พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่องค์นี้เป็นพระเนื้อหนึกแกร่ง มีส่วนผสมของปูนสุกมากพอสมควร ทำให้เนื้อดูแกร่งตามผนังพื้นทั้งหน้าหลังมีคราบน้ำปูนสีขาวหรือแคลเซียมเกาะอยู่ พระองค์นี้เป็นพระที่สมบูรณ์มากแทบจะไม่ได้ผ่านการใช้มาเลย ผิวเยื้อหอมยังอยู่ ผิวเยื้อหอมนั้นมีลักษณะเหมือนฟิล์มบางๆมีความมันฉาบอยู่บนผิวพระอีกชั้นหนึ่ง แต่เมื่อพระนั้นผ่านการใช้หรือถูกสัมผัสผิวเยื้อหอมนั้นก็จะหมดไป สิ่งนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่บอกถึงความสมบูรณ์ของพระองค์นั้น พระองค์นี้กดพิมพ์ติดค่อนข้างชัดเจนสมบูรณ์ พระกรรณด้านขวามือองค์พระติดชัดเจน ด้านซ้ายเห็นลางๆ ส่วนมวลสารพอเห็นอยู่บ้างเพราะผิวยังไม่เปิดและมีคราบแคลเซียมบดบังอยู่ พูดถึงเรื่องพิมพ์ทรง พระองค์นี้ไม่ใช่พิมพ์ของ หลวงวิจาร เจียรนัย ถึงแม้กรอบกระจกด้านซ้ายมือองค์พระจะมาชนซุ้มผ่าหวายตามแบบพิมพ์นิยมก็ตาม ฝีมือการแกะพิมพ์ของหลวงวิจาร นั้นมีเอกลักษณ์หลายๆอย่าง ถ้าเป็นภาษาช่างเขียนก็เรียกว่าเห็นทีแปรงก็จำได้ ว่าเป็นงานของใคร งานหลวงวิจารนั้นยกตัวอย่างไว้ให้บางส่วนเพื่อเก็บไว้พิจารณาเล่นๆคือ ๑.พิมพ์ของหลวงวิจาร นั้นจะได้สัดส่วนสวยงามแบ่งครึ่งองค์พระซ้าย-ขวาสัดส่วนเกือบจะเท่ากัน ๒.พระพักตร์ส่วนใหญ่เป็นลักษณะผลมะตูม ๓.วงแขนซ้าย-ขวา จะมีลักษณะคล้ายตัว U คือต้นแขนตั้งแต่หัวไหล่ถึงข้อศอกเกือบเป็นเส้นตรง จากข้อศอกลงมาจะเป็นเส้นโค้งคล้ายตัว U ๔.เกศพิมพ์ของหลวงวิจาร แกะนั้นดูด้านข้างจะเห็นว่างอนขึ้นพาดซุ้ม จะไม่เป็นเส้นตรงเหมือนองค์นี้ เอาองค์รวมๆประมาณนี้ครับบอกมากไปเดี๋ยวจะสับสน ส่วนเรื่องกรอบกระจกที่แล่นลงมาชนซุ้มนั้น พิมพ์แรกๆของหลวงวิจารก็ไม่ได้ชนซุ้ม เพราะฉะนั้นจะยึดเป็นข้อตายตัวสำหรับพิมพ์ ของหลวงวิจารไม่ได้ แต่ถ้าซื้อ-ขายก็ต้องยึดตามนั้นนะครับ อย่าไปแก้กฎกติกาของเขา ก็ลองสังเกตกันดูนะครับ ส่วนเรื่องตำหนิเล็กๆน้อยๆในองค์พระ รวมถึงขนาดต้องเป๊ะนั้น ผู้เขียนไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญ เพราะพระเนื้อผง ไม่ใช่เหรียญ ผสมผงแต่ละครั้งมวลสารที่ใส่มากน้อยต่างกัน การหดตัวก็ย่อมต่างกัน พระทำพร้อมกันครกเดียวกันเก็บต่างสถานที่ ต่างสภาพอากาศองค์พระก็จะต่างกัน ผู้เขียนจึงไม่ค่อยให้ความสำคัญในเรื่องนี้นัก |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น