วันพุธที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2561

การสร้างพระกรุวัดบางขุนพรหม



วันนี้ขอเล่าเรื่องการสร้างพระกรุวัดบางขุนพรหม โดยคัดลอกบางส่วนมาจากหนังสือ "สมเด็จโต" เป็นบันทึกของหลวงปู่คำ ผู้อยู่ในเหตุการณ์ โดยท่านได้บันทึกไว้ดังนี้ ...นายด้วง เสมียนตราหน้าพระราชวัง เป็นผู้บูรณะวัดวะรามะตาราม ได้ไปขอร้องท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ให้ช่วยทำพระบรรจุกรุเจดีย์ให้ ในราว จ.ศ. ๑๒๓๒ หรือ พ.ศ. ๒๔๑๓ แล้วท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็ได้ช่วยทำพระลงกรุบรรจุเจดีย์ตั้งแต่นั้นมาจนเสร็จ
วัดวะรามะตาราม เป็นวัดที่ชาวรามัญได้สร้างไว้ นายเดชเป็นผู้บูรณะวัดแต่ยังไม่เสร็จได้เสียชีวิตก่อน ต่อมานายด้วงเป็นเสมียนตราในพระราชวังภายใน ได้บูรณะต่อจนเสร็จเรียบร้อย มาปรึกษาท่านโตว่าได้สร้างวัดและเจดีย์เสร็จแล้ว ยังไม่มีอะไรบรรจุไว้ในเจดีย์ จีงอยากให้มีอะไรบรรจุไว้ในเจดีย์ ท่านโตจึงได้เรียกขรัวตาพลอยมาถามว่า พระที่ทำแจกมีเหลือบ้างหรือเปล่า ให้เอาไปบรรจุในเจดีย์ให้หมด ขรัวตาพลอยบอกว่ามีแต่ไม่มาก ท่านโตบอกให้นายด้วงหาเปลือกหอยกาบมากๆ เอามาเผาแล้วตำให้ละเอียดเป็นผงปูนเปลือกหอย แล้วเอาแม่พิมพ์ที่เหลืออยู่จากวัดระฆัง วัดบางขุนพรหมนอกและวัดอื่นๆมาเพื่อกดพิมพ์ ต่อมาอีกหนึ่งเดือน นายด้วงก็ได้นิมนต์และกราบเรียนว่า ทุกอย่างได้จัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว เลยให้เด็กไปนิมนต์หลวงปู่คำให้ไปฉันเพลที่วัดวะรามะตาราม (วัดบางขุนพรหมใน) ในวันรุ่งขึ้น
พอวันรุ่งขึ้นท่านโตได้ให้ขรัวตาพลอยและปลัดโฮ้เอาผงวิเศษไปด้วย โดยใส่ถุงข้าวไป ๕ ถุง ผงเกษร ผงใบลาน ผงดำ อย่างละ ๑ ถุง พอได้เวลาพระฉันเพลแล้ว พระก็ได้ทำพิธีปลุกเสก ท่านโตได้เอาผงวิเศษ ผงเกสร ผงปูนเปลือกหอย ผงใบลาน ผงดำมาผสมกันในบาตร แล้วผสมด้วยน้ำมันตังอิ๊ว ต่อมาอีก ๒ วันนำเอาผงที่ผสมไว้แล้วมาให้ชาวบ้านช่วยกดพิมพ์พระ มีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย เวลาพิมพ์พระถ้าเป็นผู้หญิงทำ พระจะสวยงามตัดขอบพระด้วยมีดเจียนหมากแล้วยกแม่พิมพ์ออก ขอบเนื้อพระจะเป็นสันเหลี่ยม ผู้กดพิมพ์ส่วนใหญ่จะใช้นิ้วมือลูบที่คมสันให้มนแทบทุกองค์ ถ้าเป็นผู้ชายกดพิมพ์พระ เวลาตัดขอบพระบางคนใช้ก้านธูปกรีดขอบพระแล้วยกแม่พิมพ์ออก แต่ไม่ได้แต่ขอบพระจึงคม บางคนก็ใช้เล็บยาวแทนมีด การผสมผงพระถ้าผู้ใดทำละเอียดผสมผงเข้ากันจนทั่ว เนื้อพระก็จะละเอียดสวยงามเรียบร้อย บางคนผสมหยาบผงไม่เข้ากัน เนื้อพระก็จะหยาบไม่สวยงามแลเห็นเป็นจุดเป็นก้อนทั่วองค์พระตะปุ่มตะป่ำ ขอบพระจะไม่เรียบร้อย หรือเว้าแหว่งไปบ้าง เพราะตัดขอบพระด้วยก้านธูปและเล็บมือ ถ้าผู้หญิงทำพระจะออกมาสวยงามและเรียบร้อย ถ้าผู้ชายทำพระจะไม่ค่อยสวยและหยาบ พระบรรจุกรุนี้มีทั้งเนื้อหยาบและเนื้อละเอียด พอกดพิมพ์พระเสร็จแล้ว ก็แจกพระให้กับผู้มาช่วยทำพระทุกคน ที่หลือก็เอามาบรรจุเจดีย์ก่อเป็น ๔ ช่อง ก่อและปิดเสร็จเรียบร้อยเป็นอันเสร็จพิธี แล้วมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดบางขุนพรหมใน (ต่อมาอีก ๓๐ ปีได้บูรณะโบสถ์แล้วมาเปลี่ยนชื่อเป็น วัดใหม่อมตรสจนปัจจุบัน) จากบันทึกพอสรุปได้ว่า พระกรุวัดบางขุนพรหมมีหลากหลายพิมพ์ และน่าจะมีพิมพ์อื่นที่นอกเหนือจากพิมพ์หลักที่เล่นหากันอยู่ พระที่ไม่บรรจุกรุก็มี เพราะหลังจากทำเสร็จก็ได้แจกแก่ผู้มาช่วยงานทุกคน คงมีจำนวนพอสมควร พระกรุนี้มีทั้งเนื้อหยาบและละเอียด การตัดขอบข้างก็มีหลายลักษณะไม่ตายตัวตามบันทึก และมีพระของวัดระฆังมาปนอยู่ด้วย ที่เราเรียกกันว่าพระสองคลอง เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นว่าพระบางขุนพรหมจะต้องมีคราบกรุเสมอไป แต่พระที่ไม่มีคราบกรุจะเป็นพระที่มีจำนวนน้อยเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น