พระรูปหล่อหลวงพ่อเงินวัดบางคลานพิมพ์ขี้ตา สามชาย คำว่า"ขี้ตา"มาจากมีเนื้อเกินเป็นก้อน ที่ขอบตาล่างด้านซ้ายขององค์พระ พระพิมพ์นี้ช่างของวัดเป็นผู้เทหล่อที่ละองค์ โดยใช้แม่พิมพ์แบบประกบ (ต่างจากพิมพ์นิยมที่หล่อแบบช่อ) โดยเทโลหะเข้าทางฐานพระ เมื่อโลหะเย็นลงจึงนำมาถอดพิมพ์ พระพิมพ์นี้จึงมีรอยตะเข็บขอบข้าง แต่ส่วนใหญ่จะโดนแต่งลบขอบด้วยตะไบ ส่วนใต้ฐานแต่ละองค์ก็จะแตกต่างกันไป ถ้าเทโลหะมากฐานจะหนา ถ้าโลหะพอดีฐานจะบาง และมีรอยเป็นแอ่งตะปุ่มตะป่ำที่ใต้ก้นฐานองค์พระ ที่ใต้ฐานจะมีการแต่งด้วยตะไบเช่นกัน มากบ้างน้อยบ้าง บางองค์แต่งจนพื้นเรียบก็มี ส่วนเนื้อพระนั้นเป็นเนื้อโลหะผสมหลายชนิดแก่ทองเหลือง ในเนื้อพระจะมีทองคำผสมอยู่ด้วย ตามผิวพระจึงเกิดสนิมทองสีแดงให้เห็น และมีสีแก่อ่อนของสนิมตามโลหะชนิดต่างๆที่ผสมลงไปให้เห็นบนผิวพระ ต่างจากพระเลียนแบบที่จะเป็นสีโทนเดียวทั้งองค์ หรือมีแต่เนื้อทองเหลืองแล้วแต่งสีลงไป พระพิมพ์ขี้ตานี้ยังแบ่งออกเป็น ๓ พิมพ์คือ พิมพ์ ๓ ชาย ๔ ชาย และ ๕ ชาย โดยดูจากชายจีวรบนลำตัวด้านขวาขององค์พระ พระของหลวงพ่อเงินวัดบางคลาน ไม่ว่าจะเป็นพิมพ์ใดก็ตาม ล้วนเป็นที่นิยมอย่างสูงในปัจจุบัน |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น