วันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2566

พระขุนแผนพิมพ์ห้าเหลี่ยมอกใหญ่ เป็นพิมพ์นิยมสูงสุดของพระกรุบ้านกร่าง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งมีพุทธศิลป์เหมือนกับพระขุนแผนเคลือบกรุวัดใหญ่ชัยมงคล จ.อยุธยา พระที่ลงวันนี้เป็นพระที่ผ่านการใช้มาจนผิวเปิด ทำให้เห็นมวลสารต่างๆชัดเจน พระกรุบ้านกร่างจะมีส่วนผสมของแร่ และกรวดค่อนข้างมาก จุดสังเกตอีกจุดของพระกรุนี้คือรอยว่านหลุด มักจะมีรอยว่านหลุดเป็นร่อง หรือหลุม ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าเล็กๆตามผิวพระ ส่วนด้านข้างพระจะตัดเฉียงเล็กน้อย จะไม่ตัดตรงเป็นเส้นตั้งฉาก.






 



 

วันศุกร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2566

สิงห์งาแกะ หลวงพ่อเดิมวัดหนองโพ จ.นครสวรรค์ เป็นสิงห์สามขวัญปากเจาะ ล้อมรอบด้วยกรอบรูปหัวใจ ใต้ฐานเป็นลายประจำยาม ด้านบนเจาะรูสำหรับแขวน เนื้องาฉ่ำดูงามตา.





 

พระเปิมเนื้อผงพุทธคุณ องค์เขื่องไม่ได้ตัดขอบ หลังนูนหรือที่เรียกว่า "หลังประทุน" เป็นพระยุคแรกๆที่ท่านสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ได้สร้างไว้ เป็นพระล้อพิมพ์โบราณ เนื้อหาดูจัดจ้าน.



 

วันศุกร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2566

พระสมเด็จวัดรพฆัง พิมพ์เกศบัวตูม ช่างสิบหมู่แกะแม่พิมพ์ถวาย ลักษณะองค์พระมีใบหน้ารูปไข่ มีพระเกศรัศมีทรงบัวตูมอยู่เหนือพระเมาลี มีหูทั้งสองข้างลำคอสั้น วงแขนทอดเป็นวงโค้งจรดหน้าตัก ไม่มีเส้นชายจีวรที่ข้อศอกซ้าย ท้องร่อง มีเส้นนิสีทะนะใต้ตัก เส้นซุ้มผ่าหวายสวยพองาม เนื้อพระเป็นเนื้อผงกฤตยาคมผสมเนื้อข้าวสุก ประสานเนื้อพระด้วยน้ำอ้อยเคี่ยวและยางไม้ เนื้อพระดูหนึกนุ่มเป็นมัน วรรณะเหลืองนวล








 

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์เกศบัวตูม เป็นพระยุคกลาง ช่างสิบหมู่แกะแม่พิมพ์ถวาย ลักษณะองค์พระมีใบหน้ารูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด เห็นใบหูรางๆ เหนือพระเมาลีมีเกศรูปทรงดอกบัว ลำคอสั้น อกผายเอวผาย หัวไหล่มนทั้งสองข้าง วงแขนทอดโค้งหักศอกจรดหน้าตัก หัวเข่าทั้งสองข้างตรง ฐานชั้นบนเป็นฐานหมอน ฐานกลางเป็นฐานขาโต๊ะ ฐานล่างเป็นฐานหน้ากระดานตัดเฉียง เนื้อพระเป็นเนื้อผงกฤตยาคมผสมเนื้อข้าวสุก ประสานเนื้อพระด้วยน้ำอ้อยเคี่ยวและยางไม้ เนื้อพระดูหนึกนุ่ม พระได้ผ่านการใช้ทำให้ผิวพระเกิดความซึ้ง และเห็นมวลสารต่างๆชัดเจน พระเคยลงรักน้ำเกลี้ยงมาก่อน วรรณะสีดอกพิกุลแห้ง