วันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2565

ก่อนหมดปี ๒๕๖๕ ขอกล่าวถึงช่างสิบหมู่ที่ติดค้างไว้ ข้อมูลที่จะเขียนในวันนี้ได้มาจากหนังสือ "วังท่าพระ ศูนย์กลางของช่างสิปป์หมู่ ๒๐๐ ปี" จัดทำโดย ฝ่ายศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร "กรมช่างสิบหมู่" เป็นกรมที่สร้างสรรค์งานศิลปกรรมต่างๆ ตลอดจนอนุรักษ์สืบทอดอาทิ ประเภทวิจิตรศิลป มัณฑนศิลป และประณีตศิลป เป็นต้น เพื่อตอบสนองงานในราชการในส่วนพระองค์ ศิลปกรรมในฝีมือบรรดาช่างสิบหมู่จัดว่ามีความสำคัญ ดังมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาตินับแต่อดีตจนสู่ปัจจุบัน ความสามารถของช่างสามารถจำแนกหลักๆได้ ๒ ประเภท ได้แก่ ๑. ประเภทช่างทำของใช้ หรือเรียกทั่วไปว่า "ช่างฝีมือ" จะมีความรู้ความสามารถด้านออกแบบ ประดิษฐ์สร้างสรรค์ สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ สิ่งของเหล่านี้ยังจัดแบ่งประเภท ออกเป็น ๒ ประเภท กล่าวคือ ๑.๑ ช่างหัตกรรม สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อตอบสนองความจำเป็นในชีวิตประจำวัน อาทิช่างปั้นหม้อ ช่างสาน ช่างทอเสื่อ ช่างตีมีดและอื่นๆ ๑.๒ ช่างหัตถศิลป ผู้ใช้ฝีมือสร้างสรรค์เป็นรูปธรรม "ศิลปลักษณะ" ในแบบเครื่องอุปโภค อาทิ ช่างทอผ้า ช่างเครื่องเขิน ช่างแทงหยวกเป็นต้น ๒. ประเภทช่างทำของชม เป็นช่างที่สร้างสรรค์สิ่งสวยงามควรค่าแก่การชมมากกว่าการนำไปใช้ ช่างทำของชมจำแนกออกเป็น ๒ ประเภท กล่าวคือ ๒.๑ ช่างประณีตศิลป สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อเป็นเครื่องอุปโภคบ้าง หรือเครื่องบริโภคบ้าง อาทิช่างทำเครื่องสด ช่างทำดอกไม้ ช่างเย็บบายศรี ช่างปักสะดึง ช่างโลหะรูปพรรณเป็นต้น ๒.๒ ช่างวิจิตรศิลป สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อตอบสนองด้านจิตใจ ความรู้สึก อาทิ ช่างเขียนภาพจิตรกรรม ช่างปั้น ช่างแกะสลัก เป็นต้น คำว่า "ช่างหลวง" หมายถึงผู้ที่มีฝีมือมีความรู้ ความสามารถ เป็นผู้สร้างสรรค์ด้านศิลปกรรมสนองแก่ชาติบ้านเมือง ต่างมีหน้าที่รับใช้ในราชสำนักตามความสามารถของงานที่ตนถนัด ช่างเหล่านี้ยังประกอบไปด้วยกรมต่างๆ อีก กล่าวคือกรมช่างมหาดเล็ก กรมช่างทหารใน และกรมช่างสิบหมู่ คำว่า "สิปป" เป็นภาษาบบาลี มีความหมายเดียวกับคำว่า "ศิลปะ" ในภาษาสันสกฤต คือ ฝีมือทางช่าง แต่เดิมคำเต็มเขียนว่า สิปป ต่อมาตัดสั้นเข้า จากช่างสิปป มาเป็น ช่างสิป แต่ความหมายเหมือนกัน แปลว่า "สิบ" ถ้าเป็นจำนวนคือ ๑๐ ถ้าจะพูดคำว่า "ช่างสิบ" จะสื่อกันได้ไม่ชัดเจน ต่อมาจึงได้เติมคำว่า "หมู่" ต่อท้ายทำให้มีความเข้าใจสื่อได้ถูกต้องชัดเจนขึ้น งานช่างสิบหมู่ในกรมช่างสิบหมู่ประกอบด้วย ๑.ช่างเขียน ๒.ช่างปั้น ๓.ช่างแกะ ๔.ช่างสลัก ๕.ช่างหล่อ ๖.ช่างกลึง ๗.ช่างหุ่น ๘.ช่างรัก ๙.ช่างบุ ๑๐.ช่างปูน (ข้อความบางตอนได้ค้ดลอกมาจากบทความของ รองศาสตราจารย์โสภณ บัวชาติ ขอขอบพระคุณไว้ ณ ที่นี้)


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น