือ ถ้าผู้หญิงทำพระจะออกมาสวยงามและเรียบร้อย ถ้าผู้ชายทำพระจะไม่ค่อยสวยและหยาบ พระบรรจุกรุนี้มีทั้งเนื้อหยาบและเนื้อละเอียด พอกดพิมพ์พระเสร็จแล้วก็แจกพระให้กับผู้มาช่วยทำพระทุกคน ที่เหลือก็เอามาบรรจุเจดีย์ก่อเป็น ๔ ช่อง ก่อและปิดเสร็จเรียบร้อยเป็นอันเสร็จพิธี แล้วมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดบางขุนพรหมใน ต่อมาอีก ๓๐ ปีได้บูรณะโบสถ์แล้วมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดใหม่อมตรสจนปัจจุบันนี้"