วันเสาร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2561

พระร่วงหลังรางปืนกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (เชลียง)

พระร่วงหลังรางปืนกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (เชลียง) หนึ่งในชุด "เบญจภาคีพระยอดขุนพล" ได้รับการยกย่องให้เป็น "จักรพรรดิแห่งพระเนื้อชิน" เป็นศิลปเขมรยุคบายน คำว่า"พระร่วง" มาจากคนในสมัยสุโขทัยมักเรียกพระมหากษัตริย์ของสุโขทัยว่า"พระร่วง" ราชวงศ์พระร่วงได้สืบทอดกันมายาวนานจนตกมาอยู่ใต้การปกครองของอยุธยา เชื่อกันว่าบริเวณวัดพระศรีรัตนมหาธาตุนั้นขอมเคยปกครองมาก่อนตอนเรืองอำนาจและได้สร้างพระชุดนี้บรรจุไว้ พระร่วงหลังรางปืนแตกกรุเมื่อปีพ.ศ.2493 บริเวณหน้าพระปรางค์ใหญ่ พบพระครั้งนั้นประมาณ 200 องค์ พระร่วงหลังรางปืน พุทธลักษณะเป็นพระยืนปางประทานอภัย (บางท่านเรียกประทานพร) ประทับยืนในซุ้ม ยอดซุ้มมีลายแบบซุ้มเรือนแก้ว ส่วนด้านหลังมีร่องลึก (ร่องตื่นก็มีบ้าง) มีลายเซี่ยนเป็นเส้นคล้ายเอากาบหมากมากด คนรุ่นก่อนเลยเรียกพระชุดนี้ว่า 'พระร่วงหลังกาบหมาก" เมื่อมีผู้นำไปใช้บูชาเกิดการแคล้วคลาดภยันตรายในเรื่องปืน และด้านหลังองค์พระเป็นร่องคล้ายร่องปืนแก๊ปสมัยก่อน จึงเปลี่ยนชื่อมาเรียกเป็น "พระร่วงหลังรางปืน" จนถึงปัจจุบัน พระร่วงหลังรางปืนนั้นเป็นพระเนื้อชินตะกั่ว เนื้อบางองค์ที่มีส่วนผสมของเงินมากก็มีแต่ส่วนใหญ่จะแก่ตะกั่ว พระกรุนี้จะมีไขมากกว่ากรุอื่นๆ ในวงการพระแบ่งพระร่วงหลังรางปืนออกเป็น 5 พิมพ์คือ1,พิมพ์ใหญ่ฐานสูง 2,พิมพ์ใหญ่ฐานเตี้ย 3,พิมพ์แก้มปะ 4,พิมพ์หน้าหนุ่ม 5,พิมพ์เล็ก ผมได้คุยกับชาวบ้านสุโขทัยเรื่องพระร่วงหลังรางปืน ชาวบ้านละแวกนั้นเขาจะแบ่งพระร่วงหลังรางปืนออกเป็น 3 พิมพ์ตามฐานพระคือ ฐาน1ชั้น 2ชั้น และ3ชั้น นอกจากนี้เขายังเล่าว่าพระพวกนี้ชาวบ้านรุ่นปู่ รุ่นทวดละแวกวัดพระศรีรัตนมหาธาตุได้มาก่อนกรุแตกเสียอีก ที่กรุนั้นเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น ชาวบ้านที่มีอยู่ก็จะหวงแหนและไม่บอกให้ใครรู้ ฟังดูโดยส่วนตัวก็เชื่ออยู่ว่าเป็นไปได้ เพราะเมื่อพิจารณาจากองค์พระดูความเก่าและธรรมชาติของพระอย่างละเอียดแล้ว พระโรงงานไม่น่าจะทำได้ คงคล้ายเรื่องพระสมเด็จที่ว่าของจริงมีอยู่ไม่มาก ไม่เกินกี่ร้อยองค์ทำนองนั้น อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัว ส่วนใครจะคิดอย่างไรไม่ว่ากัน พระที่ลงให้ชมวันนี้เป็นพระพิมพ์ใหญ่ฐานสูง หรือที่ชาวบ้านเรียกพิมพ์ใหญ่ฐาน2ชั้น








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น