วันเสาร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2561

พระกำแพงเม็ดขนุน เนื้อว่านหน้าทอง

พระกำแพงเม็ดขนุนหรือพระปางลีลาเม็ดขนุนองค์นี้เป็นพระเนื้อว่านหน้าทอง เมืองกำแพงเพชรในครั้งแรกของการจัดชุดเบญจภาคี พระเนื้อดินกำแพงเม็ดขนุนเป็น 1 ใน 5 ของชุดแต่ด้วยพระมีรูปทรงยาวแนวตั้ง เวลาเข้าชุดจึงดูไม่ลงตัว เลยมาเปลี่ยนเป็นพระซุ้มกอซึ่งเป็นพระกรุเดียวกัน คือกรุทุ่งเศรษฐี เมืองกำแพงเพชรปรากฏขึ้นในบริบททางประวัติศาสตร์ก่อน พ.ศ.1900 ภายหลังได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของกรุงศรีอยุธาในสมัยของพระบรมราชาธิราช (ขุนหลวงพระงั่ว) พระเครื่องเมืองกำแพงเพชร มีตำนานปรากฏชัดเจนเมื่อพบจารึกบนแผ่นลานเงินในกรุขณะรื้อพระเจดีย์องค์ใหญ่ของวัดพระบรมธาตุ เมืองนครชุม ขอคัดจารึกในแผ่นลานเงินมาให้อ่านบางส่วน "...ณ ตำบลเมืองพิษณุโลก เมืองกำแพงเพชร เมืองพิชัย เมืองพิจิตร เมืองสุพรรณ ว่ามีฤๅษี 11 ตน ฤๅษีเป็นใหญ่ 3 ตน ฤๅษีพิลาลัยตนหนึ่ง ฤๅษีตาไฟตนหนึ่ง ฤๅษีตาวัวตนหนึ่ง เป็นประธานแก่ฤๅษีทั้งหลาย จึงปรึกษากันว่า เราทั้งนี้จะเอาอันใดให้แก่พระศรีธรรมโศกราช ฤๅษีทั้ง 3 จึงปรึกษาแก่ฤๅษีทั้งปวงว่า เราจะทำด้วยฤทธิ์ ทำด้วยเครื่องประดิษฐานเงินทองไว้ฉะนี้ ฉลองพระองค์จึงทำเป็นเมฆพัตร อุทุมพร เป็นมฤตย์พิศม์ อายุวัฒนะ พระฤๅษีประดิษฐานไว้ในถ้ำเหวใหญ่น้อย เป็นอนุภาพแก่มนุษย์ทั้งหลาย สมณชีพราหมณาจารย์ไปถ้วน 5,000 พรรษา พระฤๅษีตนหนึ่งจึงว่าแก่ฤๅษีทั้งปวงว่า ท่านจงเอาว่านทั้งหลายอันมีฤทธิ์เอามาให้ได้ 1,000 เก็บเอาเกษรดอกไม้อันวิเศษที่มีกฤษณาเป็นอาทิให้ได้สัก 1,000 ครั้นเสร็จแล้วฤๅษีทั้งปวงจึงป่าวร้องเทวดาทั้งปวงให้มาช่วยบดยา ทำเป็นพระพิมพ์ไว้สถานหนึ่ง ทำเป็นเมฆพัตรสถานหนึ่ง ฤๅษีทั้ง 3 ตนนั้น จึงบังคับฤๅษีทั้งปวงให้เอาว่านทำเป็นผงปั้นเป็นก้อน ถ้าผู้ใดได้ถวายพระพรแล้ว จึงเอาไว้ใช้ตามอานุภาพเถิด ให้ระลึกถึงพระฤๅษีที่ทำไว้นั้นเถิด..." พระว่านหน้าทองหรือดุนทองที่พบจะมี 3 แบบคือทอง นาค และเงิน ที่พบโดยส่วนใหญ่จะบรรจุไว้ตามวัดหลวงเช่นกรุวัดบรมธาตุ และที่พบมากที่สุดคือกรุวัดพระแก้ว จังหวัดกำแพงเพชร ปัจจุบันจัดเป็นพระที่หาชมยาก



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น