วันอังคารที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่

ขอส่งท้ายปีเก่าด้วยพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ พระองค์นี้เป็นพระเนื้อผงผสมว่าน (ที่ถูกควรเรียกไม้มงคล) เกสรดอกไม้ และผงใบลาน ใช้ยางไม้ น้ำอ้อยเคี่ยว และน้ำมันตังอิ๊วเป็นตัวประสาน แสดงว่าพระองค์นี้เป็นพระยุคปลาย คือสร้างหลัง ปีพ.ศ.๒๔๐๗ มีขนาดใกล้เคียงพระสมเด็จมาตราฐานทั่วไป (พระสมเด็จส่วนใหญ่แล้วใน ๑ พิมพ์จะมี ๓ ขนาด) พระองค์นี้มีน้ำหนักเบากว่าพระเนื้อปูนเปลือกหอย มีคราบไขที่เกิดจากผงใบลานจางๆ เมื่อใช้กล้องกำลังสูงขยายดู มีชิ้นว่าน (ไม้) หลายชนิดที่สีต่างกัน ว่านหรือไม้ที่ท่านนำมาสร้างพระของท่านมี ๑.ไม้กาหลงเป็นไม้มงคลนาม ๒. ไม้ดอกสวาท เป็นไม้มหานิยมและเมตตา ๓.ไม้ดอกรักซ้อน หรือ ยอดรักซ้อน เป็นมหาเสน่ห์ ๔. ใบพลูร่วมใจเป็นมหาเสน่ห์ ๕. ใบพลูสองหาง กันเสนียดจัญไร กันคนกระทำ ๖. ใบหรือดอกราขพฤกษ์ เป็นไม้ที่ให้ความร่มเย็น อบอุ่น ๗. ใบหรือดอกชัยพฤกษ์ เป็นใบล้างความเจ็บให้หมดไป ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นมงคลทั้งสิ้น พระเนื้อนี้โอกาสพบเจอน้อยมากคนทั่วไปไม่ค่อยทราบ เท่าที่พบถ้าเป็นพระเนื้อผงผสมว่าน หรือพระเนื้อว่านเนื้อชานหมาก ถ้าเป็นพระยุคต้นและยุคกลางจะมีขนาดเล็กกว่าพระทั่วไป อาจเป็นเพระมวลสารมีน้อย เลยทำขนาดเล็กจะได้จำนวนองค์พระมากขึ้นก็เป็นได้ (ข้อนี้คิดเอาเอง) ใกล้ขึ้นปีใหม่ ๒๕๖๓ แล้ว ขออำนาจคุณพระรัตนตรัย ดลบันดาลให้ทุกท่านมีแต่ความสุขความเจริญ สุขภาพแข็งแรง ตลอดปีและตลอดไป ด้วยเทอญ.






วันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2562

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์พิเศษ พระเนื้อว่านผสม

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์พิเศษ พระองค์นี้เป็นพระเนื้อว่านผสม ไม่ใช่พิมพ์นิยมเนื้อนิยมที่เขาเล่นกัน แต่เป็นพระที่หายากมากๆจะเป็นพระที่ดูยากสำหรับมือใหม่ แต่ถ้าเข้าใจแล้วก็ไม่ยากนัก พระเนื้อผงของท่านสมเด็จโตท่านจะใช้มวลสาร ส่วนผสมหลักเดิมๆ เปลี่ยนเพียงเนื้อพื้นเท่านั้น ไม่ว่าพระจะเป็นพิมพ์อะไรส่วนผสมหลักก็เหมือนเดิม มีเพียงบางครั้งที่อาจมีมวลสารพิเศษเพิ่มขึ้น เช่นในบางรุ่นจะมีส่วนผสมของอัญมณี หยก ผงทองคำหรือดินเป็นต้น มวลสารที่ท่านใส่ทุกอย่างมีความหมายในตัว จะขอคัดลอกบทความจากหนังสือ "สมเด็จโต" ซึ่งเป็นบันทึกของหลวงปู่คำมาให้อ่านบางส่วน หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์ครั้งแรกประมาณปี พ.ศ.๒๕๓๗ จัดทำโดย นายแฉล้ม โชติช่วง (ผู้ที่ได้รับบันทึกตกทอดมา) และ นายมนัส ยอขันธ์ (ปัจจุบันมีผู้นำบทความในหนังสือเล่มนี้ไปคัดลอก และบิดเบือนเพิ่มเติม เพื่อผลประโยชน์ต้องระวัง) ดินที่ท่านใช้สร้างพระมี ๕ อย่าง คือ ๑. ดินเจ็ดโป่ง ๒.ดินเจ็ดป่า ๓.ดินเจ็ดท่า ๔. ดินเจ็ดสระ ๕. ดินหลักเมืองเจ็ดเมือง (สำหรับความหมายจะอธิบายในภายหลัง) และท่านยังใช้ ตะไคร่เจดีย์ ตะไคร่รอบโบสถ์ ตะไตร่ใบเสมา ส่วนเกสร ว่าน และดอกไม้ที่ท่านใช้นั้นมี ๑. ดอกสวาท ๒.ดอกกาหลง ๓. ดอกรักซ้อน ๔. ดอกกาฝากรัก ๕. ดอกชัยพฤกษ์ ๖.ดอกว่านนางคุ้ม กับดอกว่านนางล้อม ๗. ดอกว่านเสน่จันทร์ จันทร์ขาว จันทร์แดง จันทร์ดำ ๘. ดอกว่านนางกวัก ๙.ว่านพระพุทธเจ้าหลวง ส่วนใบพลูที่ท่านใช้ผสมพระ คือใบพลูร่วมใจและใบพลูสองหาง ที่กล่าวนี้ยังมีส่วนผสมอื่นๆอีก เช่นเศษพระกำแพงเพขรบด ผงใบราน ถ่านแม่พิมพ์เป็นต้น สำหรับพระที่ลงในวันนี้เป็นพระเนื้อว่านผสมหลายชนิด เป็นพระยุคต้น และใช้น้ำอ้อยเคี่ยว น้ำผึ้ง ยางไม้เป็นตัวประสาน น้ำหนักเบา องค์พระเล็กกว่าพิมพ์ทั่วไป พยายามถ่ายเพื่อเจาะเนื้อให้ดู แต่ก็โดนคราบแคลเซี่ยมหรือแคลไซต์ ปกคลุมจนแทบไม่เห็นเนื้อใน ก็ถ่ายมาได้เท่าที่นำมาให้ชมในวันนี้ครับ. (ไม่ต้องถามราคามานะครับ พระโชว์)









วันศุกร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ลิงหลวงพ่อดิ่ง วัดบางวัว เนื้องาแกะ

ถ้าพูดถึงเครื่องรางที่เกี่ยวกับลิง ในอดีตมีอยู่สามอาจารย์ดังคือ ๑.หนุมานหลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน จ.นนทบุรี ๒.องคต หลวงพ่อเชย วัดบางกระสอบ จ.สมุทรปราการ ๓.ลิงหลวงพ่อดิ่ง วัดบางวัว จ.ฉะเชิงเทรา วันนี้นำลิงจับหลักของหลวงพ่อดิ่งมาให้ชม ฉายาของท่านคือ "คังคสุวรรณโณ" ลิงที่ท่านสร้างส่วนใหญ่จะแกะจากรากต้นพุดซ้อน แต่ตัวนี้แกะจากงาแก่ ด้วยความเก่าและกรอบทำให้มีชำรุดและซ่อมไว้บางส่วน ลิงของท่านเด่นทางคงกระพัน มีประสบการณ์มากในช่วงสงครามอินโดจีน หลวงพ่อดิ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดบางวัวปี พ.ศ.๒๔๔๓ และมรณภาพปี พ.ศ.๒๔๙๕ ณ วัดบางวัวนั่นเอง





วันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2562

พระรอดพิมพ์ใหญ่ กรุวัดมหาวัน

พระรอดกรุวัดมหาวัน เป็นหนึ่งในพระชุดเบญจภาคีทีมีอายุมากที่สุด คือประมาณ ๑,๒๐๐ - ๑,๓๐๐ ปีโดยประมาณ มีประวัติและเรื่องราวมากมาย ในปัจจุบัน มีผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านที่ศึกษา หาข้อมูลเกี่ยวกับพระกรุนี้อย่างจริงจัง ซึ่งข้อมูลหลายอย่างก็ไม่ตรงกับข้อมูลเดิมที่ผ่านมา โดยส่วนตัวจะเชื่อข้อมูลใหม่มากกว่าข้อมูลเก่า เพราะได้พิสูจน์เชิงวิทยาศาสตร์แล้ววิเคราะห์ออกมาอย่างมีเหตุผล ดูน่าเชื่อถือมากกว่าการบอกเล่าต่อๆกันมา พระรอดนั้นมีมากเนื้อหลากพิมพ์ พอศึกษาจริงจังมีเรื่องแยกปลีกย่อยมากมาย ก็ต้องศึกษากันต่อไป (เหมือนพระสมเด็จ) สำหรับพระรอดที่ลงในวันนี้เป็นพระรอดพิมพ์ใหญ่ฝีมือช่างหลวง เนื้อออกสีขาวอมเทา พระพิมพ์ใหญ่พิมพ์นี้จะมีจุดสังเกต ตรงเส้นไรพระศกด้านขวาจะมีเส้นขวางหนึ่งเส้น มีเฉพาะแม่พิมพ์นี้ไม่ได้มีทุกองค์ เพียงถือเป็นจุดสังเกตเท่านั้น พระองค์นี้เป็นพระที่สร้างในยุคของพระนางจามเทวี.







พระรอดพิมพ์ใหญ่กรุวัดมหาวัน จังหวัดลำพูน เนื้อเขียวหินครก







พระขุนแผนพลายคู่กรุบ้านกร่าง

พระขุนแผนพลายคู่กรุบ้านกร่าง พระพลายคู่กรุนี้มีอยู่หลายพิมพ์เหมือนกันเช่น พิมพ์หน้ายักษ์ พิมพ์หน้ามงคล พิมพ์หน้าเทวดา พิมพ์หน้าฤษี และพิมพ์สองปางเป็นต้น สำหรับพระที่ลงวันนี้เป็นพิมพ์หน้ายักษ์ซึ่งใกล้เคียงกับพิมพ์หน้ามงคลมาก ผิดกันที่ซุ้มพิมพ์หน้ามงคลมีสองขยักเท่านั้น พระพิมพ์พลายคู่ หรือบ้างเรียก "พิมพ์พลายเพชร - พลายบัว" นับวันจะหาดูได้ยากขึ้น เพราะคนส่วนใหญ่ที่มี มักนำไปตัดแบ่งเป็นสององค์ เรียกกันว่า "พลายคู่ตัดเดียว" ทำให้พกพาหรือสะดวกกับการใช้มากขึ้น และที่สำคัญคือได้ราคาสูงขึ้นด้วย ถ้าเจอพระขุนแผนที่ด้านซ้ายหรือขวามีรอยตัด นั่นแหละครับ "พลายคู่ตัดเดี่ยว"






วันอังคารที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2562

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์เกศบัวตูม

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์เกศบัวตูม พระองค์นี้เป็นพระยุคปลายพิมพ์นิยม เป็นพระที่โดนล้างมาอย่างหนัก ถ้าดูผิวเผินไม่น่าสนใจเพราะคล้ายพระใหม่ แต่ถ้าดูให้ดีจะเห็นความเก่าถึงยุคอยู่เช่น การม้วนตัวของซุ้มด้านบน การยุบตัวของพื้น การยุบตัวของมวลสารต่างๆจะมีการยุบตัวไม่เสมอกับผิวพระ เหมือนพระที่สร้างใหม่ ที่สำคัญคือคราบแคลเซี่ยมรอบองค์พระและรอบซุ้ม ที่เราเรียกกันทั่วไปว่าคราบแป้ง ถึงแม้นจะผ่านการล้างมาอย่างหนัก คราบเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ เพราะเกิดขึ้นจากในเนื้อ เมื่อเวลาผ่านไปเป็นร้อยปี คราบเหล่านี้จะเกิดการพอกพูนจนมีความหนา และเป็นเนื้อเดียวกับพื้นฝังแน่น จากการล้างจนผิวเปิดหมดทำให้เห็นมวลสารต่างๆหลากหลายชัดเจน ได้ถ่ายภาพขยายมวลสารให้ชมบางส่วน สรุปได้ว่าพระองค์องค์นี้เป็นพระเก่าแท้ ถ้าเจอพระสภาพนี้ก็อย่ามองข้ามครับ.








วันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2562

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่อกวี

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่อกวี พระองค์นี้เป็นพระยุคปลาย คือสร้างระหว่างปี พ.ศ.๒๔๐๗ - ๒๔๑๕ ดูจากการใช้น้ำมันตังอิ๊วเป็นตัวประสานเนื้อพระแล้ว (ท่านสมเด็จโตเริ่มนำน้ำมันตังอิ๊วมาเป็นตัวสานเนื้อพระปี พ.ศ.๒๔๐๗) พระองค์นี้เป็นพระเนื้อหนึกเหนียว แกะพิมพ์โดยช่างหลวง องค์พระมีรอยด่าง ที่เกิดจากตอนนวดน้ำมันยังไม่กลมกลืนเข้าเนื้อดี แล้วรีบเอามากดพิมพ์จึงเกิดรอยด่างอย่างที่เห็น จึงนำมาให้ชมว่า พระสมเด็จเนื้อแบบนี้ก็มีครับ.