วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2563

พระสมเด็จพิมพ์พิเศษ"พิมพ์เบญจวัคคีย์"

พระที่ท่านสมเด็จโตสร้างไว้มีมากมาย แต่ถ้าจะแบ่งแยกตามความหมายเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นนั้น จะแบ่งออกได้ ๔ ประเภท คือ ๑. ประเภทล้อพิมพ์โบราณ หรือพระเก่าที่นิยมในยุคนั้น เช่น พระขุนแผน พระนางพญา พระลำพูน พระซุ้มกอ พระรอดเป็นต้น ๒. แบบพิมพ์ที่มีความหมายทาง พุทธประวัติ และเหตุการณ์ในยุคนั้น เช่นพิมพ์ปรกโพธฺ์ พิมพ์โมคคัลลาน์สารีบุตร เบญจวัคคีย์ พิมพ์พระประจำวัน พิมพ์แจวเรือ และพิมพ์ลากรถ (รถเจ็กโบราณ) เป็นต้น ๓. พิมพ์ที่ชาวบ้านแกะมาถวาย ซึ่งท่านก็รับไว้มากดพิมพ์ พระเหล่่านี้พิมพ์ไม่ค่อยสวยงาม แต่ดูมีเสน่ห์ในตัว ซึ่งเราจะเรียกพระพวกนี้ว่า "พระพิมพ์ชาวบ้าน" (ส่วนใหญ่จะเป็นพระยุคต้น) ๔. ประเภทประณีตศิลป์ พระพวกนี้จะเป็นงานช่างหลวง แกะพิมพ์วิจิตรงดงาม มีมากแบบตามจินตนาการของช่างที่จะจัดองค์ประกอบ (composition) และใส่ลวดลายประกอบลงไปในแบบพิมพ์ ช่างที่มีฝีมือเป็นเลิศในขณะนั้นคือ เจ้าฟ้าอิสราพงศ์ (ซึ่งเป็นเจ้าฟ้าองค์เดียวของวังหน้าโดยเป็นราชโอรสของสมเด็จพระปิ่นเกล้า) ท่านทรงดำรงตำแหน่งหัวหน้าช่างสิบหมู่ ท่านสิ้นพระชนม์ ในปี พ.ศ.๒๔๐๔ สิริพระชนมายุ ๔๐ พรรษา ต่อมาหลวงวิจิตรนฤมล (พึ่ง ปฏิมากร ต้นสกุลปฏิมากร) ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าช่างสิบหมู่ต่อจาก เจ้าฟ้าอิสราพงศ์ สำหรับพระที่ลงในวันนี้เป็น "พิมพ์เบญจวัคคีย์" ฝีมือช่างหลวง มีขนาดเขื่องกว่าพระสมเด็จทั่วไป ซึ่งอาจเป็นงานของเจ้าฟ้าอิสราพงศ์ ก็เป็นได้.




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น